การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2559 “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” (Mindfulness for Healthy Lives)

การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2559 “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” (Mindfulness for Healthy Lives)

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2559 “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” (Mindfulness for Healthy Lives) ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต และนักวิชาการต่างประเทศได้รับความรู้ แนวคิดองค์ความรู้สุขภาพจิตกับสังคม ตลอดจนเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2559 จะมีการพูดถึงความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษา การป้องกัน และการฟื้นฟู รวมถึงสุขภาวะทางจิตในภาพรวม โดยในปีนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันด้วยวิธีการฝึกสติ ซึ่งตรงกับธีมหลักในการประชุมวิชาการครั้งนี้ที่ว่า “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” หรือ Mindfulness for Healthy Lives เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่มุ่งเน้นเรื่องสุขภาวะที่ต้องสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา มิใช่เพียงการปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น

ด้วยวิสัยทัศน์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในการพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศ และพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ 1. เสริมสร้างศักยภาพประชาชนให้มีสุขภาพจิตดี 2. ส่งเสริมบทบาทของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง 3. พัฒนาบริการและวิชาการสุขภาพจิตให้มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย และ 4. สร้างกลไกในการพัฒนางานสุขภาพจิตให้มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอัพเดทความรู้ทางวิชาการและองค์ความรู้ที่มากมายในปัจจุบัน นำไปสู่การจัดการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดย การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดขึ้นภายใต้ธีม “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” (Mindfulness for Healthy Lives) ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นตลาดแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการที่น่าสนใจ รวมถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตและงานจิตเวชทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงถือเป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญที่จะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในการดูแลสุขภาพจิต และยังเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเวิร์คช็อปเกี่ยวกับสติในการทำงานของแต่ละพื้นที่ด้วย  

“ธีมงานของแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้เน้นเรื่องสติ ซึ่งเป็นแนวคิดของการมีสุขภาพดีที่สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกในการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน โดยนำสติมาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความเครียดและปัญหาที่มากมายในสังคมปัจจุบันได้ด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดความหวั่นไหวไปตามกระแสสังคม โดยเฉพาะจากสื่อและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยมากมายที่ระบุว่าสติไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย เพราะสามารถช่วยลดภาวะความเครียด ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และในผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจจะมีการตอบสนองที่ดีขึ้นกับตัวโรค เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นเรื่องที่มาแรงในปีนี้” นพ.บุรินทร์ กล่าว 

ทั้งนี้ภายในงานการประชุมวิชาการมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ New Direction in CBT: Applied Mindfulness for Engaged Living by Dr.Ben Weinstein, Clinical Psychologist, สร้างสุขด้วยสติในองค์กร โดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, สติกับผู้สูงวัย...เพื่อการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดและเป็นสุข โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, จิตบำบัดกับวิถีวิปัสสนา โดย นพ.จำลอง ดิษยวณิช นอกจากนี้ยังมี Mindfulness and Wellbeing, สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น, วิกฤติและพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พร้อมสาระความรู้อีกมากมาย และ ไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้คือ การปาฐกถาพิเศษ “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” (Mindfulness for Healthy Lives) โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

นพ.บุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นบางทีอาจจะไม่ใช่ปัญหาโดยตัวปัญหา แต่ปัญหาคือความรู้สึกต่อปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา ซึ่งถ้าเปลี่ยนมุมมอง ปรับวิธีคิด วิธีการแสดงออกต่อปัญหา เช่น ไม่ใช้อารมณ์ มีสติยั้งคิดเป็นพื้นฐานในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามา จะได้ไม่เกิดความเครียดและส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งในการประชุมวิชาการครั้งนี้จะมีหัวข้อเกี่ยวกับการปลูกฝังและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในหลาย ๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงวัย ในองค์กรต่าง ๆ เช่น โรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล เป็นต้น

นอกจากประเด็นเรื่องสติแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาพัฒนาการเด็ก, ก้าวทันปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย, การปรับพฤติกรรมยุ่งยากซับซ้อนในเด็กออทิซึมและสติปัญญาบกพร่อง, โปรแกรมการฝึกสติเพื่อป้องกันโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่, ระบาดวิทยาปัญหาสุขภาพจิตในชายแดนใต้ การจัดการปัญหาของเด็กและวัยรุ่นชายแดนใต้, ภาวะฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจซึ่งจะมาอัพเดทให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟัง

โดยกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมการประชุมมีทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ซึ่งสามารถเลือกเข้าฟังในหัวข้อหรือประเด็นที่สนใจจาก 8 ห้องประชุม แบ่งเป็น ห้องต่างประเทศ 2 ห้อง และห้องภาษาไทย 6 ห้อง (ห้องเด็กและวัยรุ่น ห้องบริการ 2 ห้อง ห้องวิกฤติและนิติจิตเวช ห้องส่งเสริมป้องกัน และเวิร์คช็อปสติบำบัด)

“คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมประมาณ 400-500 คน ทั้งจากหน่วยบริการต่าง ๆ สังกัดต่าง ๆ อาทิ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน หรือกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงเดียวกัน รวมถึงกลุ่มใหม่ ๆ ที่ให้ความสนใจมาร่วมการประชุม เช่น ภาคส่วนการศึกษา หรือผู้ที่ทำงานในโรงเรียน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเชื่อมโยงงานจิตเวชเด็กกับโรงเรียน โดยเข้าไปทำงานและคัดกรองร่วมกับครู เป็นต้น” นพ.บุรินทร์ กล่าว   

ท้ายนี้ นพ.บุรินทร์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการจะได้รับว่า “นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจในการรักษา การป้องกัน และการฟื้นฟูแล้ว ยังจะได้เครือข่ายที่ทำงานในเรื่องเดียวกัน และถือเป็นอีกหนึ่งเวทีด้านผลงานวิชาการ เป็นตลาดวิชาการที่น่าสนใจ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมการประชุมวิชาการในครั้งนี้”

*** ลงทะเบียนและชำระเงินภายในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท

*** ลงทะเบียนหรือชำระเงินหลังจากวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ค่าลงทะเบียน 3,000 บาท

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://aimhc.net หรือโทรศัพท์ 0-2590-8177, 0-2590-8413