รามาธิบดีกับความสำเร็จ “การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate 3 ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย”
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือ การมุ่งเน้นให้การรักษาพยาบาล ทั้งนี้หนึ่งในภารกิจหลักของการรักษาพยาบาลที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากคือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้วก็มีขั้นตอนและวิธีการรักษาโรคหัวใจอยู่หลายวิธีการ แต่หากเมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแล้ว ทีมแพทย์จะต้องวางแผนในการผ่าตัดรักษาให้เป็นอย่างดี
นับเป็นความหวังและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อไม่นานมานี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำทีมโดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, อ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ พล.อ.ณรงค์ จารุเศรนี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ร่วมแถลงข่าว “รามาธิบดีกับความสำเร็จ: การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate 3 ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย” โดย Heart Mate 3 เป็นเครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate 3 ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate 3 เป็นวิธีการใหม่ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายซึ่งได้ผลดีแก่ผู้ป่วย และนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกในวงการแพทย์ไทยที่สามารถทำการผ่าตัดด้วยเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 ซึ่งเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 เป็นเครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ หรือเรียกอีกชื่อว่า LVAD (Left Ventricular Assist Device) หน้าที่ของเครื่องคือ ทำการปั๊มเพิ่มแรงดันส่งเลือดให้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่งในวงการแพทย์ของประเทศไทย
อ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 ว่า Heart Mate 3 เป็น Left Ventricular Assist Device (LVAD) รุ่นใหม่ล่าสุด ตัวเครื่องทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในกรณีที่หัวใจของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานเองได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโดยใส่เครื่อง Heart Mate 3 มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น สามารถเดิน ขึ้นบันได ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยรู้สึกเหนื่อยน้อยลงกว่าก่อนได้รับการรักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยใส่เครื่อง Heart Mate 3 จะมีอุปกรณ์สำคัญอยู่ 4 ชนิดที่จะต้องติดตัวผู้ป่วยตลอดเวลา ได้แก่
1. ตัวปั๊มเลือด ซึ่งเป็นส่วนที่ติดกับหัวใจภายในร่างกาย ทำจากโลหะ มีใบพัดภายในเพื่อหมุนให้เลือดไหลเวียน
2. สาย Driveline เป็นสายเชื่อมต่อส่งข้อมูลและพลังงานไฟฟ้าระหว่างปั๊มภายในกับตัวควบคุมภายนอก
3. ตัวควบคุม หรือ Controller อยู่ภายนอกร่างกาย คอยควบคุมการทำงานของตัวปั๊มเลือดภายใน มีหน้าจอแสดงผล มีไฟ และเสียงเตือนต่าง ๆ
4. แบตเตอรี่ สำหรับจ่ายไฟให้แก่ตัวควบคุม ซึ่งสามารถทำงานอยู่ได้ราว 17 ชั่วโมง หากชาร์จเต็ม
ในปัจจุบันมีเครื่องหัวใจเทียม LVAD ใช้อยู่ 2 รุ่น คือ Heart Mate 2 และ Heart Mate 3 ซึ่ง Heart Mate 3 ได้รับการพัฒนาใหม่กว่าและมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ชื่อว่า Full Maglev ซึ่งช่วยให้การไหลผ่านของเลือดดีขึ้น ตัวปั๊มมีขนาดเล็กลงทำให้ลดข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดร่างกายเล็ก
รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิธีการผ่าตัดใส่เครื่อง Heart Mate 3 ว่า วัตถุประสงค์หลักของการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายในระยะยาว ซึ่งเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีภาวะน้ำท่วมปอด หรือผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างรอเพื่อรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและมีอาการหนัก โดยที่ยังไม่มีหัวใจจากผู้บริจาคที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
วิธีการผ่าตัด ทำได้โดยผ่านทางแผลผ่าตัดกลางหน้าอก จากนั้นศัลยแพทย์จะให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว แล้วจึงเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียม เมื่อทำการเชื่อมต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะที่หัวใจยังบีบตัวอยู่ตลอดเวลา ศัลยแพทย์ก็จะทำการวางเครื่อง Heart Mate 3 โดยการฝังท่อนำเลือดของเครื่อง Heart Mate 3 เข้าไปที่จุดยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย ต่อมานำสายควบคุมการทำงานและพลังงานออกมาทางผนังหน้าท้องผ่านทางแผลเล็กอีกแผลหนึ่ง และในขั้นตอนสุดท้ายคือ การต่อเชื่อมท่อนำเลือดออกจากเครื่อง Heart Mate 3 เข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนจะให้เครื่องเริ่มการทำงาน และค่อย ๆ ลดการช่วยของเครื่องหัวใจและปอดเทียม จนกระทั่งหยุดเครื่องหัวใจและปอดเทียมได้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นทางศัลยแพทย์จะทำการห้ามเลือดและเย็บปิดแผล
การดูแลหลังการผ่าตัดที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปเพื่อดูแลหลังการผ่าตัดที่ห้องไอซียู เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี เครื่องทำงานได้ดี และหายใจด้วยตนเองได้เพียงพอแล้ว ทีมแพทย์ผู้รักษาก็จะทำการถอดท่อช่วยหายใจ และที่สำคัญผู้ป่วยต้องได้รับยาป้องกันลิ่มเลือด (anticoagulant) ไปตลอดชีวิต
สำหรับผลการรักษา จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตร้อยละ 91.4 (อัตราการเสียชีวิตที่ 6 เดือนหลังการผ่าตัดคือ ร้อยละ 8.6) เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 ปี เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น