ไวรัสซิกา (Zika Virus)

ไวรัสซิกา (Zika Virus)

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

            การระบาดของโรคไข้เหลือง (yellow fever) ในปี ค.ศ. 1947 ทำให้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเกี่ยวกับโรคนี้ และทำให้สามารถแยกเชื้อไวรัสชนิดใหม่ออกมาได้เป็นครั้งแรกจากลิงวอก (rhesus macaque) ที่มาจากในป่าซิกาในประเทศยูกันดา ตลอดช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ไม่ปรากฏมีการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้อย่างชัดเจนจนกระทั่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื้อไวรัสซิกาได้ถูกนำเข้าไปในประเทศบราซิล กระจายไปทั่วหมู่เกาะแปซิฟิก และเข้ามาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อไวรัสซิกาส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และมีอุบัติการณ์สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและเตือนให้เฝ้าระวังโรคนี้ไปทั่วโลก

ไวรัสวิทยาของเชื้อไวรัสซิกา

            แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลด้านสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกาอย่างสมบูรณ์ แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะบอกได้ว่า ไวรัสชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดเริ่มต้นอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออก และค่อย ๆ มีการแพร่กระจายออกไปยังแอฟริกาตะวันตกไปจนถึงทวีปเอเชีย โดยในแต่ละแหล่งมีความแตกต่างทางด้านสายพันธุ์กันอยู่เล็กน้อย โดยแบ่งได้เป็น 3 สายพันธุ์คือ Nigerian cluster, MR766 cluster และ Asian genotype สำหรับเชื้อที่มีการระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบในเอเชียและประเทศไทย ทั้ง 3 สายพันธุ์แม้จะต่างกันแต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต เนื่องจากจะสามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ในคราวเดียว

ระบาดวิทยาของโรค

            ในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นปีที่มีการค้นพบไวรัสซิกานั้น เป็นการพบในยุง Aedes africanus โดยจัดไวรัสชนิดนี้อยู่ใน family Flaviviridae และในขณะนั้นแม้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าไวรัสชนิดนี้สามารถก่อโรคในคนได้ แต่จากการสำรวจในประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศยูกันดา พบว่ามีผู้ที่เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ร้อยละ 6.1 แสดงให้เห็นว่าไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้ สำหรับเขตประเทศอื่น ๆ ที่พบมีหลักฐานการกระจายของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ได้แก่ ประเทศอียิปต์ แอฟริกาตะวันออก ไนจีเรีย อินเดีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

            อาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา มีรายงานเป็นครั้งแรกในประเทศไนจีเรียในปี ค.ศ. 1953 ซึ่งยืนยันว่าทำให้เกิดอาการในผู้ป่วย 3 ราย โดยมีลักษณะอาการเป็นอาการไข้ที่ไม่รุนแรง และนับแต่นั้นมาอีก 57 ปี มีรายงานการติดเชื้อและป่วยจากการติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มขึ้นอีกเพียง 13 รายเท่านั้น จนกระทั่งมีการระบาดที่มาปรากฏชัดเจนในปี ค.ศ. 2007 ในหมู่เกาะไมโครเนเชียซึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากถึง 5,000 ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่เพียง 6,700 รายเท่านั้น

            ในช่วงปี ค.ศ. 2013-2014 ได้มีการระบาดของโรคนี้ขึ้นอีกในเขตโพลีเนเชียและทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วยราว 32,000 ราย โดยมีลักษณะอาการทางคลินิกต่าง ๆ คล้ายกับที่พบในผู้ป่วยที่พบในไมโครเนเชีย แต่พบมีรายงานการเกิดภาวะ Guillain-Barré syndrome (GBS) ร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย และในปีต่อมามีรายงานการระบาดเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น หมู่เกาะแปซิฟิก นิวคาลีโดเนีย หมู่เกาะอีสเตอร์ หมู่เกาะคุก ซามัว และแอฟริกันซามัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อกระจายในประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อีกด้วย

            ในประเทศบราซิล เริ่มต้นมีการระบาดของโรคในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 ในเมือง Bahia และภายในปีเดียวกันได้มีการกระจายของไวรัสชนิดนี้ไปยังอีกกว่า 14 รัฐทั่วประเทศ ประมาณการว่ามีผู้สงสัยที่จะติดเชื้ออยู่มากถึง 1.3 ล้านคน ส่วนในประเทศโคลัมเบีย เริ่มต้นมีการรายงานการระบาดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 มีผู้ติดเชื้อราว 50,000 คน และภายในปีต่อมาก็มีการรายงานการระบาดเกิดขึ้นใน 33 ประเทศที่อยู่โดยรอบ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกามีการตรวจพบไวรัสซิกาเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ปรากฏมีการระบาดเกิดขึ้นแล้ว

            ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 กลุ่มนักวิจัยจากประเทศบราซิล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนทารกที่มีความผิดปกติ คือมีกะโหลกศีรษะเล็กกว่าปกติ (microcephaly) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่ที่พบมีการติดเชื้อไวรัสซิกา และภายใน 6 เดือนต่อมาก็มีการรายงานภาวะ microcephaly เพิ่มขึ้นกว่า 4,300 ราย และเมื่อมีการศึกษาย้อนหลังกรณีของการระบาดในเขตโพลีเนเชียก็พบว่ามีภาวะนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

การติดต่อและกระจายเชื้อของไวรัสซิกา

         1. การติดต่อผ่านยุงเป็นพาหะ (Mosquito-borne transmission)

         ในเขตแอฟริกา วงจรการติดเชื้อที่พบเป็นการกระจายในลิงป่าชนิดต่าง ๆ ผ่านทางพาหะคือยุงลาย (aedes mosquitoes) แต่สำหรับในเขตเอเชีย การกระจายเชื้อในลักษณะดังกล่าวกลับไม่ปรากฏชัดเจน และยังไม่ทราบว่ามีรูปแบบการกระจายเป็นอย่างไร

            ในเขตเมืองและชานเมือง รูปแบบการกระจายของเชื้อเกิดขึ้นจากคนสู่คนโดยผ่านพาหะคือยุงลาย (human-mosquito-human transmission cycle) ยุงลายที่พบเป็นพาหะ ได้แก่ Aedes aegypti และ Aedes albopictus ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปในโลกเขตร้อน (tropical และ subtropical world) และพบในทุกประเทศที่มีการระบาดของไวรัสชนิดนี้ สำหรับในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ เปอร์โตริโก หมู่เกาะเวอร์จิน และฮาวาย ยุง A. aegypti มีลักษณะทางพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการระบาด เนื่องจากเป็นยุงที่ออกหากินในช่วงเวลากลางวัน ดูดเลือดหลายครั้งต่อการกินอาหารมื้อเดียวจึงมักจะกัดคนหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน มักจะอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ และยังทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บคันในขณะที่ถูกกัดน้อยมาก

            2. การติดต่อที่ไม่ผ่านยุงเป็นพาหะ (Non-mosquito transmission)

            การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ในปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลการศึกษาที่ปรากฏชัดมากขึ้นว่า ไวรัสซิกาสามารถติดต่อผ่านจากมารดาไปสู่ทารกในระหว่างตั้งครรภ์ (mother-to-fetus transmission) ได้ โดยมีการพบ RNA ของเชื้อไวรัสในน้ำคร่ำ (amniotic fluid) ของทารกที่มีความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด ทั้งที่ได้รับการวินิจฉัยในระหว่างตั้งครรภ์โดยการตรวจ ultrasonography และจากการตรวจเนื้อเยื่อสมองและรกในทารกที่เสียชีวิตหลังจากคลอด รวมถึงในรายที่เกิดการแท้งบุตร ปัจจัยที่มีผลต่อการติดต่อจากมารดาสู่ทารกนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

            การติดต่อในระยะปริกำเนิด (Peripartum transmission) มีรายงานการติดต่อของไวรัสซิกาที่เกิดขึ้นในระยะปริกำเนิดอยู่ 2 ราย ซึ่งมีการตรวจพบไวรัสในทารกทั้ง 2 ราย โดยทารกรายหนึ่งมีไข้และผื่นที่ไม่รุนแรงร่วมกับมีเกล็ดเลือดลดต่ำ (thrombocytopenia) และอีกรายหนึ่งไม่มีอาการผิดปกติ

            การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmission) ก็เป็นรูปแบบการติดต่อที่มีในรายงานเช่นเดียวกันโดยพบมีเชื้อไวรัสที่แบ่งตัวได้จำนวนมากในน้ำอสุจิ การติดต่ออาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ปรากฏอาการไม่นาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดต่อของเชื้อไวรัส ตลอดจนระยะเวลาที่สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสสามารถปรากฏในน้ำอสุจิได้นานสุดถึง 62 วัน ภายหลังจากที่ปรากฏอาการขึ้นแล้ว

            การติดต่อทางการให้เลือด (Transmission through blood transfusion) ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานการติดต่อของเชื้อไวรัสซิกาผ่านทางการให้เลือด แต่คาดว่าน่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม flaviviruses สามารถติดต่อผ่านทางนี้ได้ทั้งหมด และจากข้อมูลการตรวจสำรวจเลือดที่รับบริจาคมาในเขตโพลีเนเชีย โดยการตรวจ reverse-transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) ก็พบว่ามีเชื้อไวรัสซิกาในเลือดราวร้อยละ 3

            สำหรับการติดเชื้อช่องทางอื่น ๆ ที่มีในรายงาน ได้แก่ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นหลังจากที่ถูกลิงกัดในประเทศอินโดนีเซีย การติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการชันสูตร (laboratories) และมีรายงานอาสาสมัครเกิดการติดเชื้อขึ้นภายหลังจากทดลองใช้เนื้อสมองของหนูที่มีเชื้อฉีดเข้าในชั้นใต้ผิวหนัง เป็นต้น ส่วนการติดเชื้อผ่านทางน้ำนมมารดายังไม่ปรากฏมีรายงาน แต่มีการพบว่าในน้ำนมมารดาที่กำลังติดเชื้อมีปริมาณเชื้อไวรัสอยู่มากได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะอาการทางคลินิก
            1. อาการไข้เฉียบพลัน (Acute febrile illness)

            ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะฟักตัวของเชื้อ (incubation period) ของเชื้อไวรัสที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกันกับเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ในกลุ่ม flaviviruses ซึ่งมักจะน้อยกว่า 1 สัปดาห์ และในการทดลองกับอาสาสมัคร การฉีดเชื้อไวรัสเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังทำให้เกิดอาการไข้ภายใน 82 ชั่วโมงหลังฉีด และทำให้เกิดอาการอยู่นานประมาณ 4 วัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในไมโครเนเชีย ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายอาจไม่จำเป็นต้องเกิดอาการเสมอไป โดยอาจพบได้ราวร้อยละ 19 ของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อทั้งหมด อาการที่พบได้แก่ ผื่นผิวหนังลักษณะเป็นจุดหรือตุ่ม (maculopapular rash) (90%), ไข้ (65%), ข้ออักเสบหรือปวดข้อ (65%), ตาแดงชนิดไม่มีขี้ตาหรือหนอง (55%), ปวดกล้ามเนื้อ (48%), ปวดศีรษะ (45%), ปวดกระบอกตา (39%), อาการบวม (19%) และอาการคลื่นไส้ (10%) อาการที่เกิดขึ้นมักไม่รุนแรง ผื่นที่เกิดขึ้นมักจะคันแต่ไม่มาก และอาการไข้มักจะเป็นไข้ต่ำ ๆ และจากข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีรายใดที่อาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อาการอื่น ๆ ที่พบมีรายงาน ได้แก่ มีเลือดปนในน้ำอสุจิ (hematospermia) มีเสียงดังในหู อาการมือหรือข้อเท้าบวม และมีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous bleeding) เป็นต้น

            2. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Neurologic complications)

            มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อไวรัสซิกากับการเกิดภาวะ GBS เอาไว้ในช่วงที่เกิดการระบาดในเขตแปซิฟิกและในอเมริกา และเมื่อมีการระบาดในเขตโพลีเนเชียพบเกิดภาวะ GBS ในผู้ป่วย 38 รายจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 28,000 รายที่เข้ารับการรักษา ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ (odds ratio > 34) ส่วนภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่พบมีรายงาน ได้แก่ ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (acute myelitis) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningoencephalitis)

            3. ความผิดปกติในทารก (Adverse fetal outcomes)

            ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดในทารกในครรภ์จากการติดเชื้อไวรัสซิกานั้น ยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก แต่สามารถอาศัยตัวอย่างจากผลกระทบของการติดเชื้อ แต่การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ใช้ข้อมูลของการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น ไวรัสโรคหัด (rubella) หรือ cytomegalovirus การติดเชื้อไวรัสโรคหัดในมารดาขณะที่อายุครรภ์ยังน้อยกว่า 10 สัปดาห์ มีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ถึงร้อยละ 90 และความเสี่ยงจะค่อย ๆ ลดลงหากเป็นการติดเชื้อที่อายุครรภ์มากขึ้น และความเสี่ยงจะลดลงเหลือน้อยที่สุดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 18 สัปดาห์ไปแล้ว ความผิดปกติของทารกในครรภ์จากการติดเชื้อไวรัสโรคหัด ได้แก่ ประสาทการได้ยินผิดปกติ (sensorineural hearing loss), ต้อกระจก (cataract) และความผิดปกติทางตาอื่น ๆ ความผิดปกติของหัวใจและระบบประสาท เช่น สมองและศีรษะเล็กผิดปกติ หรือมีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ เป็นต้น ส่วนการติดเชื้อ cytomegalovirus สามารถทำให้เกิดความผิดปกติในทารกได้หลายอย่างเช่นเดียวกัน เช่น ประสาทการได้ยินผิดปกติ สมองและกะโหลกศีรษะเล็กผิดปกติ พัฒนาการทางสมองผิดปกติ และสมองพิการ (cerebral palsy) เป็นต้น ความผิดปกติเหล่านี้จะพบได้มากหากเป็นการติดเชื้อในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และแม้ว่าความเสี่ยงจะค่อย ๆ ลดลงหากเป็นการติดเชื้อที่อายุครรภ์มากขึ้น แต่ความเสี่ยงยังคงปรากฏอยู่ มีรายงานความผิดปกติของทารกที่ได้รับเชื้อภายหลังจากที่คลอดแล้วว่าสามารถเกิดความผิดปกติของสมองและระบบประสาทได้ด้วย

            ภาวะสมองและศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) หมายถึงความผิดปกติในทารกที่มีลักษณะทางคลินิกคือ มีขนาดของศีรษะที่เล็กกว่าอายุครรภ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติของการเจริญพัฒนาเนื้อเยื่อสมองของทารก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ให้คำจำกัดความของภาวะ microcephaly เอาไว้ว่าเป็นความผิดปกติที่มีเส้นรอบวงของศีรษะ occipitofrontal circumference น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3 ของค่าทั่วไปที่พบในอายุครรภ์และทารกเพศนั้น สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ความชุกของภาวะนี้อยู่ที่ 6 รายต่อการเกิดรอดชีวิต 10,000 ราย (ค่าระหว่าง 2-12 รายต่อ 10,000 ราย)

            ภาวะสมองและศีรษะเล็กผิดปกติเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของการเจริญพัฒนาของเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งส่งผลทำให้กะโหลกศีรษะที่จะเจริญพัฒนาตามนั้นหยุดลงตามไปด้วย สำหรับในกรณีที่เป็นจากการติดเชื้อไวรัสซิกา มีหลักฐานชัดเจนจากการตรวจพบ RNA ของเชื้อไวรัสซิกาในน้ำคร่ำ ในเนื้อเยื่อสมองของทารกที่เสียชีวิต และการตรวจพบเชื้อไวรัสในมารดาที่คลอดบุตรที่มี microcephaly ความผิดปกติของการเจริญพัฒนานี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ โดยมีความเสี่ยงมากที่สุดในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (ราว 7-13 สัปดาห์) ไปจนถึงช่วงท้าย ๆ ของไตรมาสที่ 2 (ประมาณ 18 สัปดาห์) หรือต้นไตรมาสที่ 3 ซึ่งจากการตรวจวินิจฉัยในครรภ์ด้วย ultrasonography สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ราวร้อยละ 29

            ความพิการทางตา (ocular anomalies) เป็นความผิดปกติอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในทารกที่ติดเชื้อไวรัสซิกา และมักจะพบร่วมกับความผิดปกติของ microcephaly โดยจากการศึกษาในประเทศบราซิลพบความพิการทางตาร่วมด้วยถึงร้อยละ 35 (จำนวน 10 ราย จากทั้งหมด 29 ราย) ลักษณะความผิดปกติที่พบ ได้แก่ focal pigment mottling, chorioretinal atrophy และความผิดปกติของเส้นประสาทตาต่าง ๆ (optic nerve abnormalities) เช่น hypoplasia, severe cupping ของ optic disk, foveal reflex loss, macular neuroretinal atrophy, lens subluxation และ iris coloboma เป็นต้น          

การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสซิกา

            วิธีการวินิจฉัยมาตรฐานสำหรับการติดเชื้อไวรัสซิกาคือ การตรวจหาสาร nucleic acid ของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิด IgM antibody ด้วยวิธี IgM-capture enzyme-linked immunosorbent assay (MAC-ELISA)

  • การตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจที่ทำให้สามารถได้ definite diagnosis แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือดให้ตรวจได้มักจะค่อนข้างสั้น โดยจะพบได้มากที่สุดภายใน 1 สัปดาห์หลังจากเริ่มปรากฏอาการ หลังจากนั้นแล้วแม้จะยังสามารถตรวจพบได้จนถึง 10 สัปดาห์ (ตามข้อมูลของการตรวจพบให้ผลบวกในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัส) แต่ปริมาณเชื้อก็มีน้อยมากและมีโอกาสให้ผลตรวจที่เป็นลบได้ ดังนั้น จึงควรทำการตรวจภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่เริ่มเกิดอาการจึงจะช่วยทำให้โอกาสในการตรวจพบสูงสุด
  • การตรวจหา IgM antibody ด้วยวิธี MAC-ELISA ในปัจจุบันยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาที่จะสามารถตรวจพบ IgM ที่แน่นอน แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าน่าจะสามารถตรวจพบตั้งแต่ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากเริ่มปรากฏอาการ ไปจนถึงหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน

            เมื่อพิจารณาถึงลักษณะและข้อจำกัดของการตรวจทั้ง 2 วิธีแล้ว จึงอาจสรุปได้ว่า การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ภายในสัปดาห์แรก และการตรวจ IgM ด้วยวิธี MAC-ELISA ภายหลังจากสัปดาห์แรกไปแล้ว หรือเมื่อผลการตรวจ RT-PCR ให้ผลเป็นลบ จึงเป็นวิธีการตรวจที่ให้ผลในการวินิจฉัยแม่นยำสูงสุด

            แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อเชื้อไวรัสซิกานั้น อาจมีปฏิกิริยาข้าม (cross-reactivity) ไปยังเชื้อไวรัสชนิดอื่นในกลุ่ม flavivirus เช่นเดียวกันได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้ผลการตรวจ MAC-ELISA ที่ทดสอบการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) เป็นบวกได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการวินิจฉัยได้ กรณีนี้อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี plaque reduction neutralization test (PRNT) ซึ่งสามารถใช้ในการแยกระหว่างไวรัสแต่ละชนิดในกลุ่มนี้ได้ แต่เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้มีความซับซ้อน ใช้เวลาและทรัพยากรมาก และไม่สามารถทำการตรวจได้โดยทั่วไป ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงอาจสรุปว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา (presumptive recent Zika virus infection) หากผลการตรวจ MAC-ELISA ต่อเชื้อไวรัสซิกาให้ผลบวก และ MAC-ELISA ต่อเชื้อเดงกีให้ผลลบ

            มีข้อมูลรายงานเกี่ยวกับการพบ RNA ของเชื้อไวรัสซิกาในปัสสาวะได้ภายหลังจากที่ไม่พบเชื้อในเลือดแล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะสามารถทำการตรวจ RT-PCR ในปัสสาวะของผู้ป่วยที่ผลการตรวจเลือดแล้วไม่พบได้ แต่เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจลักษณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น จึงอาจจะยังต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

            สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อของทารกในครรภ์ทั้ง prenatal และ antenatal Zika virus infection นั้นยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ออกมาชัดเจนว่าวิธีการใดให้ผลการตรวจดีที่สุด จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสามารถทำการตรวจ RT-PCR ของเชื้อจากน้ำคร่ำได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความไว (sensitivity) ของการทดสอบนี้ออกมาชัดเจน ส่วนวิธีการตรวจอื่น ๆ ที่อาจจะสามารถทำได้ ได้แก่ การตรวจ RT-PCR และ MAC-ELISA ของเชื้อจาก cord blood เมื่อทารกคลอดแล้ว หรือการตรวจจากเนื้อเยื่อของทารกหากเกิดการแท้งหรือทารกเสียชีวิตภายหลังการคลอด เป็นต้น

            สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์โดยเฉพาะการตรวจพบ microcephaly นั้น อาจตรวจพบได้ตั้งแต่ตอนอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ แต่เนื่องจากความไวของการตรวจวินิจฉัยนั้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเครื่องและความชำนาญของผู้ตรวจ รวมถึงในบางกรณีความผิดปกติอาจไม่ปรากฏตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ก็ได้ ดังนั้น ความไวของการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในทารกอาจจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วยก็มีส่วนช่วยเพิ่มความไวและความแม่นยำในการวินิจฉัยได้ ความผิดปกติที่อาจพบร่วมด้วยในกรณีที่เกิดการติดเชื้อไวรัสซิกาในทารก ได้แก่ absent corpus callosum, hydranencephaly, cerebral calcification, ventricular dilatation, brain atrophy, abnormal gyration, hydrops fetalis, anhydramnios และ intrauterine growth retardation (IUGR)     

การรักษา ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรค

            การรักษาโรคติดเชื้อจากไวรัสซิกานั้น มีความคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม flavivirus ชนิดอื่น ๆ คือ ให้การรักษาตามอาการสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรค ได้แก่

            1. การควบคุมประชากรของยุงลาย ได้แก่ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การพ่นหมอกควันกำจัดยุง และการกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยมากแล้ววิธีการควบคุมประชากรยุงมักจะได้ผลค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านความร่วมมือของผู้อยู่อาศัยและรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในชุมชน

            2. การป้องกันไม่ให้ยุงกัด ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด การใช้ยาฉีดพ่นหรือยาทากันยุง ใช้สาร permethrin ในเสื้อผ้า กางมุ้งหรือใส่มุ้งลวด และใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

            3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อหรือได้รับเชื้อ

           

บทสรุป

            การติดเชื้อไวรัสซิกามีอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่สามารถรายงานออกมาได้แน่ชัด เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการน้อยมากหรือมีอาการไม่จำเพาะ รวมไปถึงกระบวนการตรวจวินิจฉัยยังไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด จึงอาจทำให้สถิติที่ได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง การเฝ้าระวังและสังเกตรูปแบบการเกิดโรคและการระบาดจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น การวินิจฉัยด้วยวิธีการต่าง ๆ ในผู้ป่วยที่ปรากฏอาการเข้าได้กับการติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถวางแผนในการรักษา ป้องกัน และควบคุมการระบาดได้ และถึงแม้การรักษาในปัจจุบันจะมีเพียงการดูแลรักษาตามอาการ แต่กลุ่มประชากรที่ต้องให้ความสำคัญและต้องดูแลมากเป็นพิเศษก็คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงไปยังทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะความพิการทางสมองแต่กำเนิด เช่น microcephaly และความผิดปกติอื่น ๆ

References

  1. Simpson DI. Zika virus infection in man. Trans R Soc Trop Med Hyg 1964;58:335-8.
  2. Duffy MR, Chen T-H, Hancock WT, et al. Zika virus outbreak on Yap Island, Federated States of Micronesia. N Engl J Med 2009;360:2536-43.
  3. Cao-Lormeau VM, Roche C, Teissier A, et al. Zika virus, French Polynesia, South Pacific, 2013. Emerg Infect Dis 2014;20:1085-6.
  4. Rapid risk assessment: Zika virus infection outbreak, French Polynesia. Stockholm: European Centre for Disease Prevention and Control, February 14, 2014 (http://ecdc.europa.eu/en/publications/Publications/Zika-virus-French-Polynesia-rapid-risk-assessment.pdf).
  5. Mallet H-P, Vial A-L, Musso D. Bilan de L’épidémie a virus Zika en Polynésie Française, 2013-2014. May 2015 (http://www.hygiene-publique.gov.pf/IMG/pdf/no13-mai_2015-zika.pdf).
  6. Oehler E, Watrin L, Larre P, et al. Zika virus infection complicated by Guillain-Barré syndrome-case report, French Polynesia, December 2013. Euro Surveill 2014;19(9).
  7. Dupont-Rouzeyrol M, O’Connor O, Calvez E, et al. Co-infection with Zika and dengue viruses in 2 patients, New Caledonia, 2014. Emerg Infect Dis 2015;21:381-2.
  8. Tognarelli J, Ulloa S, Villagra E, et al. A report on the outbreak of Zika virus on Easter Island, South Pacific, 2014. Arch Virol 2016;161:665-8.
  9. Roth A, Mercier A, Lepers C, et al. Concurrent outbreaks of dengue, chikungunya and Zika virus infections — an unprecedented epidemic wave of mosquito-borne viruses in the Pacific 2012-2014. Euro Surveill 2014;19(41).
  10. Buathong R, Hermann L, Thaisomboonsuk B, et al. Detection of Zika virus infection in Thailand, 2012-2014. Am J Trop Med Hyg 2015;93:380-3.
  11. Tappe D, Rissland J, Gabriel M, et al. First case of laboratory-confirmed Zika virus infection imported into Europe, November 2013. Euro Surveill 2014;19(4).
  12. Tappe D, Nachtigall S, Kapaun A, Schnitzler P, Günther S, Schmidt-Chanasit J. Acute Zika virus infection after travel to Malaysian Borneo, September 2014. Emerg Infect Dis 2015;21:911-3.
  13. Heang V, Yasuda CY, Sovann L, et al. Zika virus infection, Cambodia, 2010. Emerg Infect Dis 2012;18:349-51.
  14. Alera MT, Hermann L, Tac-An IA, et al. Zika virus infection, Philippines, 2012. Emerg Infect Dis 2015;21:722-4.