พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อปวงชน

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อปวงชน

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแสดงให้เห็นถึงความห่วงใย และพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ประชาชนคนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ภายใต้พระราชปณิธานส่วนพระองค์ที่ว่า “คนไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสการรับบริการรักษาอย่างดีที่สุด ได้รับการบำบัดป้องกันอย่างดีที่สุด เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้วางรากฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ จนได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย” และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงศึกษาทางด้านการพยาบาล และมีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือประชาชนทางด้านสุขภาพอนามัยด้วยความเมตตากรุณา จนได้รับการเฉลิมพระเกียรติให้เป็น “พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบทและการสังคมสงเคราะห์” นับเป็นแบบอย่างที่ดีของการเสียสละเวลาส่วนพระองค์เพื่อส่วนรวม และมุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนทางด้านสุขภาพอนามัยอย่างเต็มที่ 

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในช่วงเวลานั้นการแพทย์ของประเทศไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ พสกนิกรที่อยู่ห่างไกลความเจริญยังไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีพอ พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในระยะแรกคือ การพัฒนาทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้า มีศักยภาพเพียงพอสำหรับให้บริการแก่พสกนิกรไทยได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารสักเพียงใด 

สิ่งที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อเสด็จฯ ไปทั่วทุกหนแห่งของประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอคือ ผู้คนในชนบทอีกจำนวนมากที่ขาดการดูแลสุขภาพอนามัยที่ดี มีภาวะขาดสารอาหาร ร่างกายไม่สมบูรณ์ การรักษาพยาบาลยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วถึง ทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่ต้องทุกข์ยากทรมานจากการเจ็บป่วย บางรายพิการหรือเสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา มีผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพจากโรคต่าง ๆ สุขภาพเสื่อมโทรมจากโรคฟัน หู ตา ผิวหนัง การใช้ชีวิตประจำวันมีความยากลำบาก เส้นทางการคมนาคมยังไม่สะดวกสบาย แม้แต่ถนนสักเส้นที่ตัดผ่านยังไม่มี ด้วยบ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาขั้นพื้นฐาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประสบปัญหาขาดแคลนหมอในชนบท และความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จึงมิอาจนิ่งดูดายต่อความเจ็บป่วยของราษฎร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งเสริมด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วยการพระราชทานแนวทางให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การรักษาโรค แต่ให้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ทีมแพทย์และพยาบาลที่ตามเสด็จฯ ไปดูแลบำบัดรักษาโรคให้แก่ประชาชนในทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนประชาชนในชนบทและถิ่นทุรกันดาร ก่อเกิดเป็น “โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ตั้งแต่นั้น เมื่อพระองค์เสด็จฯ ไปที่ใดก็จะมีคณะแพทย์พระราชทาน ประกอบด้วยแพทย์ประจำพระองค์ คณะแพทย์ตามเสด็จฯ หน่วยแพทย์หลวงของสำนักพระราชวัง และคณะแพทย์อาสาจากหน่วยงานต่าง ๆ ออกให้การรักษาพยาบาล ให้คำแนะนำในการป้องกันโรค ดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนที่มารอรับเสด็จฯ

         “นายแพทย์เมื่อได้เรียนวิชาแพทย์แล้ว จะต้องออกปฏิบัติตามความมุ่งหมายของการแพทย์ คือการรักษาประชาชนให้พ้นทุกข์จากโรคที่มีอยู่ในเมืองไทยหรือทั่วโลก ที่เหมือนกันคือขาดแคลนในสิ่งที่ควรจะมี ได้แก่ ขาดแคลนยา ขาดแคลนอาหารบางชนิด และขาดแคลนเรื่องความเป็นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดโรคแก่ร่างกายได้ การที่ทางราชการหรือว่านายแพทย์ทั้งหลายเข้าใจโจมตีจุดสำคัญนี้คือความเจ็บป่วยของประชาชนถึงที่นั้น นับว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์โดยตรงและอย่างตรงที่สุด”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่หน่วยแพทย์ที่ออกปฏิบัติงานรักษาพยาบาลและอนามัยเคลื่อนที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นห่วงและเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจัง ทรงได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข พระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือพลเมืองนั่นเอง”

พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขนานัปการ ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง เพราะเมื่อประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ย่อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลานาน จึงได้ทรงรับสั่งให้แพทย์และพยาบาลส่วนพระองค์ที่ตามเสด็จฯ มาด้วย จัดเครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่อมาเมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการชาวเขาทางภาคเหนือ และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จฯ ป่วยเป็นไข้กันมาก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา

โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทานได้ก่อกำเนิดขึ้น เป็นการทำงานเฉพาะแพทย์หลวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จฯ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปยังต่างจังหวัด และในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ได้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ จุดตรวจบริเวณหน้าตำหนักที่ประทับ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น ได้มีแพทย์จากส่วนกลางและมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเหลือเพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า

โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์

ด้วยความห่วงใยต่อประชาชนในท้องถิ่นชนบท ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานครแล้ว จะไม่มีหน่วยแพทย์พระราชทานคอยบำบัดรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย หากมีคนป่วยไข้จะไม่มีใครคอยดูแล เพราะอยู่อาศัยในท้องถิ่นห่างไกล การเดินทางไปยังสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลยังไม่สะดวกสบาย พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านขึ้น โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่าง ๆ มาเข้ารับการอบรมด้านสาธารณสุขมูลฐานจากหน่วยงานทั้งพลเรือน ทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายการแพทย์ ในเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้น การโภชนาการแม่และเด็ก การรักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้พอที่จะดูแลสุขภาพตนเอง สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขให้แก่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งมีช่องทางในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่สถานีอนามัยไปจนถึงโรงพยาบาลระดับอำเภอและจังหวัด ในการรับให้คำปรึกษา การขอความช่วยเหลือหรือรับผู้ป่วยเจ็บที่เกินขีดความสามารถของหมอหมู่บ้านมาดูแลรักษา

โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์       

โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่นิคมพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และทอดพระเนตรเห็นความเจ็บป่วยของราษฎรในนิคมแห่งนี้ ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสุขภาพไม่ดี การคมนาคมไม่สะดวก หนำซ้ำยังมีสถานบริการทางการแพทย์อยู่เพียงแห่งเดียวคือ สถานีอนามัยอำเภอสุคิริน จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของราษฎรในท้องถิ่นนั้นให้มีความอยู่ดีกินดี มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปให้บริการตรวจรักษา โดยแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโกลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

โครงการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปรารภว่า “เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า” ต่อมาพระองค์ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี จึงตรัสแก่ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า “ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในชนบท” หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร

โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน

โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื่องจากมีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์ หู คอ จมูกอาสาสมัครจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ ๒ สัปดาห์ เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกลนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

วิทยาลัยศัลยแพทย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีกลุ่มแพทย์อาวุโสที่มีประสบการณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยในท้องที่ห่างไกล จึงศึกษาข้อมูลความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการรวบรวมทะเบียนของศัลยแพทย์อาสาของวิทยาลัยไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จแปรพระราชฐานประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ การทำงานถวายพระองค์ท่านในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการศัลยแพทย์อาสา จากการที่ผู้ป่วยจำนวนมากในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และบางคราวต้องจัดส่งเข้ามารักษาถึงกรุงเทพมหานคร ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยจึงส่งคณะศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญสาขาต่าง ๆ จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯลฯ ไปผ่าตัดรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยทำงานร่วมกับหน่วยแพทย์พระราชทาน โดย ๔ ปีภายหลังจากการก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมา

โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำพระราชทาน

จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนอย่างทั่วถึงแล้ว พระองค์ทรงไม่ลืมประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำลำคลองหลายสายในตำบลต่าง ๆ จึงพระราชทาน “เรือเวชพาหน์” ให้แก่สภากาชาดไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สำหรับใช้เป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำ ออกตรวจรักษาโรคทั่วไปและให้บริการด้านทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง เพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพด้านการสาธารณสุขของคนไทยให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสัมผัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง ปรากฏความขาดแคลนของประชาชนในด้านสุขภาพอนามัย ทำให้ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปยังแห่งหนตำบลใด จึงโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ ได้ตรวจรักษาประชาชนตามรายทางในหมู่บ้านที่ขบวนเสด็จฯ ผ่าน ไม่เฉพาะราษฎรที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารเท่านั้น ราษฎรที่อยู่ในเมืองหลวง หากทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่ใดประสบปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ก็จะทรงพระเมตตาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทุกครั้ง

โปรดเกล้าฯ จัดตั้งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาเพื่อชุมชนยากไร้

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พระองค์ทรงทราบถึงความเดือดร้อนอย่างมากของชาวบ้านชุมชนยากไร้บริเวณบึงพระราม ๙ ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยน้ำเสียเป็นระยะเวลายาวนาน ราษฎรในชุมชนมีปัญหาความเจ็บป่วยจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และมีความยากลำบากในการเดินทางออกไปพบแพทย์หรือรับบริการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ นอกจากจะทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองและลำรางบริเวณใกล้เคียงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านสภาพความเป็นอยู่แก่ราษฎรแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดสร้างอาคาร “คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา” ขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร พระราชทานเครื่องมือแพทย์อันทันสมัย และ “รูปกากบาทสามมิติ” ให้เป็นสัญลักษณ์ของคลินิกฯ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ว่างเว้นจากการเข้าเวรตามเสด็จฯ มาให้การรักษาประชาชนที่คลินิกฯ แห่งนี้ด้วย

โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเจิมสิริมงคลบนแผ่นศิลาฤกษ์จำลอง ณ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา และได้พระราชทานที่ดินเพิ่ม ๑๔ ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เพื่อรองรับปริมาณผู้มารับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาเป็นคลินิกขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในด้านการวินิจฉัยโรค และการรักษาผู้ป่วยทั่วไปและเฉพาะโรค รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งยังเป็นศูนย์รวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแผนกต่าง ๆ อาทิ แผนกเวชปฏิบัติทั่วไป แผนกอายุรกรรม แผนกจิตเวช แผนกสูติ-นรีเวชกรรม แผนกศัลยกรรม แผนกกุมารเวชกรรม แผนกโสต ศอ นาสิก แผนกจักษุ ฯลฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรโดยถ้วนทั่วเสมอกัน

พระมหากรุณาธิคุณด้านการป้องกันโรคติดต่อ

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื่องจากปีนั้นประชาชนประสบปัญหาเป็นวัณโรคจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๕ แสนบาท สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ในบริเวณสถานเสาวภา สำหรับใช้ในการผลิตวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันวัณโรคให้แก่ประชาชน ตึกนี้เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริจัดสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และจัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้ร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลสร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอาคารทางการแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพล

ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เกิดโรคโปลิโอระบาดในประเทศไทย ทำให้มีเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยป่วยถึงขั้นเสียชีวิตและทุพพลภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งให้ทางสำนักราชเลขาธิการส่วนพระองค์โทรศัพท์สอบถามถึงการช่วยเหลือที่ต้องการ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานเครื่องปอดเทียมให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง อาทิเช่น โรงพยาบาลศิริราช นอกจากนั้นยังพระราชทานเครื่องช่วยฝึกเด็กที่ทุพพลภาพ ในการนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานบรรดาอุปกรณ์การเดิน จนทำให้หน่วยแขนขาเทียมของโรงพยาบาลศิริราชได้ก้าวหน้าขึ้นจนเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้ทุพพลภาพ ต่อมาทรงสนพระราชหฤทัยในการช่วยเหลือบรรดาทหารที่ต้องสูญเสียแขนขาจากการสู้รบในสงครามและเหตุการณ์อื่น ๆ ทำให้หน่วยกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศจนเทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านทางมูลนิธิอานันทมหิดลในการสร้างสถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อทำงานร่วมกับโรงพยาบาลโรคเรื้อน พระประแดง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุปถัมภ์ไว้แต่เดิม ทำให้มีการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนได้ครบวงจร คือทั้งการรักษาและการศึกษาหาทางควบคุมโรค

ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ อหิวาตกโรคระบาดลุกลามเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนล้มตายและเจ็บป่วยกันมาก ในสมัยนั้นน้ำเกลือที่ต้องฉีดให้ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำจำเป็นต้องสั่งมาจากต่างประเทศและมีราคาสูง และเมื่ออหิวาตกโรคระบาดก็จำเป็นต้องใช้จำนวนมาก การดำเนินการผลิตน้ำเกลือในประเทศไทยก็ยังไม่ได้มาตรฐาน พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาและวิจัยสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือไร้ไพโรเจนขึ้นใช้เองจนมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และได้ใช้รักษาผู้ป่วยอีกนานแม้อหิวาตกโรคจะหยุดการระบาดแล้ว นอกจากความช่วยเหลือที่พระองค์พระราชทานมาสนับสนุนการรักษาพยาบาลแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงเปิดสถานฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เรียกว่าหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทาน ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไป

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการเปิดใช้ตึกอานันทราชในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชทรัพย์ในการสร้างเพื่อสนับสนุนงานบริการและงานค้นคว้าวิจัยโรคทางโลหิตวิทยา ด้วยทรงตระหนักว่าโรคประจำของประเทศไทยคือ ภาวะโลหิตจางจากสาเหตุต่าง ๆ นับตั้งแต่โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมไปจนถึงโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง ทำให้สาขาโลหิตวิทยานี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในเรื่องธาลัสซีเมีย

พระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการสร้างคน

“ขอให้ท่านดำเนินวิชาชีพอันมีเกียรตินี้ด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาที่ได้เล่าเรียนมา นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้มีจิตใจสูง ประกอบด้วยเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ทั่วไป การกระทำความดีเท่านั้นที่จะนำความสุขความเจริญมาสู่ตนเอง การที่ได้เรียนสำเร็จจนได้รับปริญญาแล้วนั้น ขอให้พยายามศึกษาและฝึกฝนตนเองไว้เสมอ ถ้าท่านไม่ศึกษาเพิ่มเติมไว้ต่อไป ไม่ช้าท่านก็จะเป็นผู้ล้าหลังไม่ทันกับความเจริญของโลก”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔

ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้การแพทย์ของไทยเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว แต่เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยยังขาดแพทย์ผู้ชำนาญเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ทุนอานันทมหิดล” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรด้านการแพทย์ที่มีความสามารถและมีคุณธรรม ไปศึกษาต่อยังสถาบันชั้นนำของโลกเพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาวงการแพทย์ไทย โดยความพิเศษของทุนนี้คือ เป็นทุนการศึกษาที่ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ให้ทุนและผู้ที่ได้รับทุน เพราะทรงเคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า “หากคณะกรรมการได้คัดเลือกคนดีแล้ว ไม่ต้องมีสัญญาก็ได้” ดังนั้น ทุนพระราชทานด้วยพระมหากรุณาธิคุณทุนนี้จึงเปรียบเสมือนมี “สัญญาใจ” ที่ผู้ที่ได้รับทุนทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และกลับมาใช้ความรู้ความสามารถที่ได้มีโอกาสรับพระราชทานทุนไปศึกษาอย่างดีที่สุด ซึ่งต่างก็กลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

ต่อมาได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการริเริ่มพระราชทานทุนอานันทมหิดลนั้น ทำให้วงการแพทย์ไทยได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำเร็จการศึกษากลับมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์ที่ดี และท่านเหล่านี้ได้มีส่วนสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์เป็นอย่างมาก จึงทำให้หลายภาคส่วนให้ความสนใจร่วมบริจาคเงินสมทบทุนอย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทุนนี้เปลี่ยนเป็นมูลนิธิเพื่อดำเนินการไปอย่างถาวร และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้พระราชทานนามมูลนิธินี้ว่า “มูลนิธิอานันทมหิดล”

พระมหากรุณาธิคุณด้านโภชนาการ

ปัญหาการขาดสารอาหาร ภาวะทุพโภชนาการเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงค้นพบในห้วงเวลานั้น โดยหลายพื้นที่ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากขาดสารอาหารไอโอดีนหรือได้รับอย่างไม่เพียงพอ ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การพัฒนาสมองเสริมสร้างสติปัญญาของเด็ก ๆ การขาดสารไอโอดีนเป็นต้นตอของโรคคอพอก พระองค์ได้ทรงช่วยเหลือประชาชนในชนบทห่างไกลโดยโปรดเกล้าฯ ให้นำเกลือผสมไอโอดีนไปกับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง แล้วพระราชทานให้แก่ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคคอพอก นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จฯ ช่วยตรวจรักษาด้วย

ต่อมาได้มีการริเริ่มโครงการนำร่องเกลือเสริมไอโอดีนในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ทรงแนะนำให้ทำการสำรวจเส้นทางเกลือ ศึกษาแหล่งผลิตเกลือเพื่อนำเกลือไอโอดีนไปผสมตั้งแต่ต้นตอการผลิต และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายการค้าเกลือผสมไอโอดีน ส่วนในพื้นที่ที่ไม่สามารถจะเข้าไปเติมสารไอโอดีนในเกลือได้ ก็ทรงแนะนำให้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่นำเกลือผสมไอโอดีนออกไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนถึงหมู่บ้านต่าง ๆ แทน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการศึกษาวิจัยทำให้วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่สามารถคิดค้นและพัฒนาเครื่องผลิตเกลือผสมไอโอดีนได้ ซึ่งต่อมาได้พระราชทานเครื่องผลิตเกลือผสมไอโอดีนนี้ให้แก่ราษฎรในจังหวัดทางภาคเหนือที่เจ็บป่วยด้วยโรคคอพอกจากการขาดสารไอโอดีนได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก และในเวลาต่อมาก็ได้มีโครงการรณรงค์ให้ใช้เกลือไอโอดีนในการประกอบอาหาร ให้ความรู้เรื่องการขาดสารอาหารไอโอดีนแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ในเรื่องของฟลูออไรด์ซึ่งเป็นสาระสำคัญสำหรับการบำรุงกระดูกและฟันของประชาชน พระองค์ก็ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยโดยเฉพาะในเด็ก ๆ ที่มีอาการเจ็บปวดทรมานจากภาวะฟันผุ โครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยศูนย์รวมนมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโรงนมแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตนมผสมฟลูออไรด์ และยังเป็นสถานที่พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตนมฟลูออไรด์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน เป็นโครงการต้นแบบที่ร่วมมือกับกรมอนามัย องค์การอนามัยโลก มูลนิธิ The Borrow Foundation ประเทศอังกฤษ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาฟันผุในเด็ก โดยเน้นการสร้างภูมิป้องกันให้เด็ก ๆ ได้รับปริมาณฟลูออไรด์อย่างเพียงพอ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยพสกนิกรเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากซึ่งมีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทราบว่าสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจอยากทำอาหารเจลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากซึ่งมีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร อันเป็นผลมาจากกระบวนการรักษาซึ่งต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี ส่งผลให้ผู้ป่วยประสบปัญหาความพิการของอวัยวะบดเคี้ยวและมักทำให้เกิดแผลในช่องปาก รวมถึงต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ปัจจัยเหล่านี้มีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้สะดวก และอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารทางสายยาง ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ และยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตจากการที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากมักมีอาการขาดสารอาหาร ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับประสิทธิภาพในการรักษา

พระองค์จึงรับสั่งให้สนับสนุนด้วยการเป็นผู้ออกทุนวิจัยให้ทั้งหมด และจัดตั้งเป็นโครงการจนทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว พระองค์ได้พระราชทานข้อคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยว่า “จำไว้นะ เวลาทำอาหารให้คนป่วย เรื่องรสชาติเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเขาป่วยด้านร่างกายแล้ว จิตใจต้องดี ถ้าเราทำอาหารที่ไม่อร่อยไปให้ จิตใจเขาจะแย่ มันเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย” โดยอาหารเจลที่ผลิตขึ้นมานั้นมีลักษณะนุ่มลื่น ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและกลืนได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ มีรสชาติหลากหลาย และยังมีสารอาหารครบถ้วนอีกด้วย

น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้จำกัดอยู่แต่ความเจ็บไข้ของคนไทยเท่านั้น แม้สัตว์ที่เจ็บป่วยก็ทรงเผื่อแผ่ไปถึง ได้พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการตามพระราชกระแสรับสั่งหลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการตรวจหาเครื่องหมายดีเอ็นเอของสุนัขสายพันธุ์ไทย โครงการเฝ้าระวังและการพัฒนาวินิจฉัยโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส โครงการระวังโรคระบาดในสัตว์ปีก และโครงการพัฒนาน้ำเชื้อแช่แข็งสุนัข โครงการเครื่องมือแพทย์ โครงการพระราชทานคุณทองแดงช่วยเพื่อน และโครงการกองทุนรักษาสัตว์ป่วยอนาถา เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการสร้างสระว่ายน้ำ “สุวรรณชาด” สำหรับบำบัดรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาทแบบธาราบำบัดอีกด้วย

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี สำหรับคนคนหนึ่งอาจจะใช้เวลาสำหรับตัวเองเพื่อเรียนรู้ ทำงาน และท่องเที่ยวพักผ่อนเติมเต็มหาความสุขให้กับชีวิต แต่สำหรับพระองค์ท่าน ทุกเวลานาทีคือ งาน งาน และงาน เพื่อความสุขของ