ทุกคนมีคุณค่า

ทุกคนมีคุณค่า

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครธน

ในการสอบปริญญาตรีครั้งหนึ่ง มีข้อสอบอยู่ 1 ข้อที่นักศึกษาทุกคนไม่เข้าใจว่า มันเกี่ยวอะไรกับการเรียนปริญญาตรีและวิชาชีพของเขา

ข้อสอบนั้นถามว่า “ชื่อของแม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องเรียนให้ทุกวัน ชื่อว่าอะไร”

หลังสอบเสร็จ นักศึกษาจึงขอเข้าพบกับอาจารย์ผู้ออกข้อสอบ

อาจารย์ยิ้มพร้อมกับเฉลยให้ฟังว่า “ในการทำงานเป็นทีม เราต้องรู้จักผู้ร่วมงานของเราทุกคนตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน แม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องเรียนทุกวันก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมีแม่บ้านจึงทำให้บรรยากาศห้องเรียนสะอาดน่าเรียน รวมทั้งเราไม่ต้องเสียเวลามาทำความสะอาดห้องเรียนจึงทำให้มีเวลาเรียนหนังสือมากขึ้น แม่บ้านก็นับเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ช่วยทำให้การเรียนครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี”

“ปัจจุบันการทำงานจะประสบความสำเร็จได้ต้องสามารถร่วมงานกับทุกคนได้ การรู้จักผู้ร่วมงานทุกคนในทีมก็ย่อมสามารถดึงศักยภาพของทุกคนมาช่วยกันทำงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้นำที่ดีจึงควรรู้จักลูกทีมของตนเองทุกคน ผู้นำที่ทำงานแบบเก่งคนเดียวและไม่รู้จักผู้ร่วมงานในทีมย่อมไม่สามารถจะประสบความสำเร็จได้”

ละครเกาหลีเรื่อง “The Moon That Embraces The Sun” มีอยู่ตอนหนึ่งที่นางเอกซึ่งเป็นสามัญชนกล่าวกับกษัตริย์ว่า

“ในฐานะผู้ปกครองประเทศก็ไม่ควรดูถูกประชาชนที่ต่ำต้อย ทุกคนไม่ว่าจะต่ำต้อยแค่ไหนก็มีคุณค่าในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ แม้แต่ต้นหญ้ายังรู้ว่าเกิดมาเพื่อทำประโยชน์อะไร”

ทุกคนมีคุณค่าในด้านใดด้านหนึ่งเสมอ

ถ้าเขามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่และได้รับโอกาสที่เหมาะสม…ทุกคนล้วนสามารถยิ่งใหญ่ได้เท่าเทียมกัน

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า

            “ปราชญ์ คือ คนสามัญที่ลงมือทำ
            คนสามัญ คือ ปราชญ์ที่ไม่ลงมือทำ”

เป็นการให้ “คุณค่า” ของ “คน” ที่ “การลงมือทำ” ไม่ใช่ความฉลาด หรือความเก่ง

ตามปกติเวลาที่เราพูดถึง “ปราชญ์” เราจะนึกถึงความเฉลียวฉลาดเหนือมนุษย์ทั่วไป แต่ “สีจิ้นผิง” ต้องการบอกว่าแท้จริงแล้วทุกคนในโลกนี้ล้วนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็น “ปราชญ์”

ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็น “คนสามัญ” เราต่างเป็น “คน” เหมือนกัน แต่ที่คนคนหนึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์” ก็เพราะเขาลงมือทำ ความแตกต่างจึงอยู่ที่ใคร “ทำ” หรือ “ไม่ทำ”

วาทะของ “รพินทรนาถ ฐากูร” ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลโนเบล มีคนเคยถามปัญหากับท่าน 3 ข้อ

            ข้อที่ 1 ในโลกนี้สิ่งใดง่ายที่สุด
            ข้อที่ 2 ในโลกนี้สิ่งใดยากที่สุด
            และข้อที่ 3 ในโลกนี้อะไรยิ่งใหญ่ที่สุด

รพินทรนาถ ฐากูร ตอบว่า

การตำหนิผู้อื่น…ง่ายที่สุด

 รู้จักตนเอง…ยากที่สุด

 ความรัก…คือ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ดังนั้น ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม เราจึงไม่ควรตำหนิใครทั้งลูกน้องและหัวหน้า แต่เราควรปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเองเพื่อให้สามารถดึงศักยภาพของทุกคนในทีมออกมาได้ ทั้งนี้เราควรมีความรักและเมตตาต่อกันเพื่อให้งานสำเร็จลงไปได้โดยที่ทุกคนในทีมก็มีความสุข

คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ หรือ KC แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ เคยเล่าถึงการค้นพบครั้งสำคัญของการบริหารจัดการคนไว้อย่างน่าสนใจ โดยธรรมชาติขององค์กรใหญ่ ๆ คุณกรรณิกาเคยมีลูกน้องที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวอยู่จำนวนหนึ่ง ทำอะไรก็ผิดอยู่บ่อย ๆ เดิมคุณกรรณิกาก็พยายามจ้ำจี้จำไช พยายามหาทางให้เขาปรับปรุงตัว แก้ไขข้อบกพร่อง แต่คนเราก็เปลี่ยนได้ยาก จนหลาย ๆ กรณีก็แทบจะถอดใจกับบุคคลเหล่านั้นไป

แต่เหมือนที่ฝรั่งเคยมีคำคมว่าไว้ว่า “ถ้าเราอยากเปลี่ยนอะไรแล้วเปลี่ยนได้ก็ขอให้ทำเสีย แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่อยู่ในหัว”

คุณกรรณิกาเริ่มลองใช้อีกวิธีหนึ่ง แทนที่จะหาข้อเสียของลูกน้องซึ่งมีเต็มไปหมด กลับลองมองหาข้อดีของลูกน้องทีละคน แล้วพยายามใช้งานเขาจากข้อดีที่เขามี ปรากฏว่าเป็นวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง ประสิทธิภาพของลูกน้องกลุ่มนี้ก็สูงขึ้น เพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ความเชื่อมั่นของลูกน้องก็มีมากขึ้น ผู้นำก็สามารถใช้ประโยชน์จากบุคลากรได้อย่างเต็มที่...งานจึงได้ผลและคนก็เป็นสุข

ทุกคนมีคุณค่าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ ขึ้นกับว่าเราจะค้นพบคุณค่าในตัวเขาเจอหรือไม่