ฮีโร่

ฮีโร่

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
โรงพยาบาลนครธน

บ่ายวันหนึ่งในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลวชิระ มีผู้ป่วยมารับบริการกันอย่างแออัด

ทันใดนั้นมีผู้ป่วยชายรายหนึ่งอายุ 56 ปี นอนในเปลที่ถูกเข็นเข้ามาในห้องกู้ชีพ พร้อมกับลูกสาววัยรุ่น 2 คน เดินตามมา

ผู้ป่วยชายรายนี้มาด้วยอาการหอบเหนื่อยกะทันหันและหายใจไม่ออก ลูกสาวจึงโทรศัพท์ตาม 1669 เพื่อให้รถพยาบาลไปรับมาส่งโรงพยาบาล

แรกรับพบว่าผู้ป่วยชายผอมแห้งมาก และเจาะคอช่วยหายใจอยู่ ตรวจแล้วพบว่าออกซิเจนในเลือดต่ำมาก เบื้องต้นทีมแพทย์ฉุกเฉินได้ต่อท่อเจาะคอเข้ากับ ambu bag โดยให้พยาบาลบีบช่วยหายใจไปก่อน

เมื่ออาการของผู้ป่วยทุเลาแล้ว จึงเริ่มซักประวัติจากญาติ

ลูกสาวให้ประวัติว่า บิดาเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้ายและลามมากดทางเดินหายใจ จนต้องทำการเจาะคอช่วยหายใจมาสัก 2-3 เดือนแล้ว ทุกคนในบ้านรวมทั้งผู้ป่วยเองทราบว่าพยากรณ์โรคไม่ดีและเตรียมใจมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันผู้ป่วยยังคงมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อให้การรักษาตามอาการ แต่วันนี้ผู้ป่วยหายใจไม่ได้และดิ้นทุรนทุรายมาก ญาติทนเห็นผู้ป่วยทรมานไม่ไหว จึงตัดสินใจพามาโรงพยาบาล

เนื่องจากไม่สามารถบีบ ambu bag เพื่อให้ออกซิเจนในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้น ทีมแพทย์ฉุกเฉินจึงปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อมาส่องกล้องตรวจดูทางเดินหายใจ

แพทย์ได้ส่องกล้องตรวจหลอดลมแล้วก็พบว่าหลอดลมช่วงบนตีบเล็กน้อย ซึ่งหลอดลมตีบเล็กน้อยแค่นี้ก็ไม่น่าทำให้ผู้ป่วยหอบเหนื่อยมากขนาดนี้ได้ อย่างไรก็ดี แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ไม่ชำนาญในการส่องกล้องเข้าไปดูในปอด ดังนั้น จึงต้องทำการปรึกษาอายุรแพทย์มาร่วมดูแล

หลังจากการตรวจร่างกายแล้ว อายุรแพทย์ก็อธิบายว่าอาจเป็นจากโรคมะเร็งที่กระจายมาที่ปอดมากแล้วก็ได้ ซึ่งขณะนี้การบีบ ambu bag ก็ไม่สามารถทำให้ออกซิเจนในเลือดสูงขึ้นได้ แสดงว่าปอดคงแย่แล้ว

ดังนั้น จึงได้ปรึกษาญาติว่าจะทำการรักษาแก่ผู้ป่วยอย่างไรดี เพราะถ้าต้องการให้การรักษาเต็มที่ก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปทางปากแทน

ลูกสาว 2 คน ปรึกษากันและโทรศัพท์ไปถามทางบ้าน แล้วกลับมาแจ้งว่าให้รักษาตามอาการและไม่ต้องการให้ผู้ป่วยทรมาน ดังนั้น ทีมจึงเลือกตัดสินใจที่จะให้การรักษาตามอาการด้วยการเริ่มให้ยามอร์ฟีนเข้าเส้นเลือดเพื่อทำให้ผู้ป่วยสงบและไม่ทรมานมากนัก เพราะคิดว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้ายแล้ว

แพทย์เริ่มต่อท่อเจาะคอเข้ากับเครื่องช่วยหายใจ ระหว่างปรับเครื่องช่วยหายใจนั้น ผู้ป่วยดิ้นทุรนทุรายเพราะขาดออกซิเจนแบบคนหายใจไม่ออกอย่างทรมาน แม้ผู้ป่วยจะทราบพยากรณ์โรคแล้วก็ตามแต่ก็ไม่สามารถทนทรมานต่อภาวะขาดออกซิเจนได้ ซึ่งอายุรแพทย์ต้องตัดสินใจตั้งเครื่องช่วยหายใจให้จนเกินขีดจำกัดซึ่งเสี่ยงต่อปอดแตกได้ จึงทำให้ออกซิเจนในเลือดสูงมากพอและผู้ป่วยสงบลงได้ชั่วระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นเอกซเรย์ปอดก็แจ้งผลออกมาว่าปอดข้างซ้ายแฟบหายไปทั้งปอด ซึ่งทีมแพทย์คิดว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือเสมหะไปอุดหลอดลมก็ได้ ซึ่งควรส่องกล้องตรวจหลอดลมโดยอายุรแพทย์ทางเดินหายใจ เพราะถ้าเป็นเสมหะอุดหลอดลมแล้ว แค่ส่องกล้องไปดูดเสมหะก็ทำให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติทันที แต่ถ้าเป็นก้อนมะเร็งไปอุดหลอดลมก็คงทำอะไรไม่ได้

แต่เนื่องจากวันนั้นเป็นวันหยุดราชการ และห้องส่องกล้องหลอดลมของโรงพยาบาลปิดทำการ ดังนั้น ทีมแพทย์จึงครุ่นคิดกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะส่องกล้องหลอดลมนอกเวลาราชการได้

“เวลาส่องกล้องหลอดลมต้องเข้าไปทำในห้องหัตถการของหน่วยโรคปอด ต้องโทรศัพท์ตามอาจารย์แพทย์ระบบทางเดินหายใจและต้องตามผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องจากบ้านเพื่อมาช่วยทำหัตถการ ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยากเพราะเป็นวันเสาร์ ดังนั้น น่าจะให้ผู้ป่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบนี้ไปก่อนดีกว่าเพื่อรอวันจันทร์”

แพทย์อีกคนหนึ่งพูดสนับสนุนขึ้นมาว่า “จริงด้วยสิ ยิ่งถ้าเป็นมะเร็งอุดหลอดลม การส่องกล้องก็ไม่ช่วยรักษาอะไรได้ และตอนนี้เราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรอุดหลอดลมแน่”

แพทย์อีกรายหนึ่งไม่เห็นด้วยและกล่าวว่า “แต่เครื่องช่วยหายใจนี้ตั้งการช่วยเหลือไว้สูงมากจนเสี่ยงต่อปอดแตกได้ แต่ถ้าไม่ตั้งเครื่องช่วยให้สูงมากก็จะไม่มีลมไปช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยได้เพียงพอ ถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ก็อาจเกิดปอดแตกขึ้นช่วงใดก็ได้ ซึ่งทำให้ต้องมารักษาภาวะแทรกซ้อนใส่ท่อระบายลมจากทรวงอกอีก ผู้ป่วยก็เจ็บเพิ่มน่ะสิ”

แพทย์รายเดิมกล่าวเสริมขึ้นอีกว่า “ผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้ายแล้ว ทั้งผู้ป่วยและญาติก็เตรียมใจอยู่แล้ว น่าจะยอมรับได้ต่อการต่อเครื่องช่วยหายใจ แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนหรือปอดแตกก็ค่อยมาคิดกันอีกที”

“แม้ผู้ป่วยจะทำใจได้แล้ว แต่ตอนที่ขาดออกซิเจนก็ทรมานมาก แม้เขาจะพยายามสะกดกลั้นและดิ้นโวยวายให้น้อยที่สุด แต่ตอนเราปรับจากการบีบ ambu bag มาต่อเครื่องช่วยหายใจช่วงแรก ซึ่งผู้ป่วยขาดออกซิเจนแค่ช่วงสั้น ๆ ก็พบว่าผู้ป่วยดิ้นทุรนทุรายและควานหาแต่จะให้ใช้ ambu bag อย่างน่าสงสาร”

“งั้นลองปรึกษาอาจารย์แพทย์ระบบทางเดินหายใจไหม ดูสิว่าอาจารย์จะตัดสินใจอย่างไรดี”

“แล้วไม่เป็นการรบกวนเหรอ วันนี้เป็นวันหยุดนะ”

“ไม่หรอก สำหรับอาจารย์สันติ ถ้ามีอะไรที่ช่วยผู้ป่วยได้ อาจารย์ทำให้ทุกอย่างอยู่แล้ว”

“ตกลงเรามาโทรศัพท์ตามอาจารย์กันเถอะ แล้วรอให้อาจารย์ตัดสินใจเองเถอะ”

หลังจากนั้นทีมแพทย์จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งอาจารย์สันติ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจทราบ

อาจารย์แจ้งว่าจะเข้ามาดูผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินภายใน 30 นาที

ในเวลาไม่นาน อาจารย์ก็มาถึงพร้อมกับหิ้วกระเป๋าดำใบใหญ่มาด้วย พอเปิดออกก็พบว่าเป็นกล้องส่องหลอดลมแบบกะทัดรัด

อาจารย์บอกว่า…มีผู้ป่วยรายหนึ่งซื้อให้อาจารย์ในราคา 7 แสนบาท เพื่อให้ทำการช่วยเหลือผู้ป่วย

อาจารย์เริ่มประกอบอุปกรณ์กล้องส่องหลอดลมเอง จากนั้นก็เริ่มสอดกล้องเข้าไปทางท่อเจาะคอของผู้ป่วย พร้อมกับให้พยาบาลในห้องฉุกเฉิน 1 คนช่วยดูดเสมหะให้ระหว่างทำหัตถการ ดูแล้วก็เป็นหัตถการที่ง่ายและกระชับเวลามาก ไม่เหมือนกล้องอันใหญ่ที่ติดตั้งในห้องส่องกล้องของหน่วยทางเดินหายใจซึ่งต้องใช้ผู้ช่วยเหลือหลายคน

หลังจากนั้นก็เริ่มทำการดูดเสมหะจนกระทั่งผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ต่อมาก็เริ่มถอดเครื่องช่วยหายใจทุกอย่างออกจากผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยกลับมาหายใจได้เป็นปกติดังเดิม จนกระทั่งในที่สุดผู้ป่วยก็กลับบ้านได้

เมื่อทีมแพทย์ทุ่มเทต่อการรักษา ก็สามารถพลิกฟื้นชีวิตขึ้นให้รอดจากความตายได้

ผู้ป่วยคงรู้สึกว่าเป็นอีกวันที่เขาสามารถผ่านพ้นวิกฤติและสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีก

แม้ผู้ป่วยจะทำใจยอมรับว่าในที่สุดเขาย่อมพ่ายแพ้ต่อมะเร็งร้ายและจากโลกนี้ไป แต่เมื่อเขาพบกับความทรมานอย่างที่สุดก็ย่อมทนไม่ได้

ญาติคงรู้สึกดีใจที่ยังได้ใช้ชีวิตร่วมกันไปอีกวัน ก่อนที่จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทรมานใจในอนาคตอีกเมื่อไรก็ไม่อาจรู้ได้

ภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทุ่มเทนั้นย่อมเป็นแบบอย่างให้แก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านเป็นอย่างดี

ประดุจดัง…ฮีโร่ที่มาช่วยต่อลมหายใจให้แก่ผู้ป่วยในวันนั้น

ฮีโร่ในทางการแพทย์ย่อมสร้างความประทับใจให้แก่กลุ่มแพทย์ จนเกิดเป็นแบบอย่างให้คนเดินตาม หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “role model”

ฮีโร่ในวันนั้นก็คือ อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช