กาวติดเนื้อเยื่อทนทานต่อเลือดสำหรับงานศัยกรรม (ตอนจบ)

กาวติดเนื้อเยื่อทนทานต่อเลือดสำหรับงานศัลยกรรม (ตอนจบ)

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

บทความตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงกาวติดเนื้อเยื่อชนิดใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น โดยมีชื่อเรียกว่ากาวกระตุ้นด้วยแสงแบบไม่ชอบน้ำ หรือ hydrophobic light-activated adhesive (HLAA) ที่สามารถใช้งานได้ในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับกาวติดเนื้อเยื่อที่มีการใช้งานในการผ่าตัดในปัจจุบัน เช่น กาวไซยาโนอะคริเลตหรือกาวไฟบริน ซึ่งจากการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพในสัตว์ทดลองเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า กาว HLAA นี้มีความเป็นพิษต่ำและก่อให้เกิดการอักเสบต่ำกว่ากาวไซยาโนอะคริเลตซึ่งเป็นกาวติดเนื้อเยื่อสังเคราะห์ที่มีการใช้งานในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการศึกษาถึงประสิทธิภาพของกาว HLAA ในการใช้งานจริงในสิ่งมีชีวิต จึงมีการทดลองนำเอาแผ่นแปะที่เคลือบด้วยกาว HLAA ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ไปใช้ในการปิดซ่อมแซมช่องเปิดในบริเวณหัวใจของหมูทดลองในขณะที่ยังเต้นอยู่ โดยในการศึกษานั้นเป็นการใช้เทคนิคการนำส่งแผ่นแปะไปยังบริเวณที่ต้องการด้วยการผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กด้วยการใช้ลวดนิทินอล ซึ่งพบว่าสามารถนำเข้าไปวางในบริเวณใช้งานได้สำเร็จ และทำการบ่มกาวด้วยแสงเพื่อให้กาวยึดเกาะแผ่นแปะเข้ากับเนื้อเยื่อหัวใจและปิดซ่อมแซมช่องเปิด ภายหลังการผ่าตัด หัวใจของหมูทดลองมีอัตราการเต้นเฉลี่ยที่ 186 ครั้งต่อนาที และมีค่าความดันโลหิตซิสโตลิกเฉลี่ย 204 มิลลิเมตรปรอท ไม่พบการเคลื่อนที่ของแผ่นแปะภายหลังการผ่าตัด และพบว่าแผ่นแปะดังกล่าวสามารถยึดเกาะกับพื้นผิวของเนื้อเยื่อหัวใจได้อย่างมั่นคงในขณะที่หัวใจเต้น เมื่อผ่าตัดนำหัวใจออกมาที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดยังพบว่าแผ่นแปะดังกล่าวมีการยึดติดที่แน่นหนาอยู่ในตำแหน่งในทุกหมูทดลอง และพบว่ามีเนื้อเยื่อไฟบรินแคปซูลเจริญเข้ามาโดยรอบของแผ่นแปะดังกล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่