การกลับมาของอินซูลินแบบสูดพ่น

การกลับมาของอินซูลินแบบสูดพ่น

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องมือที่ใช้ในการสูดพ่นอินซูลินทางปากสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ได้ภายหลังจากการทดสอบทางคลินิกเป็นระยะเวลานาน โดยอินซูลินนั้นจะถูกผลิตโดยเทคนิครีคอมบิแนนต์ให้อยู่ในรูปแบบของผงแห้งที่สามารถบรรจุเข้าไปในเครื่องมือและจะถูกพ่นเข้าทางปากของผู้ป่วยเมื่อใช้งาน อินซูลินชนิดสูดพ่นนี้ถูกออกแบบให้ใช้งานเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร โดยระยะเวลาในการแสดงระดับปริมาณสูงสุดของอินซูลินชนิดสูดพ่นนี้จะเร็วมาก คือประมาณ 12-15 นาที ในขณะที่อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 50 นาที และประมาณ 100 นาทีสำหรับการฉีดอินซูลินชนิดปกติ อินซูลินชนิดสูดพ่นนี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่อินซูลินแบบสูดพ่นนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเด็ก และไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปอด นอกจากนี้การใช้อินซูลินแบบสูดพ่นนี้ยังคงไม่สามารถใช้งานเดี่ยว ๆ ได้และยังคงต้องใช้งานร่วมกับการให้อินซูลินตามปกติอยู่ แต่ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้มากขึ้น และอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการให้อินซูลินสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่กลัวเข็มฉีดยา

วิธีการให้อินซูลินทั่วไปคือ ผ่านทางการฉีดด้วยเข็มฉีดยา[3]

แนวความคิดของเครื่องมือนำส่งอินซูลินแบบสูดพ่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และได้รับความสนใจในการพัฒนาจากหลายบริษัทมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2548 ก็มีการวางจำหน่ายอุปกรณ์ลักษณะเดียวกันนี้ออกมาแล้ว แต่เครื่องมือดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จหรือได้รับความนิยมจากผู้ป่วย และถูกยกเลิกการจำหน่ายภายหลังจากการวางตลาดได้เพียงปีเดียว โดยการยกเลิกการจำหน่ายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาความปลอดภัยในการใช้งาน แต่เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวในอดีตมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เทอะทะ ทำให้การพกพาและใช้งานไม่สะดวก และมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอินซูลินแบบฉีด ทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันจากอีกหลายบริษัทที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบถูกยกเลิกไปจำนวนมาก อีกทั้งเทคโนโลยีในการฉีดอินซูลินก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การฉีดอินซูลินมีความสะดวกมากขึ้นและความเจ็บปวดในการฉีดลดลง

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือสูดพ่นอินซูลินรุ่นใหม่นี้ที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้จำหน่ายมีความแตกต่างจากเครื่องมือก่อนหน้าที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ประการแรก ผงแห้งของอินซูลินนี้ผลิตขึ้นจากอนุภาคของฟูมาริล ไดคีโตไพเพอราซีน (fumaryl diketopiperazine) ซึ่งมีความเฉื่อยและสามารถควบคุมการผลิตให้มีขนาดอนุภาคที่เล็กประมาณ 2 ไมครอน อีกทั้งยังให้การกระจายตัวของขนาดอนุภาคที่แคบ ทำให้อนุภาคดังกล่าวสามารถที่จะละลายได้อย่างรวดเร็วภายหลังการสูดพ่นเข้าไปในปอดและปล่อยอินซูลินออกมาสู่กระแสโลหิต นอกจากนั้นรูปแบบของอินซูลินที่ยึดเกาะเข้ากับอนุภาคดังกล่าวนี้อยู่ในรูปของมอนอเมอร์ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการแพร่เข้ากระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว แทนที่จะอยู่ในรูปของเฮกซาเมอร์ที่ปกติใช้งานในการฉีดอินซูลินซึ่งไม่ได้ฉีดเข้ากระแสเลือดโดยตรง จึงต้องใช้ระยะเวลานานในการสลายโมเลกุล ทำให้อนุภาคอินซูลินแบบสูดพ่นนี้ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วกว่า

ภาพแสดงลักษณะอนุภาคของฟูมาริล ไดคีโตไพเพอราซีน ที่ใช้ในการนำส่งอินซูลินชนิดสูดพ่น [5]

ผลกระทบของอินซูลินรูปแบบต่าง ๆ ต่อการแพร่ผ่านชั้นหลอดเลือด[6]

ประการที่สอง เครื่องมือที่ใช้ในการสูดพ่นนั้นถูกออกแบบให้มีขนาดที่เล็กมาก มีลักษณะคล้ายคลึงกับนกหวีดและออกแบบให้สูดเข้าได้ง่ายเพียงครั้งเดียว ซึ่งต่างจากเครื่องมือในอดีตที่ต้องมีเทคนิคในการสูดพ่นอุปกรณ์เช่นเดียวกับเครื่องมือสูดพ่นยาของผู้ป่วยโรคหอบหืด ทำให้เครื่องมือรุ่นใหม่นี้ง่ายต่อการใช้งาน เหมาะและสะดวกต่อการพกพาไปนอกสถานที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีราคาถูกและออกแบบให้ใช้งานแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการใช้งาน และยังสามารถปรับปริมาณของอินซูลินที่ต้องการได้ง่ายเช่นเดียวกับการฉีดอีกด้วย ประการที่สาม อินซูลินชนิดสูดพ่นนี้มีความเสถียรและสามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งต่างจากอินซูลินแบบฉีดที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำหากต้องการเก็บไว้เป็นเวลานาน ไม่เช่นนั้นจะสามารถเก็บรักษาได้เพียงประมาณ 30 วันก่อนที่จะเสื่อมคุณภาพ

ภาพแสดงเครื่องในการนำส่งอินซูลินชนิดสูดพ่นในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขนาดที่ใหญ่และเทอะทะ ทำให้ไม่สะดวกต่อการพกพาและใช้งาน[7]

ภาพแสดงเครื่องมือในการนำส่งอินซูลินชนิดสูดพ่นรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด สะดวกต่อการพกพาและใช้งานง่าย[8-9]

ถึงแม้จะได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาให้จำหน่ายได้ในท้องตลาด แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีการวางจำหน่ายเครื่องมือดังกล่าว บริษัทผู้พัฒนาเครื่องมือดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสรรหาผู้ผลิตและจัดจำหน่าย รวมทั้งยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องราคา แต่คาดว่าไม่น่าจะแตกต่างจากราคาของอินซูลินแบบฉีดเท่าใดนัก คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าการกลับมาของเครื่องมือนำส่งอินซูลินแบบสูดพ่นในรูปแบบใหม่ภายหลังจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงข้อด้อยในอดีต ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังหรือจะซ้ำรอยความล้มเหลวดังเช่นที่ผ่านมา

เอกสารอ้างอิง

1. http://www.diabetesmine.com/2014/04/holding-our-breath-for-inhaled-insulin-afrezza.html

2. http://www.forbes.com/sites/johnlamattina/2013/08/22/challenges-in-commercializing-inhaled-insulin/

3. http://www.genengnews.com/insight-and-intelligenceand153/noninjectable-insulin-developers-make-progress/77899931/

4. http://insulinnation.com/treatment2/inhalable-insulin-a-breathtaking-development/

5. http://www.mannkindcorp.com/our-technology-dry-powder-delivery-platform.htm

6. http://www.diapedia.org/management/short-acting-insulin-analogues

7. http://seekingalpha.com/article/206605-a-giant-leap-for-mannkind

8. http://www.medicaldaily.com/afrezza-new-inhaled-insulin-product-breezes-through-phase-iii-trials-will-diabetics-soon-be-free

9. http://www.diabetesmine.com/2014/04/holding-our-breath-for-inhaled-insulin-afrezza.html