เสริมฮอร์โมนไทรอยด์หญิงตั้งครรภ์ภาวะพร่องไทรรอยด์ฮอร์โมน

เสริมฮอร์โมนไทรอยด์หญิงตั้งครรภ์ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน

BMJ 2017;356:i6865.

บทความเรื่อง Thyroid Hormone Treatment among Pregnant Women with Subclinical Hypothyroidism: US National Assessment รายงานข้อมูลจากการศึกษาย้อนหลังเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการเสริมไทรอยด์ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแบบไม่มีอาการ โดยศึกษาจากฐานข้อมูลการบริหารของสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2010 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2014 กลุ่มประชากรประกอบด้วยหญิงตั้งครรภ์ 5,405 รายซึ่งมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแบบไม่มีอาการประเมินจากระดับ thyroid stimulating hormone (TSH) 2.5-10 มิลลิยูนิต/ลิตร ผลลัพธ์หลักได้แก่ การแท้งและผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์อื่นด้านการตั้งครรภ์

จากหญิงตั้งครรภ์ 5,405 รายซึ่งมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแบบไม่มีอาการพบว่า 843 รายซึ่งมีค่าเฉลี่ย TSH ก่อนรักษาเท่ากับ 4.8 (SD 1.7) มิลลิยูนิต/ลิตร ได้รับการรักษาด้วยไทรอยด์ฮอร์โมน และ 4,562 รายซึ่งมี TSH พื้นฐานเท่ากับ 3.3 (SD 0.9) มิลลิยูนิต/ลิตร ไม่ได้รับการรักษา (p < 0.01) อัตราการแท้งต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับการรักษา (n = 89; ร้อยละ 10.6) เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา (n = 614; ร้อยละ 13.5) (p < 0.01) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการรักษามีค่า odds ที่ปรับแล้วต่อการแท้ง (odds ratio เท่ากับ 0.62, 95% CI อยู่ระหว่าง 0.48-0.82) ต่ำกว่า แต่มีค่า odds สูงกว่าต่อการคลอดก่อนกำหนด 1.60, 1.14-2.24), เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (1.37, 1.05-1.79) และครรภ์เป็นพิษ (1.61, 1.10-2.37) ขณะที่ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านการตั้งครรภ์อื่นใกล้เคียงกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม ค่า odds ที่ปรับแล้วของการแท้งต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้รับการรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา หากระดับ TSH ก่อนการรักษาอยู่ระหว่าง 4.1-10 มิลลิยูนิต/ลิตร (odds ratio 0.45, 0.30-0.65) แต่ไม่ต่ำกว่าหากอยู่ระหว่าง 2.5-4.0 มิลลิยูนิต/ลิตร (0.91, 0.65-1.23) (p < 0.01)

การเสริมไทรอยด์ฮอร์โมนสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อการแท้งในผู้หญิงที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แบบไม่มีอาการโดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับ TSH ก่อนการรักษาระหว่าง 4.1-10 มิลลิยูนิต/ลิตร ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ด้านการตั้งครรภ์ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินความปลอดภัยของการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้