ถอดบทเรียน “ร.พ.บำรุงราษฎร์” รับมือโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่

ถอดบทเรียน “ร..บำรุงราษฎร์”

รับมือโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่

ผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดบ้านให้คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมมาตรการกักกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่แบบครบวงจร ทุ่มเทศึกษาวิจัยโรคเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดการณ์และเฝ้าระวังล่วงหน้า เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการและผู้อำนวยการด้านคุณภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เกิดการระบาดของโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่เพิ่งระบาดในมนุษย์ หรือโรคติดเชื้อที่พบในพื้นที่ใหม่ แม้กระทั่งเกิดจากเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ สำหรับประเทศไทยพบโรคติดต่ออยู่เป็นระยะ ๆ อาทิ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 และล่าสุดโรคเมอร์ส ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตรวจพบผู้ป่วยรายแรก และดำเนินการระงับการแพร่กระจายของโรคได้สำเร็จดังที่ได้ทราบกันไปแล้ว

ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตระหนักดีว่าความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงจัดเตรียมยุทธศาสตร์ทุกมิติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกัน และแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ขึ้นในประเทศไทยอย่างทันท่วงที

“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแผนกที่พร้อมที่จะรับมือหากมีโรคติดเชื้อชนิดใหม่เข้ามา นั่นคือ “แผนกวิจัยและควบคุมโรคติดเชื้อ” อย่างกรณีโรคเมอร์สที่เราได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าตั้งแต่พบโรคดังกล่าวครั้งแรกในประเทศแถบตะวันออกกลางเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 และมีการจัดประชุมคณะแพทย์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมเตรียมห้องปฏิบัติการกรณีตรวจพบผู้ป่วยในไทย จนผ่านมานานถึง 3 ปี ได้พบผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดและดำเนินการมาตั้งแต่ต้นนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่สามารถช่วยให้ประเทศไทยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ” ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าว

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่พบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกในไทย สิ่งที่เป็นหัวใจหลักในการจัดการปัญหาในเวลานั้นคือ ต้องมองถึงระบบบริหารจัดการบุคลากรและการจัดการองค์ความรู้ แบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ความเป็นมืออาชีพและความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ 2. ความมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานสูงสุด 3. การเตรียมความพร้อมรับมือและฝึกฝนอยู่เสมอ 4. จิตวิญญาณแห่งวิชาชีพและเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกัน 5. การปรับตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจาก 5 ปัจจัยข้างต้นทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว

“ทันทีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีผู้ต้องสงสัยป่วยเป็นโรคเมอร์ส เรายืนยันที่จะขอกักตัวผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการที่โรงพยาบาล จากนั้นทีมทุกฝ่ายได้ระดมกำลังเพื่อกักกันการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็ว ถึงแม้ว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลลดลงในระยะหนึ่ง แต่ความภาคภูมิใจของเราคือ ทำให้โรคเมอร์สไม่แพร่ระบาดในประเทศไทยและคืนความเชื่อมั่นที่มีต่อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กลับมาในระยะเวลาอันสั้น และถือเป็นตัวอย่างของบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ ทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม” ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าว

พร้อมกันนี้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เยี่ยมชมส่วนงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค อาทิ “แผนกฉุกเฉิน” (ER) ที่มีการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงการจัดเตรียมชุดและอุปกรณ์ที่สวมใส่เพื่อป้องกันเชื้อโรคในขณะปฏิบัติการ ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยรวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในแผนกดังกล่าวเป็นสำคัญ “แผนกเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อ” ที่แสดงถึงขั้นตอนการฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดเครื่องมือด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด “แผนกผู้ป่วยหนัก” (ICU) นำเสนอมาตรฐานห้องผู้ป่วยที่มีการควบคุมอุณหภูมิและระบบการระบายอากาศที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยและบุคคลอื่นภายในโรงพยาบาล “แผนกรับผู้ป่วยใน” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ผ่านการฝึกอบรมในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อ รวมถึงคลายความกังวลแก่ญาติเป็นด่านแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง “หน่วยลาดตระเวน” ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล หากพบเห็นผู้ใดที่มีอาการเข้าข่ายต้องเฝ้าระวังจะมอบหน้ากากอนามัยให้สวมใส่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น และรายงานให้เจ้าหน้าที่ทันทีถ้ามีอาการที่รุนแรง

ยิ่งกว่านั้นทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังได้มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์แสดงถึงอาการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจจะเป็นโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ และแสดงรูปประเทศต่าง ๆ ที่มีโรคระบาดอยู่ในหลาย ๆ จุดสำคัญทั่วโรงพยาบาลอีกด้วย

ทั้งนี้แผนกวิจัยและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อยังคงทุ่มเทศึกษาเกี่ยวกับโรคสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์และเฝ้าระวังล่วงหน้า ทำให้พร้อมรับมือโดยทันทีเมื่อมีการตรวจพบโรคระบาด ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีผู้ใช้บริการจำนวน 1.1 ล้านคนต่อปี (รวมผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก) เป็นผู้ใช้บริการชาวต่างประเทศกว่า 520,000 คนต่อปี จาก 190 ประเทศทั่วโลก จึงทำให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อย่างครบวงจร ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และทันตแพทย์กว่า 1,300 ท่าน มีพนักงานคอยให้บริการกว่า 4,800 คน และมีพยาบาลอีกกว่า 900 คน

“เป็นเวลา 35 ปีบนมาตรฐานความสำเร็จของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ภายใต้ระบบบริหารจัดการบุคลากรและการจัดการองค์ความรู้ ล้วนพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและโรคสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้” ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย