ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดประชุมวิชาการ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL 2016 ชูธีม “SET STANDARD GET STANDARD”

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดประชุมวิชาการ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL 2016 ชูธีม “SET STANDARD GET STANDARD”

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมวิชาการ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL 2016 ชูธีม “SET STANDARD GET STANDARD” ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและเสริมสร้างความรู้ใหม่ในทางเวชปฏิบัติแก่สูตินรีแพทย์ แพทย์ทั่วไป บุคลากรอื่นที่สนใจ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ โดยอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

 

รศ.พญ.ธาริณี แม่นชนะ เลขานุการและคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL 2016 กล่าวว่า ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดการประชุมวิชาการ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 15 โดยการประชุมได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มมากขึ้นทุกปี สำหรับ OB&GYN UPDATE&PRACTICAL 2016 ครั้งนี้จะเป็นการอัพเดทความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภายใต้ธีม “SET STANDARD GET STANDARD” 

“ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ เราจึงมีความพยายามที่อยากจะสร้างมาตรฐาน (SET STANDARD) เพื่อเป็นแนวทางเวชปฏิบัติแก่สูตินรีแพทย์และแพทย์ทั่วไปทั่วประเทศ โดยทางคณะกรรมการจัดการประชุมมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปใช้สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อให้เกิดมาตรฐานต่อไป (GET STANDARD)” รศ.พญ.ธาริณี กล่าว  

สำหรับหัวข้อการประชุม รศ.พญ.ธาริณี กล่าวว่า หัวข้อการประชุมจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีความครอบคลุมหัวข้อวิชาการทั้งด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้แก่

ด้านสูติศาสตร์

- Update standard care for Zika virus and pregnancy

- Standard guidance for breast feeding: Minimal effort for maximal effect 

- How to prevent adverse obstetric outcomes: Standard and beyond

- How to minimize the delay of immunity development in C-section infants

         - Management of GERD in pregnancy

- Atypical extrauterine pregnancy: Updated standard care

ด้านนรีเวชวิทยา

- Dienogest: Long term management of endometriosis

- Novel approach for contraceptive options: Focusing on efficacy & safety

- Raloxifene use in clinical practice: Sustained efficacy & long term use

- Obesity and women’s health

         - New Frontier in the prevention and treatment of bacterial overgrowth

         - Prophylactic salpingectomy: Standard practice?

         - Selection of standard markers for ovarian tumor

         - Healthcare standards for women from puberty to menopause

“หัวข้อที่หยิบยกมาไม่ได้เป็นเรื่องที่ลงลึกมาก เพราะต้องการให้เป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วไปควรจะต้องรับทราบด้วย โดยทางด้านสูติศาสตร์ เช่น ไวรัสซิกาซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจเพราะส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์, ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งสูตินรีแพทย์ถือเป็นด่านหน้าในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว, สืบเนื่องจากปัญหาการฟ้องร้องทางสูติ-นรีเวชวิทยาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน การประชุมครั้งนี้จึงได้รวบรวมภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการป้องกันไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ส่วนทางด้านนรีเวชวิทยามีความน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น มะเร็งนรีเวชอย่างมะเร็งรังไข่ ในฐานะสูตินรีแพทย์ เมื่อคนไข้มาด้วยก้อนที่รังไข่จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้ทราบได้ว่าคนไข้รายนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน และควรจะทำการส่งตรวจเลือดอะไรบ้าง, ความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ มากมายและมีภาวะใดบ้างที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้หญิง การป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ จนกระทั่งถึงวัยทองว่าจะมีแนวทางการดูแลผู้หญิงเหล่านี้อย่างไรในช่วงอายุที่แตกต่างกัน” รศ.พญ.ธาริณี กล่าว  

ถามถึงไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ รศ.พญ.ธาริณี กล่าวว่า ไฮไลท์คือ เรื่องทั้งหมดของการประชุม เพราะในเนื้อหาแต่ละส่วนนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำไปใช้ได้จริงในเวชปฏิบัติ ซึ่งนอกจากหัวข้อการประชุมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกหัวข้อที่สนใจจากทั้งหมด 4 หัวข้อ ดังนี้ 

1. Standard practice for abnormal cervical cytology and abnormal colposcopic findings

2. Reaching standard for intrapartum fetal monitoring 

3. Menopause grand round

4. Critical care standard in Ob&Gyn

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้คือ งานคืนสู่เหย้าสำหรับสูตินรีแพทย์ที่จบจากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่ปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมสถาบันซึ่งเป็นเสมือนบ้าน มาคารวะอาจารย์อาวุโส และพบปะสังสรรค์กัน

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายหลักของการประชุมซึ่งนอกจากจะเป็นสูตินรีแพทย์และแพทย์ทั่วไปทั่วประเทศแล้ว ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในการดูแลรักษาคนไข้ทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยา คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนไม่ต่ำกว่า 400 คน โดยจะได้ทบทวนและเสริมสร้างความรู้ใหม่จากวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับ CME Credit 18 หน่วยกิตอีกด้วย

รศ.พญ.ธาริณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในแง่เทคโนโลยีการตรวจรักษา ยา รวมถึงหลักฐานทางวิชาการต่าง ๆ การประชุมวิชาการครั้งนี้จะได้ทบทวนและเสริมสร้างความรู้ใหม่ในทางเวชปฏิบัติ เพื่อให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นหัวข้อที่ไม่ได้ลึกเกินกว่าที่ทุกคนจะเอื้อมถึง และค่อนข้างเป็นเรื่องใกล้ตัว

“คณะกรรมจัดการประชุมมีความคาดหวังเหมือนเช่นทุกปี คือให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ประโยชน์จากหัวข้อต่าง ๆ และสามารถนำกลับไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ให้ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัยมากที่สุด ไม่เฉพาะสูตินรีแพทย์เท่านั้น แต่รวมถึงแพทย์ทั่วไปที่สนใจที่ควรจะต้องมีความรู้ในการวินิจฉัยเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมหากคนไข้ต้องได้รับการส่งต่อไปยังสูตินรีแพทย์ เราพยายาม SET STANDARD สำหรับการดูแลรักษาตามหัวข้อที่ได้หยิบยกมาพูดกันในปีนี้ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน GET STANDARD และนำกลับไปใช้ได้จริง” รศ.พญ.ธาริณี กล่าวทิ้งท้าย   

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2256-4288, 0-2256-4000 ต่อ 2074, 08-9105-5933 โทรสาร 0-2251-9933 E-mail: sasikaew@hotmail.com, obgyn.update@gmail.com หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.md.chula.ac.th, www.cu-obgyn.com