คดี

คดี 
ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง  
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

            สมัยเมื่อฉันไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ฉันมักต้องอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉินบ่อย ๆ ทั้งนี้เพราะพี่ ๆ มักฝากเวรห้องฉุกเฉินให้แพทย์ใช้ทุนอยู่เสมอ อาจเพราะเห็นว่าแพทย์ใช้ทุนอย่างฉันยังอายุน้อยจึงน่าจะอยู่เวรได้ดี

มีอยู่คืนหนึ่งฉันถูกตามให้ไปชันสูตรพลิกศพ เหตุเกิดว่ามีการยิงกันที่ตลาดจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้นำศพใส่รถกระบะมาส่งที่หน้าห้องฉุกเฉิน

เนื่องจากโดยทั่วไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดมักไม่มีแผนกนิติเวช ดังนั้น แพทย์เวรประจำห้องฉุกเฉินก็จำต้องชันสูตรพลิกศพเอง

เนื่องจากชั่วโมงนิติเวชศาสตร์เป็นอะไรที่ฉันเรียนไม่ค่อยเข้าใจเป็นอย่างมาก ทำให้ฉันรู้สึกกลัวที่จะต้องลงมือชันสูตรพลิกศพเอง แม้ว่าจะไม่ต้องไปชันสูตรที่จุดเกิดเหตุแล้วก็ตาม

เมื่อทีมของฉันอันประกอบด้วยแพทย์และพยาบาลอายุน้อย 2 คนไปยังรถกระบะที่บรรทุกศพมาจอดอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน

ฉันจึงเริ่มพูดคุยปรึกษากับพยาบาลผู้ร่วมทีมที่หน้าห้องฉุกเฉินนั้น

“เอ้อ... หมอไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างน่ะค่ะ”

“อ๋อ หมอก็ปีนขึ้นรถกระบะไปพลิกศพตรวจบาดแผลสิคะ”

ฉันเริ่มพูดจาอึก ๆ อัก ๆ “เอ... ในรถกระบะมันมืดนะคะ”

“อ๋อ หนูเตรียมไฟฉายมาให้แล้วค่ะ เดี๋ยวหมอบอกให้ส่องที่ไหน หนูจะรีบส่องทันทีเลย” พยาบาลเสนอให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“เอ... หมอต้องสวมเสื้อคลุมกันเปื้อนและหน้ากากและ….” ฉันพูดยังไม่ทันจบ พยาบาลก็รีบยื่นอุปกรณ์ป้องกันทั้งหมดให้ในทันที พร้อมกับเสนอตัวให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกว่า “เดี๋ยวหนูจะช่วยถือเวชระเบียนของผู้ป่วยให้นะคะเพราะหนูเตรียมทำเวชระเบียนมาเพื่อจดบันทึกเรียบร้อยแล้ว”

“เอ... มันลำบากนะ” ฉันยิ้มแหย ๆ พร้อมกับพยายามเจรจาต่อรองต่อไป

“โดยทั่วไปหมอต้องไปตรวจชันสูตรพลิกศพที่จุดเกิดเหตุนะคะ เนี่ยเขาอำนวยความสะดวกให้โดยการเอารถกระบะมาส่งให้ถึงที่”

“เอ้อ...เอ้อ” ฉันเริ่มอ้ำอึ้ง

พยาบาลเริ่มยิ้มพร้อมกับพูดว่า “หนูเข้าใจค่ะ แต่จะให้หนูปีนขึ้นไปนั้นหนูเองก็คงทำใจได้ยาก เดี๋ยวเราตามยามมาช่วยดีไหมคะ เผื่อเขาจะเมตตาช่วยผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเราสองคน”

“ดี…ดีมากเลยค่ะ” ฉันละล่ำละลักตอบกลับด้วยความดีใจ

หลังจากนั้นไม่นาน ยามรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลก็ปีนขึ้นท้ายรถกระบะขึ้นไปเพื่อพลิกศพให้

ฉันตะโกนถามว่ามีบาดแผลที่ไหนบ้างเป็นระยะ ๆ โดยมีพยาบาลยืนส่องไฟให้ตามที่ตกลงกันไว้

ท่ามกลางความมืดในท้ายรถกระบะนั้น ยามเริ่มพลิกดูบาดแผลด้านหน้าอกและตะโกนลงมาว่า

“มีแผลถูกยิงที่หน้าอกซ้ายครับ”

 “อ้อ... แล้วพลิกดูหน่อยนะคะว่ามีแผลทางออกอยู่ที่ใดบ้าง” ฉันถามกลับไปทันทีเพื่อให้ยามทำการพลิกดูด้านหลังของผู้เสียชีวิตต่อไป

“เอ… มีรูอีกรูที่ด้านข้างของลำตัวซีกซ้าย”

หลังจากนั้นฉันก็รีบจดบันทึกร่องรอยบาดแผลลงในเวชระเบียนดังนี้

….ชายอายุ 30 ปีถูกยิงที่ตลาดมาถึงโรงพยาบาลไม่มีสัญญาณชีพ จากการตรวจบาดแผลพบมีแผลที่หน้าอกซ้าย และรูออกอยู่ทางด้านข้างลำตัวซ้าย……

นับว่าเป็นเวชระเบียนที่มีการจดบันทึกบาดแผลสั้นมาก

ในเวลาต่อมาก็มีตำรวจตามมาสอบสวนเหตุการณ์เพิ่มเติม พร้อมกับอธิบายเหตุการณ์ให้ฟังเพิ่มเติมว่ามีการยิงกันที่ตลาดแล้วมีผู้เสียชีวิต 1 รายที่นำมาส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ทางตำรวจได้ตามจับผู้ยิงได้แล้ว

ดังนั้น ฉันจึงคิดว่าคดีนี้น่าจะปิดสำนวนได้ในทันทีโดยไม่มีปัญหาอะไร

หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ 2 ปี ในขณะที่ฉันกำลังเรียนสาขาเฉพาะทางอายุรกรรมที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่นั้น ฉันก็ได้รับหมายศาลให้ไปเป็นพยานที่ศาลธนบุรีเกี่ยวกับคดียิงกันที่จังหวัดศรีสะเกษในครั้งนั้น

ฉันตกใจมากและจำต้องแลกเวรเพื่อไปเป็นพยานที่ศาลธนบุรีอย่างจำใจ

ก่อนขึ้นให้ปากคำศาล อัยการของศาลแห่งนั้นได้นำเอกสารทั้งหมดตลอดจนเวชระเบียนที่ฉันได้จดบันทึกไว้ในครั้งนั้นมาให้ดูพร้อมกับแจ้งให้ฉันทราบว่า

“หมอไม่ต้องตกใจ แค่ตอบตามความเป็นจริงก็พอ”

ทันทีที่ฉันอ่านรายละเอียดในเวชระเบียนเล่มนั้นจบ ก็ทำให้ฉันเกิดอาการอ้ำอึ้ง ทั้งนี้เพราะมีการจดบันทึกไว้เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น รวมทั้งฉันเองก็ลืมเลือนประวัติของผู้ป่วยรายนี้ไปนานมากแล้ว

ฉันต้องสาบานตนต่อหน้าศาลก่อนขึ้นให้ปากคำว่าจะพูดแต่ความจริงเท่านั้น

 จากนั้นอัยการคนเดียวกับที่ยื่นเอกสารให้ฉันอ่านก็เริ่มทำการซักถามเกี่ยวกับบาดแผลตามการชันสูตรพลิกศพของแพทย์

“คุณหมอได้ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่ามีบาดแผลที่ใดบ้างครับ”

“ก็... มีรูกระสุนถูกยิงที่หน้าอกซ้ายและทะลุออกด้านข้างลำตัว” ฉันตอบอย่างมั่นใจ

อัยการทำการซักต่อไปว่า “แล้วยังมีบาดแผลอื่น ๆ อีกหรือไม่”

“พบมีรอยฟกช้ำตามตัวและแผลถลอกตามร่างกายหลายแห่งค่ะ” ฉันตอบกลับไปหลังจากนิ่งนึกอยู่นาน

อัยการเริ่มมองหน้าของฉันอย่างสงสัย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขาได้อ่านเวชระเบียนที่ฉันจดบันทึกมาบ้างแล้วก็เป็นได้ ซึ่งย่อมสร้างความประหลาดใจให้แก่อัยการท่านนั้นเป็นอย่างมากที่ฉันสามารถบรรยายเพิ่มเติมถึงบาดแผลอื่น ๆ ได้ทั้งที่ไม่มีรายละเอียดในเวชระเบียนเล่มนั้น

อย่างไรก็ดี อัยการยังคงทำการซักถามต่อไปว่า “คุณหมอคิดว่าผู้ตายเสียชีวิตจากสาเหตุอะไรครับ”

“เอ้อ... ก็น่าจะเป็นจากการถูกยิงค่ะ ทั้งนี้เพราะมีแผลรูกระสุนเข้าที่หน้าอกซ้ายและทะลุออกด้านข้าง”

“คุณหมอแน่ใจว่าเป็นแผลจากกระสุนปืน”

ฉันเริ่มอ้ำอึ้งและตอบกลับไปสั้น ๆ ว่า “ค่ะ”

อัยการมองหน้าของฉันพร้อมกับยิ้มแล้วพูดว่า “จบข้อซักถามครับ”

ฉันถอนหายใจด้วยความโล่งอกออกมาโดยทันที

หลังจากนั้นก็มีการซักถามพยานรายอื่น ๆ ต่อไป ฉันนั่งฟังจนกระทั่งการตัดสินคดีเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยดี

ในที่สุดอัยการก็พาฉันออกมาจากศาลเพื่อส่งกลับโรงพยาบาล

 ระหว่างทางที่ส่งฉันขึ้นรถที่หน้าศาลแห่งนั้น อัยการได้พูดกับฉันด้วยเสียงเบาราวกับกระซิบว่า

“คุณหมอครับ คราวหน้าถ้าไม่แน่ใจก็ตอบว่าจำไม่ได้ก็ได้นะครับ”

ฉันยิ้มให้อย่างอาย ๆ พร้อมกับไหว้ลาขึ้นรถแท็กซี่เพื่อออกจากศาลธนบุรีแห่งนั้นไป

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การจดบันทึกรายละเอียดบาดแผลในผู้ป่วยคดีนั้นมีความสำคัญมาก

และ… โชคดีที่ในวันนั้นฉันไม่ได้ให้การเปลี่ยนรูปคดีไปมากนัก