สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จัด The 4th ASEAN Perspective in Liver Diseases 2016 (APLD2016) “NEW PARADIGMS in The Management of Liver Diseases”

สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จัด The 4th ASEAN Perspective in Liver Diseases 2016 (APLD2016) “NEW PARADIGMS in The Management of Liver Diseases”

สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการ The 4th ASEAN Perspective in Liver Diseases 2016 (APLD2016) ชูธีม “NEW PARADIGMS in The Management of Liver Diseases” ระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม พ.ศ. 2559 ณ คุ้มคำ อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเวนชั่น คอมเพล็กซ์ จ.เชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้โรคตับระหว่างแพทย์ไทยและแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน 

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมวิชาการ APLD2016 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 และยังเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพที่สามารถเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียนได้ โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านการรักษาโรคตับ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์ไทยและแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากหลากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า ฮ่องกง จีน เป็นต้น  

สำหรับความน่าสนใจของการประชุมวิชาการ APLD2016 รศ.นพ.ทวีศักดิ์ อธิบายว่า ความน่าสนใจเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาของการจัดระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ หลังจากที่มีการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในประชาคมอาเซียน ถือเป็นการประชุมทางการแพทย์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอาเซียน ขณะเดียวกันในแง่ของความรู้ ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางด้านโรคตับมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในช่วง 2-3 ปีมานี้ ตัวอย่างเช่น การรักษาไวรัสตับอักเสบบีและซี ในอดีตการรักษามองว่ายาก แต่ ณ ปัจจุบันรับประทานยาแค่วันละเม็ด เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถหายขาดได้เกือบ 100% จากความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อจะได้ก้าวตามให้ทัน นอกจากนี้แล้ว สถานที่ของการจัดประชุมในครั้งนี้ได้เลือกที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอากาศดีที่สุด เหมาะอย่างยิ่งในการมาท่องเที่ยวและพักผ่อน หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และพบปะกับเพื่อนสาขาวิชาชีพเดียวกันจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

ในส่วนของหัวข้อการประชุม ครอบคลุมตั้งแต่โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคไขมันเกาะตับ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากตับแข็ง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันการรักษามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

โรคไวรัสตับอักเสบซี จากเดิมรักษาด้วยยาฉีด โดยฉีดสัปดาห์ละเข็มเป็นเวลา 1 ปี มีโอกาสหาย 50 : 50 แต่ปัจจุบันสามารถรักษาด้วยยารับประทาน โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด หรืออย่างมากไม่เกิน 2 เม็ด ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โอกาสหายเกือบ 100% เป็นความก้าวหน้าในการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะโดยปกติแล้วการรักษาโรคใดก็ตามให้ดีขึ้น 20-30% ต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีใช้เวลาหลักเดือน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดมาก

โรคไขมันเกาะตับ เป็นโรคที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะกว่าครึ่งของประชากรไทยป่วยเป็นโรคนี้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของโรคเพิ่มมากขึ้น และมีการรักษาที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการดูแลโรคไขมันเกาะตับที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Prof.Leon Adams, Prof.Jacob George จากออสเตรเลีย และ Prof.Vincent Wong จากฮ่องกง 

• โรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานของไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียน ในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้ง Prof.Ferruccio Bonino, Prof.Maurizia Brunetto จากอิตาลีที่ถือว่าเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ค้นพบไวรัสตับอักเสบบี ร่วมด้วย Prof.Ray Kim และ Prof.K. Rajender Reddy จากสหรัฐอเมริกา

• โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากตับแข็ง ผู้ป่วยอาจจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด มีอาการทางสมอง ซึม จากภาวะตับวาย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ Prof.K. Rajender Reddy จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องโรคแทรกซ้อนจากโรคตับและการปลูกถ่ายตับ และ Prof.Manuel Romeo-Gomez จากสเปน ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาวะตับวาย

“หัวข้อการประชุมทั้งหมดนี้ถือเป็นไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มาอัพเดทความรู้ ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มเป็นโรค จนถึงระยะสุดท้ายของโรคเมื่อตับวาย หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนตับ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้คาดหวังว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุม 500-700 คน โดยแพทย์ไทยและแพทย์ในอาเซียนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการประชุมครั้งนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทความรู้ ซึ่งเป็นความรู้ที่ทันสมัยที่สุดจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างคอนเนคชั่นในกลุ่มประเทศอาเซียน ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารกันระหว่างแพทย์โรคตับในประชาคมอาเซียน และสุดท้ายคือการได้ท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เชียงใหม่ 

ท้ายนี้ รศ.นพ.ทวีศักดิ์ ได้เน้นย้ำว่า ไทยมีจุดแข็งหลายด้านที่พร้อมจะเป็นผู้นำของอาเซียน ทั้งสถานที่ตั้งที่เหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน จำนวนแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถและมีชื่อเสียงมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งมีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันในด้านมาตรฐานการรักษา หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ถือว่าไม่ต่างกันมากนัก แต่ถ้าพิจารณาจากขนาดของจำนวนประชากร จำนวนโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับเดียวกัน ซึ่งไทยมีจำนวนมากกว่าและค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า ดังนั้น การที่ไทยจะเป็นทั้งศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนและผู้นำของการวิจัย จึงไม่น่าจะเกินความเป็นจริง

“อยากเชิญชวนอายุรแพทย์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคตับ และแพทย์ทั่วไปที่สนใจ มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะเป็นโอกาสอันดีที่ไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศ ได้ทั้งการอัพเดทความรู้ด้านโรคตับจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังได้ท่องเที่ยวในบรรยากาศสบาย ๆ ที่เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 20-23 มกราคม พ.ศ. 2559 นี้อีกด้วย” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2670-0900 โทรสาร 0-2670-0908 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.apld2016.com