โครงการห้องเรียนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล ใช้ไอทีเป็นสื่อเรียนรู้ ลดความวิตกกังวลต่อโรคและอาการเจ็บป่วย

โครงการห้องเรียนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล ใช้ไอทีเป็นสื่อเรียนรู้ ลดความวิตกกังวลต่อโรคและอาการเจ็บป่วย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดเยี่ยมชม “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ณ โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเด็กป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนาน ๆ ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงพระราชทาน “ห้องเรียนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล” และแนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เด็กป่วยได้เรียนและเล่นอย่างมีความสุข ด้วยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการต่อยอดและขยายผล จนปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง 29 แห่งใน 26 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานห้องเรียนคอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล โดยเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2539 ต่อมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีความร่วมมือในการนำแนวพระราชดำริดังกล่าวขยายผลไปสู่โรงพยาบาลในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย จำนวน 26 แห่ง และมีเด็กป่วยได้รับบริการภายใต้โครงการนี้กว่า 20,000 คนต่อปี”

“โดยโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กป่วยเรื้อรังซึ่งขาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียน และเรียนได้ทันเพื่อนเมื่อออกจากโรงพยาบาล โดยใช้ไอทีเป็นสื่อในการเรียนรู้ และสร้างความเพลิดเพลินให้เด็กลดความวิตกกังวลต่อโรคและอาการเจ็บป่วย ด้วยความร่วมมือในการดำเนินงานของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ที่สนับสนุนครูผู้สอนประจำศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนการจัดตั้งห้องศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ที่สนับสนุนนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในศูนย์การเรียนเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล”

สำหรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนและประสานงานด้านการศึกษา นอกจากการเรียนการสอนที่ถูกจัดขึ้นในโรงพยาบาล โดยใช้เทคนิคการสอนแบบต่าง ๆ ตามระดับความสามารถและความสนใจของนักเรียน ทั้งการสอนแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ แล้ว ศูนย์การเรียนในโรงพยาบาลยังมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เด็กป่วยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเด็กป่วยที่อยู่ในระบบการศึกษาจะมีครูที่โรงพยาบาลแจ้งโรงเรียนเพื่อขอให้เด็กเข้าเรียนตามปกติหลังออกจากโรงพยาบาล ขณะที่เด็กป่วยที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาจะมีครูที่โรงพยาบาลช่วยสอนหนังสือให้เบื้องต้น แล้วประสานส่งเด็กเรียน กศน. และเด็กป่วยที่ได้รับการศึกษามาบ้างจะมีครูที่โรงพยาบาลช่วยสอนหนังสือ แล้วประสานส่งเด็กเรียน กศน.

นพ.เกศดา จันทร์สว่าง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงการดำเนินการโครงการดังกล่าวในโรงพยาบาลชลบุรีว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็น 1 ใน 29 แห่งจากโรงพยาบาลทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาการดำเนินงานโครงการฯ โดยโรงพยาบาลชลบุรีจัดให้มี “ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังโรงพยาบาลชลบุรี และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย” ขึ้น ได้ดำเนินงานในหลายส่วน อาทิ การนำ eDLTV ไปใช้ในการสอนเด็กป่วย การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล และรูปแบบการเรียนการสอนข้างเตียงสำหรับเด็กป่วยที่ไม่สามารถมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้ เป็นต้น

ด้านเสียงสะท้อนบางส่วนจากเด็กป่วยที่ได้รับบริการจากศูนย์ฯ ดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทของศูนย์ฯ ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการและทักษะในด้านการเรียนต่าง ๆ รายแรก นายวิทวัส พรมแดง หรือน้องเต๋า อายุ 21 ปี จากเด็กน้อยตัวเล็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวต้องรักษาในโรงพยาบาลชลบุรี ให้ยาเคมีบำบัดและฉายแสงบำบัดพร้อมทั้งได้รับบริการทางด้านการศึกษาในโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังโรงพยาบาลชลบุรี และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2549 - เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จ.ชลบุรี โดยน้องเต๋าเล่าถึงความรู้สึกเมื่อครั้งเข้ารับบริการในศูนย์ฯ ให้ฟังว่า “ผมมีความสุขสนุกกับการเรียน เรียนไปยิ้มไป หัวเราะไป กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความชอบของตนเอง และได้เรียนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศตามโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย เช่น โปรแกรมพื้นฐานการใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น และมีครูคอยช่วยให้กำลังใจให้คำปรึกษาทั้งด้านการเรียน การดูแลตนเอง ทำให้ไม่เครียด เป็นผลดีต่อการรักษา จนกระทั่งผมได้ศึกษาต่อในระดับชั้นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 ในสาขาช่างยนต์ ในโรงเรียนเทคนิคสัตหีบเพราะใกล้ที่อยู่อาศัยและสะดวกกับการเดินทาง” โดยปัจจุบันน้องเต๋าจบการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคสัตหีบแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในระดับชั้นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างยนต์ และทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ขณะที่อีกหนึ่งเยาวชน .ญ.ปัญญาวีย์ บุศรัตน์ตานนท์ หรือน้องไอซ์ อายุ 9 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวุฒิวิทยา ได้รับการรักษที่โรงพยาบาลชลบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2555 และได้เข้าเรียนในศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังโรงพยาบาลชลบุรี และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลชลบุรี โดยน้องไอซ์เล่าให้ฟังว่า “หนูรู้สึกมีความสุขเมื่อเข้ารับบริการในศูนย์ฯ และสนุกกับการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ศูนย์ฯ แห่งนี้ช่วยให้หนูเป็นเด็กที่ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส และกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงออกซึ่งความสามารถพิเศษที่หนูชอบ ได้แก่ การร้องเพลงจีน และการเต้น โดยจะมีคุณครูช่วยเสริมช่วยดูแลในทักษะด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และหนูยังได้เรียนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศตามโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยด้วย”

ผศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เล่าถึงการส่งผลการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลเข้าประกวดในระดับนานาชาติว่า “จากผลการดำเนินงานของโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2558 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในชื่อ 'Holistic School in Hospital' เข้าประกวดระดับนานาชาติ ในรายการ 2015 United Nations Public Service Awards (2015 UNPSA) ด้วย ซึ่งจัดขึ้นโดย United Nations Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) ผลปรากฏว่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ (1st place winner) ในสาขาการส่งเสริมแนวทางการดำเนินการของภาครัฐโดยรวมในยุคข้อมูลข่าวสาร (Category 3 - Promoting Whole of Government Approaches in the Information Age) ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานโครงการศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริฯ ได้ทูลเกล้าถวายรางวัล UNPSA แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558