ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการพยาธิวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 “Pathology Practice in Thailand 4.0”

ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการพยาธิวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 “Pathology Practice in Thailand 4.0”

ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย มีกำหนดจัดประชุมวิชาการพยาธิวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Pathology Practice in Thailand 4.0” ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ ห้องเพชร-ไพลิน ชั้น 11 โรงแรมวินด์เซอร์ สวีทส์ แอนด์ คอนเวนชั่น สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ 

รศ.ดร.พญ.นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล ประธานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิกเป็นแพทย์ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในสาขาต่าง ๆ ของพยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิกและนิติเวชศาสตร์ ตลอดจนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายด้าน อาทิ การกำกับ ดูแล การฝึกอบรมและสอบแพทย์ เพื่อเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ ทางพยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิกและนิติเวชศาสตร์ การกำหนดและควบคุมมาตรฐานทางวิชาการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของพยาธิแพทย์และแพทย์นิติเวชในประเทศไทย การสอดส่องดูแล และส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสมาชิก การส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และแนะแนววิชาการทางพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ รวมถึงการจัดการประชุมทางวิชาการและเผยแพร่ความรู้ 

โดยที่ผ่านมาราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมวิชาการประจำปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 28 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความรู้ใหม่ ๆ และแบ่งปันประสบการณ์ทางด้านพยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิกและนิติเวชศาสตร์ โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการทำงานในวิชาชีพนี้ให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ทำงานในสายวิชาชีพนี้ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ อันจะนำมาสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนางานทางด้านนี้ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

รศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้คณะกรรมการจัดงานมีความเห็นว่า นโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้การพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0” ที่มุ่งเน้น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ดีในการนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศ จึงได้กำหนดหัวข้องานประชุมปีนี้เป็น Pathology Practice in Thailand 4.0” เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับรู้ถึงทิศทางของการพัฒนาประเทศแล้ว ยังมุ่งหวังให้ทุกคนตื่นตัวและปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0” คือ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตผลงาน เพื่อให้เกิด high value services ทั้งจากการสร้างนวัตกรรมขึ้นเอง หรือการนำของคนอื่นมาใช้ โดยมีการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่ง

รูปแบบการประชุมมีตั้งแต่การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ การทำ workshop และการอภิปราย โดยมีทั้งที่จัดเป็นห้องรวม และห้องย่อย หัวข้อใดที่สามารถฟังร่วมกันได้ทั้งสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิกและนิติเวชศาสตร์ จะจัดให้มีการนำเสนอเป็นห้องรวม ส่วนหัวข้อที่มีความเฉพาะในแต่ละสาขา จะมีการจัดแยกเป็นห้องย่อยออกไป

สำหรับหัวข้อการประชุมในปีนี้มีความหลากหลายมาก และทุกหัวข้อล้วนมีความน่าสนใจทั้งสิ้น เช่น

- Pathology Practice in Thailand 4.0 โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ ซึ่งเป็น keynote lecture ในการประชุมครั้งนี้ จะมาพูดถึงแนวคิดของนโยบาย “Thailand 4.0” และการนำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนางานด้านพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้า

- Clinical application of cell-free DNA: A new era in cancer diagnosis, monitoring and treatment โดย นพ.ชนพ ช่วงโชติ, นพ.นรวรรธน์ พวงวรินทร์ และ นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ เป็นความก้าวหน้าของการวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยการตรวจ DNA ของเซลล์มะเร็งที่หลุดเข้ามาในกระแสเลือด เป็นเรื่องที่กำลังมาแรงมากในขณะนี้

- Innovation in Pathology โดย นพ.คณุตม์ จารุธรรมโสภณ และ พญ.สุพินดา คูณมี เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของพยาธิแพทย์ไทยที่สร้างนวัตกรรมจนได้รับการจดสิทธิบัตรและได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากกระทรวงอุตสาหกรรม

- Lessons from the Mayo Clinic: Past, Present and Future โดย Dr.Dennis M McNeil: (Vice President of International Services for Mayo Medical Laboratories) เป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลก คือ Mayo Medical Lab ของ Mayo Clinic ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความสำเร็จสูงมาก เป็นห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา ทั้งด้านพยาธิวิทยากายวิภาค และพยาธิวิทยาคลินิก ที่รับบริการตรวจสิ่งส่งตรวจจากทั่วโลก มีรายได้ต่อปีสูงเป็นหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ

- Histologic/Cytologic Interpretation of indeterminate thyroid lesions (workshop) เป็นการนำปัญหาในการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของรอยโรคในต่อม thyroid ที่สร้างความลำบากให้แก่พยาธิแพทย์ในการปฏิบัติงานประจำวันมาสู่การฝึกปฏิบัติ โดยมี Prof.Kennichi Kakudo วิทยากรที่มีชื่อเสียงทางด้าน thyroid pathology จากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้อภิปราย

- Social media and medical personel โดย นพ.มาโนช โชคแจ่มใส เป็นการให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ของวิทยากรเกี่ยวกับการใช้ social media ที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากหัวข้อการประชุมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในปีนี้ยังได้จัดหัวข้อสำหรับบุคลากรที่ทำหน้าที่ช่วยงานพยาธิแพทย์ (Pathologists’ assistants course) เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ได้เข้าร่วมประชุมและได้พัฒนาการทำงานของตัวเองเพื่อให้งานทางพยาธิวิทยามีคุณภาพได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการโดย พญ.สุพินดา คูณมี

ในส่วนของไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ Lessons from the Mayo Clinic: Past, Present and Future โดย Dr.Dennis M McNeil ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Vice President of International Services for Mayo Medical Laboratories หัวข้อทางด้านพยาธิวิทยากายวิภาค เรื่อง Histologic/Cytologic Interpretation of indeterminate thyroid lesions (workshop) โดย Prof.Kennichi Kakudo หัวข้อทางด้านพยาธิวิทยาคลินิก เรื่อง How to assure quality of POCT INR testing by external quality control? และ External Quality Assessment in Haemostasis โดย Dr.Piet Meijer และหัวข้อทางด้านนิติเวชศาสตร์ เรื่อง บาดแผลกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงจากประสบการณ์ในกรณีสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ โดย พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม และ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา

            ด้านวิทยากรที่มาให้ความรู้ มีทั้งวิทยากรชาวไทยและชาวต่างประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงใน field ของตัวเอง เช่น Prof.Kennichi Kakudo ซึ่งมาจัด workshop เรื่อง Histologic/Cytologic Interpretation of indeterminate thyroid lesions เป็นศาสตราจารย์จาก Nara Hospital, Kindai University ประเทศญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้ที่นำเสนอชื่อใหม่ให้กับเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ที่เรียกว่า Non-invasive follicular thyroid neoplasm with papillary-like nuclear features (NIFTP)Dr.Piet Meijer ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Quality Assessment และ Haemostasis จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานมานานให้แก่ ECAT foundation ดูแลในส่วนของ External Quality Assessment programme ของ blood coagulation นพ.ชนพ ช่วงโชติ และ นพ.นรวรรธน์ พวงวรินทร์ ซึ่งเป็นวิทยากรในหัวข้อ Clinical application of cell-free DNA: A new era in cancer diagnosis, monitoring and treatment และ นพ.อาทิตย์ จินาวัฒน์ วิทยากรผู้นำเสนอหัวข้อเรื่อง Utility of molecular analysis in the soft tissue tumors in Thailand ซึ่งทั้ง 3 ท่านเป็นพยาธิแพทย์ผู้บุกเบิกนำเอาการตรวจทางโมเลกุลมาใช้ในงาน routine ทางพยาธิวิทยาในประเทศ

ทั้งนี้คาดว่าผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย พยาธิแพทย์ทั้งสาขากายวิภาคและพยาธิวิทยาคลินิก แพทย์นิติเวช นักวิทยาศาสตร์ และนักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการทางด้านพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ รวมถึงแพทย์ประจำบ้านสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิกและนิติเวชศาสตร์ ตลอดจนผู้ที่ทำงานอยู่ในสาขาที่ใกล้เคียงกับงานทางด้านพยาธิวิทยาและผู้ที่สนใจโดยทั่วไป จะได้เพิ่มพูนความรู้ที่ทันสมัย นำไปใช้ในงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง ได้แรงบันดาลใจจากวิทยากรที่เป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม หรือนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นของคนอื่นหรือมาจากการคิดค้นของตัวเองมาปรับปรุงคุณภาพในงานที่ตัวเองรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังคาดว่าการประชุมนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการพัฒนางานทางด้านนี้ต่อไปในภายหน้า

“ขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านมาร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการทำงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังจะทำให้วิชาชีพโดยรวมในประเทศไทยยกระดับมาตรฐานขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประเทศชาติด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาพบปะสนทนากับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนางานทางด้านนี้ให้ดีขึ้นในอนาคต” รศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง โทรศัพท์ 0-2419-3436 โทรสาร 0-2433-2129  E-mail: payati_25@hotmail.com หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.rcthaipathologist.org