พื้นผิวเต้านมเทียมแบบใหม่ที่อาจช่วยลดการเกิดพังผืดรัดรอบ

พื้นผิวเต้านมเทียมแบบใหม่ที่อาจช่วยลดการเกิดพังผืดรัดรอบ

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

เต้านมเทียมที่ได้รับความนิยมและมีการใช้งานในปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นคือ เต้านมเทียมประเภทซิลิโคน โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อยคือ แบบบรรจุน้ำเกลือและแบบบรรจุเจลซิลิโคน โดยทั้ง 2 แบบจะมีเปลือกหุ้มที่ผลิตจากซิลิโคนเหมือนกัน โดยพื้นผิวของเต้านมเทียมประเภทซิลิโคนนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบหลักคือ แบบผิวเรียบ (smooth) และแบบผิวทราย (textured) โดยพื้นผิวแบบผิวทรายนั้นจะมีลักษณะเป็นผิวหยาบระดับจุลภาคที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบของตุ่มนูนระดับไมโครเมตรจำนวนมากที่อยู่บนพื้นผิว ปัญหาแทรกซ้อนที่พบบ่อยสำหรับการใช้งานเต้านมเทียมคือ การที่เกิดพังผืดรัดรอบเต้านมเทียม (capsular contracture), การรั่วซึมของเต้านมเทียม และการติดเชื้อ ซึ่งโอกาสเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยการเกิดพังผืดรัดรอบเต้านมเทียมนั้นถือได้ว่าเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดสำหรับเต้านมเทียมประเภทซิลิโคน โดยเกิดขึ้นที่อัตราประมาณร้อยละ 14.8-20.5 ซึ่งอาการแทรกซ้อนดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และอาจทำให้ต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขได้ นอกจากนี้ในหลาย ๆ กรณีอาจเป็นสาเหตุของการรั่วซึมของเต้านมเทียมได้ การเกิดพังผืดรัดรอบเต้านมเทียมนั้นมีสาเหตุมาจากกลไกการป้องกันตัวของร่างกายในการตอบสนองต่อเต้านมเทียมซึ่งถือว่าเป็นวัสดุแปลกปลอม ทำให้ร่างกายจะมีการสร้างพังพืดขึ้นโดยรอบโดยมีลักษณะเหมือนแคปซูล เพื่อที่จะแยกเต้านมเทียมที่อยู่ภายในออกจากสภาพแวดล้อมภายในร่างกายด้านนอก ซึ่งถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัดและการดูแลภายหลังการผ่าตัดที่ช่วยให้อาการแทรกซ้อนจากการเกิดพังผืดรัดรอบเต้านมเทียมมีระดับที่ลดลง ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดใส่เหนือกล้ามเนื้อ การนวด เป็นต้น แต่การเกิดพังผืดดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อย

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่