การเย็บแผลผ่าตัด และ การใช้กาวติดเนื้อเยื่อ

การเย็บแผลผ่าตัด และ การใช้กาวติดเนื้อเยื่อ   

นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล

            การผ่าตัดเป็นกระบวนการในการรักษาโรคโดยการตัดเนื้อเยื่อก่อโรคออก ตัดต่อ เปลี่ยนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเข้าไปแทนเนื้อเยื่อที่เป็นโรคหรือเสื่อมสภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ได้เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามากขึ้น เดิมการปิดแผลผ่าตัดใช้การเย็บแผลเท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น เริ่มมีการใช้วัสดุอื่นมาเพื่อปิดแผลผ่าตัดมากขึ้น โดยเทคนิคการปิดแผลผ่าตัดที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ การเย็บด้วยไหมเย็บแผล (suture) ทั้งแบบไม่ละลายและแบบละลายได้ และการใช้ลวดเย็บแผล (staple) ซึ่งถึงแม้ว่าจะสามารถทำงานได้ดีก็ยังพบปัญหาในการใช้บ้าง การใช้ไหมเย็บแผลจะต้องใช้เวลาในการทำงานมาก ถึงแม้ว่าการใช้ลวดเย็บจะสามารถลดเวลาได้ แต่ทั้ง 2 วิธีนั้นจะมีการทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียงบาดแผลจากการเจาะทะลุของเข็ม ไหมเย็บแผล หรือลวดเย็บ และยังไม่มีประสิทธิภาพในการกันน้ำได้ในทันทีภายหลังการเย็บแผล นอกจากนี้ยังทำงานได้ค่อนข้างยากและลำบากในบริเวณพื้นที่จำกัด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

            กาวติดเนื้อเยื่อ (tissue adhesive) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการยึดติดเนื้อเยื่อเข้าด้วยกันให้มีความสะดวกมากขึ้น ใช้เวลาไม่มาก โดยกาวประเภทนี้อาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มไซยาโนอะคริเลต ซึ่งเป็นกาวองค์ประกอบเดียว มีลักษณะเป็นของเหลวมอนอเมอร์ที่เมื่อทาลงบนเนื้อเยื่อแล้วจะทำปฏิกิริยากับความชื้นบนเนื้อเยื่อแล้วเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชั่นเปลี่ยนเป็นแข็งเพื่อยึดติดเนื้อเยื่อเข้าด้วยกันภายในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม กาวชนิดนี้ยังมีข้อด้อยคือ องค์ประกอบของกาวนั้นยังแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื่อ ถึงแม้ว่าจะมีระดับที่ลดลงมาโดยลำดับจากการพัฒนาสูตรและส่วนผสมทางเคมีของกาว นอกจากนี้ยังแสดงการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่สม่ำเสมอเนื่องจากต้องการความชื้นจากเนื้อเยื่อในการกระตุ้นการเกิดปฏิกิริยา และเมื่อทาลงไปแล้วจะเปลี่ยนตำแหน่งการใช้งานใหม่ได้ยากเนื่องจากปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้มักจะไม่สามารถใช้งานหรือมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อสัมผัสกับเลือดและในบริเวณเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องมีการเคลื่อนไหว  2. กาวไฟบริน เป็นกาวที่เลียนแบบกลไกการแข็งตัวของเลือด โดยจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ ไฟบริโนเจน/แฟคเตอร์ XIII และทรอมบิน ซึ่งเมื่อผสมองค์ประกอบ 2 ส่วนเข้าด้วยกันจะทำให้ไฟบริโนเจนเปลี่ยนแปลงเป็นไฟบรินและเชื่อมขวางแข็งตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ข้อด้อยของกาวประเภทนี้คือ ต้องมีการจัดเก็บเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้ยุ่งยากและต้องเสียเวลาเตรียมการก่อนการใช้งาน มีความแข็งแรงค่อนข้างต่ำ โดยส่วนใหญ่แล้วกาวไฟบรินนี้มักถูกใช้เป็นซีลแลนท์หรือวัสดุอุดในการห้ามเลือดมากกว่าการใช้เป็นกาวหรือวัสดุยึดติดเนื้อเยื่อ

            จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ในฐานข้อมูล Cochrane เกี่ยวกับการใช้ tissue adhesive โดยนำผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมาศึกษาการปิดแผลโดยการใช้การเย็บแบบเดิม และการใช้กาวติดเนื้อเยื่อ พบว่ากาวติดเนื้อเยื่อมีความสะดวกในการใช้มากกว่าการเย็บแผลผ่าตัดแบบเดิม แต่พบอัตราแยกของแผลที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ใช้กาวติดเนื้อเยื่อ อาจเนื่องจากแรงตึงที่แผลผ่าตัดมีมาก ยังต้องการการพัฒนาที่มากขึ้นให้สามารถทนน้ำ ทนเลือด มีแรงยึดติดที่มากขึ้น และพัฒนาเทคนิคให้ติดเนื้อเยื่อได้ดีที่สุด

         กล่าวโดยสรุป การใช้กาวติดเนื้อเยื่อถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยปิดแผลผ่าตัดทำให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น การปิดแผลผ่าตัดด้วยการเย็บแผลยังคงเป็นมาตรฐาน การใช้กาวปิดเนื้อเยื่อพบอัตราการแยกของแผลที่สูงกว่าการเย็บแผล การพัฒนากาวติดเนื้อเยื่อเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุดต่อไป