สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่ประจำปี พ.ศ.2559 Common Pitfall and Misconception in Pediatric Infectious Disease

 สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่ประจำปี พ.ศ. 2559 "Common Pitfall and Misconception in Pediatric Infectious Disease"

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่ประจำปี พ.ศ. 2559 ครั้งที่ 20 ชูธีม "Common Pitfall and Misconception in Pediatric Infectious Disease" ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ณ โรงแรม เดอะ ซายน์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมทางด้านวิชาการโรคติดเชื้อในเด็กแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะสาขากุมารเวชศาสตร์

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเด็กไทยและโรคติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งยังมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทย

ล่าสุดทางสมาคมฯ มีกำหนดจัด การประชุมใหญ่ประจำปี พ.ศ. 2559 ครั้งที่ 20 ชูธีม "Common Pitfall and Misconception in Pediatric Infectious Disease" ระหว่างวันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ณ โรงแรม เดอะ ซายน์ พัทยา จ.ชลบุรี เพื่อสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับเวลา เศรษฐานะ สิ่งแวดล้อม และบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นที่คณะกรรมการสมาคมฯ พยายามผลักดัน และเน้นย้ำในการประชุมเป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง

โดยในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่กลับพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในอัตราสูงมากในกลุ่มที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไข้หวัด น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เพราะฉะนั้น ยาปฏิชีวนะนอกจากจะไม่ทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้นแล้ว ในทางตรงกันข้ามอาจทำให้มีผลเสียต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นยังก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาและเสียเงินค่ารักษาแพงขึ้น ดังนั้น แพทย์ในเวชปฏิบัติต้องตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมและตรงกับชนิดของโรคและเชื้อก่อโรคที่จะรักษา เพราะปัญหาดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศไทย โดยปัจจุบันยาปฏิชีวนะเกือบทุกตัวผู้ป่วยสามารถเดินเข้าไปซื้อในร้านขายยาได้ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการดื้อยาสูงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มยาปฏิชีวนะที่มีอันตรายเข้าสู่ร่างกายโดยเปล่าประโยชน์ โรคที่เป็นอยู่ก็ไม่หายเร็วขึ้น และสิ้นเปลืองเงินโดยไม่จำเป็น

ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมฯ จึงอยากจะมีนโยบายควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะให้มากขึ้น โดยเริ่มจากต้นน้ำซึ่งก็คือแพทย์ผู้สั่งใช้ยา ควรจะต้องตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะที่จำเป็นและเหมาะสม ยังจะต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอีกด้วย   

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ในการประชุมจึงมีหัวข้อที่เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ รวมถึงหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่แพทย์ต้องให้ความสนใจ ได้แก่ Zika fever: What pediatrician should know? โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เกิดขึ้นจากไวรัสซิกาซึ่งเป็นเชื้อที่มีความใกล้เคียงกับไข้เลือดออกเดงกีและไข้ชิคุนกุนยา เนื่องจากมีพาหะนำโรคโดยยุงชนิดเดียวกัน และกำลังมีการระบาดในหลายประเทศจึงทำให้เป็นที่สนใจของทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย Salmonella infection เป็นเชื้อแบคทีเรียในประเทศเขตร้อน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราความชุกสูง โดยเชื้อนี้จะอยู่ในธรรมชาติ สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือปนเปื้อนในอาหาร ก่อโรคในเด็กและคนที่ร่างกายอ่อนแอ อาการทั่วไปที่พบมีตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และรุนแรงถึงขั้นเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดโดยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ Confusing vaccine program ปัจจุบันวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นและเหมาะสมขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลทางระบาดวิทยาใหม่ ๆ ออกมา การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลต่อแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย จนเกิดคำถามตามมา เช่น วัคซีนหัด ไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการป้องกันโรคได้มากที่สุด Case Discussion นำกรณีศึกษาผู้ป่วยจากสถาบันต่าง ๆ มาให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้วิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรหากอยู่ในสถานการณ์ขณะนั้น โดยจะได้เรียนรู้จากผู้ป่วยจริง ซึ่งต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ สามัญสำนึก ศิลปะทางการแพทย์ ผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อรักษาผู้ป่วยให้รอดชีวิต โดยจะมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ Tuberculosis หรือ TB วัณโรคเป็นปัญหามานานและนับวันจะมีความซับซ้อนขึ้น สำหรับวัณโรคในเด็กเป็นวัณโรคที่สืบเนื่องมาจากผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่มีการควบคุมดี รักษาดี จะไม่ถ่ายทอดมาถึงเด็ก แต่เนื่องจากการควบคุมในผู้ใหญ่ยังเป็นปัญหาและปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นที่เป็นวัณโรคดื้อยา ทำให้ไม่มีอาวุธที่จะใช้ในการใช้รักษา ประกอบกับยารักษาวัณโรคส่วนใหญ่เป็นยาที่พัฒนามาสำหรับใช้ในผู้ใหญ่เป็นหลัก วัณโรคในเด็กจึงยังเป็นปัญหาเรื่องการใช้ยาและรักษาได้ยาก Symposium ที่สนับสนุนโดยบริษัทยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจะมาแนะนำผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ความก้าวหน้าซึ่งจะช่วยสนับสนุนความมั่นใจให้แก่แพทย์ในการใช้ยาและวัคซีนที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

            สำหรับไฮไลท์ในการประชุมครั้งนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า ไม่อยากให้พลาดในทุก ๆ หัวข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Confusing vaccine program ซึ่งจะมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้มาคลายข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนหลายตัวลงไปถึงระดับรากหญ้า ระดับหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงตารางการให้วัคซีนที่ยึดถือมาโดยตลอด จะต้องคำนึงถึงในส่วนนี้ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศด้วย แต่ในขณะเดียวกันวัคซีนเสริมก็มีบ้างขาดบ้าง แพทย์ควรทำอย่างไรให้ดีที่สุด Zika fever: What pediatrician should know? ซึ่งเป็นปัญหาในหญิงตั้งครรภ์และอาจทำให้ทารกเกิดความพิการได้ จึงต้องมีการมาอัพเดทองค์ความรู้ว่าทำอย่างไรหากพบความผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นโรคที่รักษาไม่ได้และไม่มีวัคซีน และ Case Discussion โดยจะนำกรณีศึกษาผู้ป่วยที่มีความยากและซับซ้อน จำนวน 3 ราย มาให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เรียนรู้จากผู้ป่วยจริง เพื่อฝึกการตัดสินใจภายใต้ขีดความสามารถต่าง ๆ

ทางด้านวิทยากร ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์แพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยจริง โดยอาจารย์แต่ละท่านมีการทำวิจัยในแต่ละด้านและมีความถนัดที่แตกต่างกัน เช่น ไวรัส แบคทีเรีย วัณโรค เป็นต้น จึงมั่นใจได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ กุมารแพทย์ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป จำนวนกว่า 500 คน จะได้รับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมและสามารถนำกลับไปใช้ได้จริงในเวชปฏิบัติ   

“การแพทย์ทุกวันนี้เจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงทุกนาที อาจารย์ทุกท่านจะต้องไปกรองและตรองดูว่าข้อมูลเหล่านี้จริงหรือไม่จริง ดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น องค์ความรู้ที่ได้กลับไปจะเป็นมุมมองของเหล่าคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ซึ่งถ้าผู้เข้าร่วมประชุมไปค้นคว้าเองอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะได้ข้อสรุป ดังนั้น จึงคุ้มค่า คุ้มเวลามากในการเข้าร่วมประชุม” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว  

ท้ายนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้รับแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้ลูกศิษย์ได้มาเจออาจารย์ ได้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน ดำเนินงานร่วมกัน หากมีโรคใหม่ ๆ ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตจะได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ทางด้านสังคม เพราะการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ได้มาพบปะกันในหมู่แพทย์ ได้เห็นการดำเนินชีวิตของอาจารย์แพทย์หลายท่าน ซึ่งแพทย์รุ่นหลังสามารถจะยึดเป็นแบบอย่างได้ เรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ การสร้างเครือข่าย และทางด้านสังคมเข้าไว้ด้วยกันในการประชุมครั้งนี้

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2716-6534-5 E-mail: rungrat.no@pidst.or.th หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.pidst.net