ความสุขคือการช่วยผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

รศ.พญ.พูนศรี รังษีขจี

ความสุขคือการช่วยผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

จากกลุ่มจิตแพทย์ผู้มีความสนใจในด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และ/หรือประสาทจิตเวชศาสตร์ หรือ Geriatric psychiatry and Neuropsychiatry Interest Group (GeNPIG) ที่รวมตัวก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2549 มาสู่การจัดตั้งเป็นชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย หรือ Thai Society for Geriatric Psychiatry and Neuropsychiatry (TSGN) เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553 เพื่อสนับสนุนให้จิตแพทย์ชาวไทยได้มีการพัฒนาความรู้ ความชำนาญ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้กันในด้านจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ให้ทันนานาอารยประเทศ ด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาจิตแพทย์ของประเทศไทยให้มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพในการทำงานที่ทันต่อความก้าวหน้าทางวิชาการในด้านประสาทจิตเวชที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย จึงได้ร่วมกับ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ในการสนับสนุนจิตแพทย์ไทยให้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการในต่างประเทศ ด้วยการจัดให้มีทุน GNA (GSK for Neuropsychiatry Award) ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ ทุน GNA 2013 ได้มอบให้แก่จิตแพทย์ที่ไปเสนอผลงานวิจัยในการประชุม The 11th World Congress of Biological Psychiatry (WFSBP 2013) ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23-27 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ซึ่งจิตแพทย์ไทยผู้ซึ่งมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และสมควรได้รับทุนในปีนี้คือ รศ.พญ.พูนศรี รังษีขจี รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง “ความชุกของภาวะวุฒิปัญญาบกพร่องเล็กน้อยในหญิงวัยหมดประจำเดือน (The Prevalence of Amnestic Mild Cognitive Impairment in Post Menopausal Women)”

รศ.พญ.พูนศรี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับทุนว่า ต้องขอบคุณทางบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ที่สนับสนุนงานวิชาการให้แพทย์ไทยได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานยังต่างประเทศ เป็นการเปิดองค์ความรู้ เปิดโลกทัศน์ทางวิชาการทำให้เราต้องพัฒนาตนเอง เพราะการเรียนแพทย์เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่อง มีความรู้สึกภาคภูมิใจ ดีใจมากที่ได้รับเกียรตินี้ รวมถึงอยากขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกันทำงานวิจัย ซึ่งตัวหมอเองก็แอบคาดหวังลึก ๆ ว่าผลงานของเราน่าจะเข้าเกณฑ์ที่กำหนด โดยสาเหตุที่เลือกหัวข้องานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการวัดภาวะบกพร่องทางวุฒิปัญญาเล็กน้อยในคนที่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง สืบเนื่องมาจากในการทำงาน หมอได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเศร้า วิตกกังวล โดยกลุ่มหนึ่งที่ได้ดูแลคือ กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้สูงอายุซึ่งอยู่ในช่วงใกล้จะหมดหรือหมดประจำเดือนแล้ว พบว่าในคนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมากที่บ่นว่ามีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ความจำไม่ดี นอกเหนือจากอาการวัยทองที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้รักษาพบว่าหลายคนไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ แต่กลับเป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล และเมื่อได้รับการรักษาดี ๆ เขากลับมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หมออยากทำงานวิจัยในเรื่องนี้ เนื่องจากต้องการทราบว่ามีคนที่เป็นภาวะนี้มากน้อยเพียงใด เพื่องานวิจัยในอนาคตเราจะช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างไร

            “ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช ตอนเก็บข้อมูลทำวิจัย เราไม่ได้เก็บที่ห้องตรวจจิตเวชทั้งหมด แต่เราไปเก็บข้อมูลที่คลินิกวัยทอง เนื่องจากคนไข้จะอยู่ในกลุ่มวัยทอง มีอาการวูบวาบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รู้สึกไม่สบาย และจากการคุยกับสูตินรีแพทย์พบว่า คนไข้กลุ่มนี้มีจำนวนมากซึ่งทางสูตินรีแพทย์จะเป็นคนแจ้งให้เราไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์แปลผลว่าเขามีอาการที่เข้าเกณฑ์ภาวะวุฒิปัญญาบกพร่องเล็กน้อยหรือไม่ แต่บางครั้งผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มาปรึกษากับหมอโดยตรงด้วยอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ เมื่อประเมินกลับพบว่ามีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ด้วย”

รศ.พญ.พูนศรี กล่าวต่อว่า ภายหลังจากตรวจประเมินผลได้แล้วจะแจ้งคนไข้ว่ามีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากอาจจะเป็นภาวะความจำลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมเพื่อที่เขาจะได้รู้และกลับมาดูแลตนเอง รักษาให้ถูกช่องทาง โดยวัยทองของผู้หญิงจะเกิดขึ้นในช่วงอายุปลาย 40 ปี จนถึง 50 ปีต้น ๆ ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่ต้องรับผิดชอบในหน้าที่การทำงานและครอบครัวมาก สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของความเครียดซึ่งส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล อย่างน้อยเมื่อรู้เขาจะได้มีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งนี้งานประจำที่หมอรับผิดชอบทำอยู่คือการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาทางจิตเวช ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีสูตรตายตัว แต่เปรียบเหมือนการตัดเสื้อให้สวมใส่สบายสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเราจะให้การดูแลเป็นแบบครบองค์รวม ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งมีทั้งการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ การป้องกันปัญหาบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น มีการเตรียมตัวสำหรับบางเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมความพร้อมให้แก่ญาติเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น จะได้ช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและญาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในส่วนของหมอ เราจะทำการตรวจรักษา และทำการวิจัยควบคู่กันไปด้วย

รศ.พญ.พูนศรี ยังกล่าวถึงความยากในการทำวิจัยด้วยว่า ความยากของการทำวิจัยเริ่มตั้งแต่การคิดโครงร่างการวิจัย (Proposal) ว่าจะวางแผนจัดการอย่างไร โดยการวิจัยนี้เราทำร่วมกับแพทย์ 2 ท่าน คือ นพ.วรพงษ์ ศรีสิทธิพจน์ และ ผศ.ดร.ศรีนารี แก้วฤดี เป็นการประชุมร่วมกันเพื่อวางโครงร่างงานวิจัย วิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา โดยเราต้องเก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 355 คน ซึ่งแบบทดสอบของงานวิจัย เครื่องมือที่นำมาใช้ประเมินภาวะวุฒิปัญญาบกพร่องเล็กน้อยคือ เครื่องมือที่มีชื่อว่า Montreal Cognitive Assessment Test-Thai version (MoCA test-Thai) ฉบับภาษาไทยพัฒนาโดย พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแบบทดสอบสำหรับประเมินภาวะวุฒิปัญญาบกพร่องเล็กน้อยโดยเฉพาะที่มีความไวและมีความจำเพาะสูง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำมาใช้วัดภาวะนี้ในกลุ่มผู้ป่วยวัยทอง

นอกจากจะดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยทองแล้ว รศ.พญ.พูนศรี กล่าวว่า “กลุ่มคนไข้ที่หมอสนใจไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มวัยทอง หมอสนใจในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนที่น่ารำคาญ ชอบพูดแต่เรื่องเก่า ๆ ซ้ำซาก ขี้หงุดหงิด แต่สำหรับตัวหมอเองรู้สึกว่าเราได้เป็นผู้ให้ รวมถึงเรายังได้ข้อคิด ได้มุมมองที่สามารถนำมาปรับใช้กับตัวเราเอง กับเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยบางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอวันนัด เราได้เห็นความน่ารักของผู้ป่วยเหล่านี้ ได้รับรู้รับฟังเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่งเหมือนนวนิยายในชีวิตจริง เพราะฉะนั้นถ้าเราดูแลคนไข้ 10 คน ก็เหมือนกับเราได้ดูหนังชีวิต 10 เรื่อง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยซึ่งสร้างความประทับใจที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ คุณครูที่เกษียณอายุราชการแล้ว คุณครูท่านนี้ก็ตระเวนหาหมอมาทุกแห่ง ได้มาสารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า อยู่ไม่สุข เศร้า เหงา หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกแย่ในชีวิตมาก สุดท้ายมาพบหมอ ครั้งแรกหมอใช้เวลากับเขานานมาก หลังจากนั้นเมื่อเขากลับมาพบหมออีกครั้งใน 1 อาทิตย์ถัดมาได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน คุณครูท่านนี้สามารถยิ้มได้ กินได้ นอนหลับ หมอจึงนัดห่างออกไปเป็น 3 เดือน โดยล่าสุดที่ได้พบมีอาการดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และยังตั้งใจทำแกงไตปลามาฝากทั้งห้องตรวจ ซึ่งทุกคนบอกว่าอร่อยมาก เมื่อเห็นผู้ป่วยดีขึ้น เราก็มีความสุข เพราะว่าได้ช่วยคนคนหนึ่งให้พบความสุขในช่วงชีวิต จากแต่เดิมที่ต้องเศร้า เหงา รู้สึกแย่ อยู่ไม่ได้ กระวนกระวาย มีเงินทองก็ไม่มีความสุข”

สำหรับความสนใจของจิตแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ รศ.พญ.พูนศรี กล่าวว่า ค่อนข้างประเมินยาก เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงวัยทองส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยสูตินรีแพทย์ ซึ่งในทางจิตเวชอาจจะมีบ้าง แต่โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้หญิงจะมีความเข้าใจคนไข้ เนื่องจากเรื่องของฮอร์โมนและอารมณ์จะมีความสัมพันธ์กับทุกช่วงอายุ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนในประเทศได้มีการตื่นตัวด้านนี้มากขึ้น ซึ่งเราก็หวังให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะเมื่อกายป่วย จิตก็ป่วยได้เช่นกัน จึงคิดว่างานทางด้านนี้จะล้นมือ ดังนั้น สิ่งที่ TSGN กำลังทำอยู่ขณะนี้คือ พัฒนาหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุเป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากสาขาจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาหลักสูตรจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย คาดว่าเมื่อหลักสูตรเสร็จก็จะมีการเปิดฝึกอบรมประมาณปี พ.ศ. 2559

สุดท้ายนี้ รศ.พญ.พูนศรี ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจขอทุน GNA ในปีต่อไปว่าต้องเป็นสมาชิกของ TSGN และควรเตรียมพร้อมในเรื่องของการวิจัย เนื่องจากเรามีคู่แข่ง และสำหรับคนที่อยากจะมาเป็นจิตแพทย์ อันดับแรกต้องมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาจิตเวช ต่อคนไข้จิตเวช โดยไม่มองว่าเป็นอะไรที่น่ารังเกียจ น่ารำคาญ เป็นคนที่มีปัญหา ไม่น่าคบ ต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง มีความยืดหยุ่น มีความรับผิดชอบ คงเส้นคงวา เป็นที่พึ่งพิงของคนไข้ที่เขาสามารถไว้ใจได้ และที่สำคัญต้องมีความสามารถที่จะเข้าใจจิตใจคนอื่น อยากจะพัฒนาตนเองที่จะเข้าใจจิตใจคนอื่นด้วย