13 อาจารย์ นักวิชาการผู้ทำคุณประโยชน์ ผู้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2556

13 อาจารย์ นักวิชาการผู้ทำคุณประโยชน์  ผู้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2556

เป็นประจำทุกปีที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะคัดเลือกผลงานของอาจารย์ นักวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและประชาชน ให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา โดยรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลนี้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพจนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่าง ๆ ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนอกจากจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว จะได้รับเงินสดรางวัลละ 200,000 บาท สำหรับปีการศึกษา 2556 นี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดจำนวน 13 ท่าน ประเภทดีเด่นเฉพาะทางทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ สาขาความเป็นครู สาขาการวิจัย สาขาการประดิษฐ์ สาขาการแต่งตำรา และสาขาการบริการ ดังนี้

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู

.ดร.ทรงศักดิ์ เพ็ชรมิตร เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการจัดตั้งภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาให้ทันสมัย โดยเพิ่มเติมผลงานวิจัยใหม่ ๆ ด้านชีวโมเลกุลโรคเขตร้อนในหัวข้อที่ทำการสอน และให้มีการแสดงความคิดเห็นในการตั้งโจทย์วิจัย รวมทั้งแนวคิดนำผลงานไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยโรคเขตร้อน นอกจากนี้ได้พัฒนางานวิจัยทางด้านค้นหาการแสดงออกของยีนชนิดใหม่ที่ใช้เป็นสารชีวโมเลกุลสำหรับบ่งชี้ความรุนแรงของมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งเต้านมในคนไข้ชาวไทย โดยใช้เทคนิคโอลิโกนิวคลีโอไทด์ ไมโครอะเรย์ และเรียลไทม์ อาร์ที พีซีอาร์

รศ.ดร.ภญ.กนกวรรณ ติลกสกุลชัย ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับรางวัลอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จาก “ทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี” เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาการสอนปฏิบัติการสรีรวิทยาโดยใช้เครื่องบันทึกสัญญาณที่แสดงผลบนคอมพิวเตอร์ และจัดอบรมการใช้เครื่องมือแก่บุคลากรในคณะและนอกมหาวิทยาลัย เป็นผู้แต่งหนังสือด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในตำราสรีรวิทยา ได้รับการอ้างอิงอย่างแพร่หลาย เน้นการสอนที่กระตุ้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมด้วยวิทยาการทันสมัย เน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม

ผศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เมธีวิจัย สกว. จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งเน้นให้นักศึกษาเห็นความสำคัญและคุณค่าของการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ และสามารถดำรงตนเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพและคุณธรรมสูงต่อไปในอนาคต โดยส่งเสริมให้นักศึกษาตั้งปัญหาและวางแผนการวิจัยด้วยตนเอง สร้างบรรยากาศและจัดประสบการณ์ทางวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนด้านวิชาการและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย

.พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการวิจัย เรื่อง “อนุภาคโปรตอน พลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 : การปลดปล่อยและขนส่งตามทั้งสองทางของวงสนามแม่เหล็กปิดระหว่างดาวเคราะห์” เป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลอนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและสังคมโลก เนื่องจากพายุสุริยะเคยทำให้ไฟฟ้าดับในประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลก และอนุภาคพลังงานสูงนั้นมีบทบาทโดยตรงในการทำให้ดาวเทียมขัดข้อง สร้างอันตรายสำหรับนักบินอวกาศและผู้โดยสารเครื่องบินที่ผ่านใกล้ขั้วโลกในขณะที่เกิดพายุสุริยะ

.นพ.สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในเด็ก” นอกจากได้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในเด็กโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพี่น้องในการรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ แล้ว ยังได้ทำการรักษาในโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคธาลัสซีเมีย จากความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสามารถสรุปได้ว่า ผู้ป่วยธาลัสซีเมียทุกคนสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยสามารถปลูกถ่ายได้เกือบทุกอายุ จนถึงอายุ 20-30 ปี ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตพร้อมกับการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคคนเดียวกัน สามารถทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการบริจาคไตหยุดยากดภูมิคุ้มกันได้

.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวัคซีนอัลแวคและเอดส์แวกซ์เพื่อป้องกันเชื้อเอดส์ในประเทศไทย” พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันทั้งในเลือดและในเซลล์ในระดับที่ยอมรับได้ และนำไปศึกษาระยะที่ 3 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยการแพทย์ทหารบกไทย-สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2546 พบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ 31.2% เป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนเอดส์มีประสิทธิผลในการป้องกัน

รศ.ดร...เสาวรส สวัสดิวัฒน์ ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มการแสดงออกของฮีโมโกลบินในหนูเบต้าธาลัสซีเมีย IVS2-654 ด้วยการซ่อมแซมอาร์เอ็นเอ” งานวิจัยนี้ใช้ antisense oligonucleotide (ASO) เพื่อไปแก้ไขกระบวนการตัดต่ออาร์เอ็นเอที่ผิดปกติ โดยใช้หนูธาลัสซีเมียเป็นต้นแบบ พบว่าเมื่อใช้ ASO กับหนูธาลัสซีเมียทำให้เกิดการตัดต่ออาร์เอ็นเอปกติ สามารถแปลรหัสเป็นฮีโมโกลบินได้ และหนูธาลัสซีเมียมีค่าโลหิตวิทยาที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้ ASO ในการแก้ไขการตัดต่ออาร์เอ็นเอที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมียได้ในอนาคต

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์

ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการประดิษฐ์ “ระบบการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ : วีลแชร์ควบคุมด้วยคลื่นสมอง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการขั้นรุนแรง และอุปกรณ์ป้องกันการหลับใน” เป็นระบบการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ คือการบูรณาการซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ด้านการประมวลสัญญาณสมองเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในมุมมองหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ 1. การป้องกันอุบัติเหตุ 2. การวินิจฉัยและรักษาโรค และ 3. การฟื้นฟู โดยทางผู้วิจัยสามารถนำระบบที่พัฒนาขึ้นมาต่อยอดพัฒนาเป็นชิ้นงานเชิงวิศวกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริง

ผศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการประดิษฐ์ “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” ได้พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ 3 ตัวด้วยกันคือ หุ่นยนต์ช่างทำ หุ่นยนต์ช่างพูด และหุ่นยนต์ช่างคุย โดยหุ่นยนต์ช่างทำถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นทักษะด้านการเลียนแบบ อันเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนหุ่นยนต์ช่างพูดและหุ่นยนต์ช่างคุยถูกพัฒนาสำหรับการฝึกพูดซึ่งจำเป็นต่อการสื่อสารทางสังคม พบว่าหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กมีความสนใจ จดจ่อต่อกิจกรรมบำบัดมากขึ้น

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา

รศ.นพ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการแต่งตำราเรื่อง “โรคลมชักในเด็ก” ประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องโรคลมชักในเด็ก ซึ่งในปัจจุบันหน่วยประสาทวิทยาได้ใช้เป็นตำราประกอบการสอนและการอ้างอิงเรื่องโรคลมชักในเด็กสำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารเวชศาสตร์ และอายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยาที่ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก ตำรานี้เผยแพร่ทั่วไปและเป็นหนังสืออ้างอิงอยู่ในห้องสมุดในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์หลายสถาบัน

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ

.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อายุรแพทย์ดีเด่น สาขาบริการชุมชน จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนางานเกี่ยวกับสมองเสื่อมแบบครบวงจร ด้วยตระหนักว่าจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลมีปัญหาอย่างมาก เพราะสังคมยังไม่รู้จักและเข้าใจปัญหาสมองเสื่อมอย่างจริงจัง ถ้าหากสามารถพัฒนาเรื่องการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอย่างเหมาะสมจะสามารถเอารูปแบบในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ไปปรับเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างครอบคลุม จึงได้ดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอย่างครบวงจร

นางสาวเสาวนีย์ เนาวพาณิช งานการพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการพยาบาล อาทิ งานวิจัยเรื่องผลของความเย็นต่อการเกิดรอยจ้ำเลือดหรือก้อนเลือด และความเจ็บป่วยในผู้ป่วยที่ฉีด heparin ใต้ผิวหนัง ทำให้ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยา เช่น ก้อนเลือดใต้ผิวหนัง ความเจ็บปวด ความพึงพอใจของผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนี้เป็นผู้ร่วมนำการเปลี่ยนแปลงพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยสร้างเป็น Web-base และยังได้พัฒนาแนวปฏิบัติพยาบาลให้เป็นมาตรฐาน สนับสนุนและผลักดันบุคลากรให้นำปัญหาจากการปฏิบัติงานมาพัฒนาเป็นงานวิจัยโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

 

 

นายคำรณ โชธนะโชติ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (ชำนาญการพิเศษ) และรักษาการหัวหน้างานบริหารและธุรการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นบุคลากรสายสนับสนุนคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี เป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการสายสนับสนุนที่สามารถทำงานวิจัย R2R และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลของ สกอ. จำนวน 5 เรื่อง ได้รับรางวัลเข็มทองคำ ปขมท. (ประธานที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) ด้านบริหารดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2555 เป็นวิทยากรที่สร้างแรงกระตุ้นให้บุคลากรสายสนับสนุนตามคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล และในสถาบันอุดมศึกษาทำงานวิจัยในลักษณะ R2R และยังช่วยเป็นวิทยากรในการอบรมสายสนับสนุนจากทั่วประเทศ