มูลนิธิชิน โสภณพนิช มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) แก่ สพฉ. ปลุกกระแสตื่นตัวรับมือผู้ประสบเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

มูลนิธิชิน โสภณพนิช มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) แก่ สพฉปลุกกระแสตื่นตัวรับมือผู้ประสบเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก่อนนำส่งโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งจากข้อเท็จจริงทางการแพทย์พบว่า ประชากรที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นหากได้รับการช่วยชีวิตอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ถูกวิธีตามหลักขั้นตอน Chain of survival (ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต) ร่วมกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ การเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งในต่างประเทศจะมีการติดตั้งใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ไว้ในที่สาธารณะและในสถานที่ที่มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน สถานที่ตามภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ที่ติดตั้งในที่สาธารณะยังมีจำนวนน้อย ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เครื่อง

ดังนั้น ในโอกาสนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนองค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตามหลักกระบวนการ Chain of survival (ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต) เข้าร่วมในการส่งมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้แก่ทาง สพฉ. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ภายในกระทรวงสาธารณสุข ทางมูลนิธิชิน โสภณพนิช, นายเสนอ แสงสุวรรณ และบริษัท เซนต์เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด ได้มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตามหลัก “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” เพื่อให้ทาง สพฉ. ได้นำไปใช้ประโยชน์มอบให้แก่องค์กรอื่น ๆ อีกต่อไป โดยในงานดังกล่าว นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การรับมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติว่า จากหลายภาคส่วนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีความห่วงใยต่อชีวิตของประชาชน และได้มอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้แก่ สพฉ. เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำไปมอบให้แก่สังคมนั้น ในโอกาสนี้ สพฉ. ขอส่งต่อความห่วงใยนี้ด้วยการมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) แก่หน่วยจักรยานกู้ชีพจำนวน 1 เครื่อง และชุมชนจักรยาน “กลุ่มรวมมิตร” จำนวน 1 เครื่อง

“อยากกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ว่ามีความเหมาะสมและถึงเวลาแล้วที่สถานที่สาธารณะต่าง ๆ ในประเทศไทยควรจะมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ติดตั้งไว้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นที่เห็นความสำคัญและมีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ไว้ตามสถานที่สาธารณะ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเรียน บริษัทต่าง ๆ อาคารขนาดใหญ่ สนามกีฬา เป็นต้น เพื่อที่เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินในกลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมไทยในปัจจุบันที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอายุที่สูงขึ้น โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากการที่มีคอเลสเตอรอลสูงหรือความดันโลหิตสูงก็พบมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดกรณีฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งจำเป็น” นพ.อนุชา กล่าว

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในการปลุกกระแสให้สังคมเห็นความสำคัญของเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) นั่นคือ แต่เดิมเครื่อง AED จะอยู่ในมือแพทย์ แต่งานวิจัยทั้งของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นพยายามจะสื่อให้สังคมรับรู้ว่าเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) นี้เป็น Public Access AED หมายความว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นของสาธารณชน เพราะปัจจุบันเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ถูกออกแบบมาให้เป็นภาษาไทย สามารถใช้งานได้ง่าย เป็นการสร้างการรับรู้ใหม่ให้แก่สังคมว่า เครื่อง AED ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่เป็นเครื่องมือที่สาธารณชนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้เครื่อง AED ในการฟื้นคืนคลื่นหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติแล้ว แต่นั่นยังไม่จบขั้นตอนของห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต ยังต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องต่อไป โดยบุคคลหรือหน่วยงานที่รับมอบเครื่อง AED จะต้องผ่านการฝึกอบรมการใช้งานตามห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต ดังนี้ 1. โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 2. กดหน้าอกกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) 3. ใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) อย่างทันท่วงทีเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่า การรักษาด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ที่ช้าลงจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียอัตราการรอดชีวิตไป 10% ทุก ๆ 1 นาทีที่ผ่านไป 4. ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างรวดเร็วโดยบุคลากรทางการแพทย์ก่อนจะนำส่งต่อไปโรงพยาบาล และ 5. รักษาต่อเนื่องและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

“ต้องขอขอบคุณ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช, นายเสนอ แสงสุวรรณ และบริษัท เซนต์เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด ที่ได้บริจาคเครื่อง AED โดยทาง สพฉ. พร้อมจะเป็นสื่อกลางในการนำไปมอบให้แก่สังคมต่อไป และคาดหวังว่าในอนาคตจะมีการกระจายเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศไทย พร้อมกันนี้ สพฉ. จะมีการจัดมหกรรมรณรงค์ติดตั้งเครื่อง AED พร้อมฝึกความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อปลุกกระแสตื่นตัวรับมือกับผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันต่อไป” นพ.อนุชา กล่าว

ด้าน คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการผู้อำนวยการ มูลนิธิชิน โสภณพนิช กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการบริจาคเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติจำนวน 10 เครื่องแก่ สพฉ. ว่า มูลนิธิชิน โสภณพนิช มีเป้าหมายหลักคือ ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา โดยได้มอบทุนการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันมีผู้รับทุนไปแล้วกว่า 10,000 ทุน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างบุคลากรอันทรงคุณค่าให้แก่สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องมาถึง 36 ปี พร้อมทั้งยังได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย ด้วยความหวังว่าจะลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดลงได้ เพราะเมื่อนักศึกษาแพทย์และพยาบาลเหล่านี้จบการศึกษาจะได้เลือกทำงานในภูมิลำเนาของตนเอง โดยเป็นทุนการศึกษาประเภทต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2559

นอกเหนือจากการสนับสนุนการศึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์แล้วมูลนิธิชิน โสภณพนิช ยังเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) โดยเสนอว่าควรจะมีการส่งเสริมและเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงกระบวนการตามหลักขั้นตอน “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” เพราะในปัจจุบันในสังคมโดยส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นน้อยมาก และนอกจากนี้ต้องสร้างความรับผิดชอบต่อสาธารณชน โดยคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ ผลักดันให้ทุกหน่วยงาน ทุกอาคาร ตระหนักว่าเป็นหน้าที่ เป็นนโยบายที่จะต้องมีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ไว้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถกู้ชีพได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ก่อนส่งต่อไปดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลต่อไป

“ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) จะมีใครกล้าใช้หรือไม่ และถ้าใช้จะใช้อย่างไร แต่จากที่ได้ชมการสาธิตวิธีการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ร่วมด้วยแล้ว ต้องบอกว่าเครื่องนี้ฉลาดมาก เพราะจะบอกกระบวนการทำงานเป็นภาษาไทย ในแต่ละขั้นตอนของการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตผู้ป่วย เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถทำได้ตามขั้นตอนที่เครื่อง AED บอก และสบายใจได้ว่ามีเครื่อง AED ติดตั้งไว้แล้วจะปลอดภัย

แต่ทั้งนี้ผู้ที่ดูแลและรับผิดชอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ควรจะต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อให้สามารถใช้เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตหวังว่าเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) จะมีแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งต้องขอชื่นชมทาง สพฉ. ที่พยายามกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ” คุณหญิงชดช้อย กล่าว

นายวิโรจน์ วสุสุทธิกุลกานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนต์เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และมองเห็นประโยชน์ของการมีเครื่องมือที่มีศักยภาพที่สามารถจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งมีตัวอย่างของความสำเร็จในการช่วยชีวิตด้วยเครื่อง AED ให้เห็นแล้วในต่างประเทศ จึงอยากจะสร้างการรับรู้ในเรื่องของการช่วยชีวิตด้วยเครื่อง AED ในประเทศไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาบริษัทได้มอบเครื่อง AED จำนวน 10 เครื่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ สพฉ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความตระหนักในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตามหลักห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำไปมอบต่อแก่หน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเหมาะสม และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการช่วยชีวิตต่อไป

ทั้งนี้ ในโอกาสที่ทางมูลนิธิชิน โสภณพนิช โดยคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ได้เห็นถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยมองถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และได้บริจาคเครื่อง AED จำนวน 10 เครื่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ สพฉ. ซึ่งจะเป็นการปลุกกระแสให้สังคมตื่นตัวรับมือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้น บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณชนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานหรือองค์กร รวมถึงตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เกิดความตระหนักว่าเป็นหน้าที่และเห็นถึงความเหมาะสมในการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีก่อนนำตัวผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันส่งโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนสำคัญให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นเห็นความสำคัญของเครื่อง AED และมีการติดตั้งเครื่อง AED ไว้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายกิตติพงษ์ กองแก้ว อาสาสมัครหน่วยจักรยานกู้ชีพ

“เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนฟื้นคืนชีวิตได้เลย เพราะเมื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน การปั๊มหัวใจอาจจะไม่เพียงพอ โดยเครื่อง AED ที่ได้รับมอบนี้จะนำไปติดตั้งไว้ที่บ้าน และจะทำป้ายติดหน้าบ้านไว้เลยว่าบ้านนี้มีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือได้โดยตรง หรือติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 พร้อมทั้งจะนำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ติดตัวไปขณะออกปฏิบัติงาน เมื่อพบเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันที หรือถ้ามีผู้พบเห็นเหตุฉุกเฉินก็สามารถติดต่อได้โดยตรงและเราจะรีบไปทันที โดยจักรยานสามารถทำรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร ภายใน 5 นาที เพราะฉะนั้นช่วงเวลา 6.00-8.00 น. และ 15.00-18.00 น. ซึ่งรถติดมาก จักรยานจะคล่องตัวกว่ารถมอเตอร์ไซค์ เพราะสามารถยกขึ้นลงฟุตบาท เข้าตรอกซอยเล็ก ๆ ยกขึ้นสะพาน หรือเกาะรถสาธารณะไปได้”

 

นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ชุมชนจักรยาน “กลุ่มรวมมิตร”

“ชุมชนจักรยานกลุ่มรวมมิตร มีสมาชิกนักปั่นประมาณ 60 คน ร่วมออกทริปปั่นจักรยานทางไกล ซึ่งระหว่างการออกทริป นอกจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว บางครั้งก็มีเหตุฉุกเฉิน หน้ามืด เป็นลม หมดสติได้ เพราะนักปั่นแต่ละท่านอายุร่วม 60 ปี และบางท่านก็มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ แต่เนื่องจากการออกทริปของกลุ่มของเราจะเป็นในลักษณะของการพักผ่อน ไม่ได้เร่งรีบ แต่ถ้าในกรณีที่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เร่งรีบ มีการแข่งขัน ก็ต้องเตรียมรับเหตุที่คาดไม่ถึงไว้ด้วย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การจัดการแข่งขันหรือจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจะต้องมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ติดตั้งไปด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และในอนาคตเชื่อว่าเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะด้วยวิถีการดำเนินชีวิตและอาหารการกิน ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้น”