คุมความดันเข้มงวดต่อความเร็วเดินทางราบและการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ

คุมความดันเข้มงวดต่อความเร็วเดินทางราบและการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ

JAMA Intern Med. Published online February 6, 2017.

บทความเรื่อง Effect of Intensive Blood Pressure Control on Gait Speed and Mobility Limitation in Adults 75 Years or Older: A Randomized Clinical Trial ชี้ว่า การควบคุมความดันโลหิต (BP) อย่างเข้มงวดมีประโยชน์ในแง่การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังคงไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสมรรถนะทางกาย  

คณะผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการศึกษาสุ่มเปรียบเทียบประเมินผลลัพธ์จากการควบคุม BP อย่างเข้มงวดต่อการเปลี่ยนแปลงด้านความเร็วการเดินทางราบและการเคลื่อนไหว โดยศึกษาในอาสาสมัคร 2,636 รายในการศึกษา Systolic Blood Pressure Intervention Trial (SPRINT) ซึ่งมีอายุ ≥ 75 ปี มีความดันโลหิตสูงและไม่มีประวัติโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือสโตรค ข้อมูลรวบรวมระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2015 และวิเคราะห์แบบ intention-to-treat

การศึกษาได้สุ่มอาสาสมัครได้รับการรักษาอย่างเข้มงวดโดยกำหนดเป้าความดันซิสโตลิก (SBP) < 120 มิลลิเมตรปรอท (n = 1,317) โดยเทียบกับการรักษามาตรฐานซึ่งกำหนดเป้า < 140 มิลลิเมตรปรอท (n = 1,319) ความเร็วการเดินทางราบประเมินจากการทดสอบเดิน 4 เมตร และรวบรวมข้อจำกัดการเคลื่อนไหวจากแบบสำรวจ Veterans RAND 12-Item Health Survey และ EQ-5D ทั้งนี้ข้อจำกัดการเคลื่อนไหวประเมินจากความเร็วการเดินทางราบน้อยกว่า 0.6 เมตร/วินาที หรือข้อจำกัดการเดินหรือการขึ้นลงบันไดซึ่งอาสาสมัครเป็นผู้รายงาน

            มัธยฐาน (interquartile range) การตรวจติดตามเท่ากับ 3 (2-3) ปี ในอาสาสมัคร 2,629 ราย ซึ่งสามารถประเมินสถานะการเคลื่อนไหว (ผู้หญิง 996 ราย [ร้อยละ 37.9]; ผู้ชาย 1,633 ราย [ร้อยละ 62.1%]; ค่าเฉลี่ย [SD] อายุเท่ากับ 79.9 [4.0] ปี) จากการศึกษาไม่พบความต่างด้านค่าเฉลี่ยการเสื่อมลงของความเร็วการเดินทางราบระหว่างกลุ่มรักษาเข้มงวดและกลุ่มรักษามาตรฐาน (ผลต่างค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.0004 เมตร/วินาที ต่อปี; 95% CI -0.005 ถึง 0.005; p = 0.88) และไม่พบความต่างระหว่างกลุ่มย่อยที่จำแนกตามอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือชาติพันธ์ุ SBP พื้นฐาน ไตวายเรื้อรัง หรือประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยพบความสัมพันธ์ระดับปานกลางสำหรับคะแนน Veterans RAND 12-Item Health Survey Physical Component Summary (ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มย่อย) กับผลต่างค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.004 เมตร/วินาที ต่อปี (95% CI -0.002 ถึง 0.010) ในผู้ที่มีคะแนนอย่างน้อย 40 และ -0.008 เมตร/วินาที ต่อปี (95% CI -0.016 ถึง 0.001) ในผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า 40 (p = 0.03 สำหรับความสัมพันธ์) และจากตัวแบบ multistate models ก็ไม่พบผลกระทบจากการรักษาแบบเข้มงวดต่อข้อจำกัดการเคลื่อนไหว (hazard ratio เท่ากับ 1.06; 95% CI 0.92-1.22)

ข้อมูลจากอาสาสมัครซึ่งมีอายุ ≥ 75 ปี ในการศึกษา SPRINT ชี้ว่า การรักษาโดยกำหนดเป้า SBP < 120 มิลลิเมตรปรอท ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านความเร็วการเดินทางราบ และไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงด้านข้อจำกัดการเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับเป้า SBP < 140 มิลลิเมตรปรอท