Ascites

Ascites

Ascites หรือน้ำในช่องท้องเป็นทั้งอาการ (คือสิ่งที่ผู้ป่วยบอกแพทย์) และอาการแสดง (คือสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ) ที่พบบ่อยมาก ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าท้องตนเองโตขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะต้องนึกถึงสาเหตุต่าง ๆ เช่น เป็นโรคอ้วน มีลมมากในช่องท้อง มีน้ำ ตั้งครรภ์ (ผมเคยตรวจเด็กนักเรียนที่มาหาผมที่จุฬาฯ ด้วยอาการท้องโตขึ้น และตรวจพบเป็นการตั้งครรภ์) หรือมีก้อนเนื้อ ฯลฯ แต่เมื่อตรวจพบว่าท้องที่โตนั้นเป็นน้ำจะต้องนึกถึงสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคตับ (เป็นสาเหตุประมาณ 84% ของน้ำในช่องท้องทั้งหมด) โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในช่องท้องหรือกระจายมาจากที่อื่น (ประมาณ 10-15%) จากวัณโรค หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ในช่องท้องจากโรคไต จากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือจากต่อมไทรอยด์ทำงานไม่เต็มที่ (hypothyroid)

การแยกแยะโรคต่าง ๆ นี้ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น จากประวัติอาจทราบว่าผู้ป่วยเคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือซี หรือมีประวัติที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ 2 ตัวนี้คือ พ่อแม่มีเชื้อมาก่อนหรือเคยเป็นโรคตับ ดื่มแอลกอฮอล์มากมานาน หรืออ้วนมากมานาน (อ้วนมากทำให้เป็นโรคตับแข็งได้) มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือมีการใช้ยาเสพติดโดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การตรวจร่างกายสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นโรคตับ คือมีอาการแสดงของโรคตับ หรือตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจ เพราะมีอาการแสดงของโรคหัวใจ เช่น ความดันของหลอดเลือดที่คอสูงกว่าปกติ (raised jugular venous pressure) หัวใจโต หัวใจเต้นเร็ว มีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ฯลฯ การตรวจหน้าท้องอาจพบก้อนมะเร็ง อาการและอาการแสดงร่วมอื่น ๆ เช่น อาจพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีต่อมน้ำเหลืองโต หรือตับโต (มะเร็งลามไป) ฯลฯ ถ้าเป็นการติดเชื้อในช่องท้องผู้ป่วยอาจมีไข้

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องแล็บ แล้วแต่ว่าสงสัยโรคอะไร แต่ผู้ป่วยที่มีน้ำในช่องท้อง แพทย์จะต้องเจาะท้องเอาน้ำไปตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค เช่น มาจากการติดเชื้อ จากมะเร็ง จากโรคตับแข็งธรรมดา ฯลฯ แพทย์จะดูสีน้ำที่เจาะได้ว่าขุ่น แดงหรือไม่ และจะเอาน้ำไปตรวจหาเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เซลล์มะเร็ง โปรตีน น้ำตาล ฯลฯ

ส่วนการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเป็นโรคอะไร ถ้าเป็นวัณโรคก็ให้ยารักษา ถ้าเป็นโรคตับแข็งโดยไม่มีการติดเชื้อแทรกก็เป็นการรักษาน้ำในช่องท้องเฉย ๆ ถ้าน้ำในช่องท้องมีการติดเชื้อก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อโรคให้หมดสิ้นไป

สำหรับการรักษาน้ำในช่องท้องที่เกิดจากโรคตับแข็งที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หลักการใหญ่ ๆ คือ การรับประทานเค็มให้น้อยลง ให้เหลือ 2 กรัมต่อวัน โดยสรุปก็คือ อย่าใช้น้ำปลา ซีอี๊ว เกลือ ฯลฯ บนโต๊ะอาหาร และเวลาปรุงอาหารอย่าใส่ให้เค็มมาก ควรได้รับการแนะนำวิธีปรุงหรือทำอาหารจากนักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋อง หรืออาหารที่มีรสเค็มจัด ถ้าการลดความเค็มแล้วยังไม่ได้ผลจะต้องใช้ยาขับปัสสาวะ (diuretic) ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้มักใช้ยา 2 ตัวร่วมกัน แต่ถึงใช้ยาขับปัสสาวะก็ยังต้องควบคุมการรับประทานเค็ม

ถ้าคุมความเค็ม ให้ยาขับปัสสาวะแล้วยังไม่ดีขึ้น (คือผู้ป่วยมีน้ำหนักลดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์) อาจจะต้องพิจารณาเจาะท้องเอาน้ำออก ถ้าเอาออกไม่เกิน 5 ลิตรต่อครั้งมักไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอาน้ำออกระหว่าง 6-8 ลิตรต่อครั้ง จะต้องให้โปรตีน albumin 6-8 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตรที่เอาออก