เปรียบเทียบเป้าควบคุมความดันโลหิต และผลลัพท์ต่อโรคหัวใจและลหอดเลือดในผู้สูงอายุ

เปรียบเทียบเป้าควบคุมความดันโลหิต และผลลัพธ์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ

JAMA. 2016;315(24):2673-2682.

            บทความเรื่อง Intensive vs Standard Blood Pressure Control and Cardiovascular Disease Outcomes in Adults Aged ≥ 75 Years: A Randomized Clinical Trial รายงานผลการศึกษาวิจัยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเป้าความดันซิสโตลิกที่เหมาะสมในผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยประเมินผลจากเป้าควบคุมความดันซิสโตลิกแบบเข้มงวด (< 120 มิลลิเมตรปรอท) เปรียบเทียบกับเป้ามาตรฐาน (< 140 มิลลิเมตรปรอท) ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงซึ่งมีอายุ 75 ปี หรือมากกว่า และไม่มีโรคเบาหวาน

            นักวิจัยดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบแบบสหสถาบันในผู้ป่วยอายุ 75 ปี หรือมากกว่า ซึ่งเข้าร่วมในการศึกษา Systolic Blood Pressure Intervention Trial (SPRINT) การรวบรวมผู้ป่วยเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2010 และสิ้นสุดการตรวจติดตามเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2015 นักวิจัยสุ่มให้อาสาสมัครควบคุมความดันซิสโตลิกให้ต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท (กลุ่มรักษาเข้มงวด) (n = 1,317) หรือควบคุมความดันซิสโตลิกให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท (กลุ่มรักษามาตรฐาน) (n = 1,319) ผลลัพธ์ปฐมภูมิด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ผลรวมของกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันซึ่งไม่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต หัวใจวายระยะสุดท้ายซึ่งไม่ถึงแก่ชีวิต และการเสียชีวิตจากสาเหตุด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยกำหนดให้การเสียชีวิตทุกสาเหตุเป็นผลลัพธ์ทุติยภูมิ

            มีข้อมูลการตรวจติดตามครบถ้วนในอาสาสมัคร 2,510 ราย (95.2%) จากจำนวน 2,636 ราย (อายุเฉลี่ย 79.9 ปี และ 37.9% เป็นผู้หญิง) จากมัธยฐานการตรวจติดตาม 3.14 ปี พบอัตราที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญของผลลัพธ์ปฐมภูมิ (102 เหตุการณ์ในกลุ่มรักษาเข้มงวดเปรียบเทียบกับ 148 เหตุการณ์ในกลุ่มรักษามาตรฐาน  โดยมีค่า hazard ratio [HR] เท่ากับ 0.66 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.51-0.85]) และการเสียชีวิตทุกสาเหตุ (73 รายเปรียบเทียบกับ 107 ราย ตามลำดับ ค่า HR เท่ากับ 0.67 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.49-0.91]) อัตรารวมของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงไม่ต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (48.4% ในกลุ่มรักษาเข้มงวดเปรียบเทียบกับ 48.3% ในกลุ่มรักษามาตรฐาน ค่า HR เท่ากับ 0.99 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.89-1.11]) อัตราสัมบูรณ์ของความดันโลหิตสูงเท่ากับ 2.4% ในกลุ่มรักษาเข้มงวดเปรียบเทียบกับ 1.4% ในกลุ่มรักษามาตรฐาน (HR เท่ากับ 1.71 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.97-3.09]) และ 3.0% เปรียบเทียบกับ 2.4% ตามลำดับสำหรับเป็นลมหมดสติ (HR เท่ากับ 1.23 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.76-2.00]) และ 4.0% เปรียบเทียบกับ 2.7% สำหรับความผิดปกติของระดับเกลือแร่ (HR เท่ากับ 1.51 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.99-2.33]) และ5.5% เปรียบเทียบกับ 4.0% สำหรับไตวายเฉียบพลัน (HR เท่ากับ 1.41 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.98-2.04]) และ 4.9% เปรียบเทียบกับ 5.5% สำหรับการหกล้มที่ทำให้บาดเจ็บ (HR เท่ากับ 0.91 [95% CI อยู่ระหว่าง 0.65-1.29])

            จากผู้ป่วยนอกอายุ 75 ปี หรือมากกว่า ซึ่งได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันซิสโตลิกให้ต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาโดยควบคุมความดันซิสโตลิกให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท พบว่า  มีอัตราที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงทั้งที่ถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงแก่ชีวิต รวมถึงการเสียชีวิตทุกสาเหตุ