RASi ในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อน

RASi ในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อน

BMJ 2017;356:j4.

บทความเรื่อง Renin Angiotensin System Inhibitors for Patients with Stable Coronary Artery Disease without Heart Failure: Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Trials รายงานผลลัพธ์จากการวิเคราะห์อภิมานเพื่อประเมินประสิทธิภาพของ renin angiotensin system inhibitors (RASi) ในผู้ป่วยหัวใจตีบมาก่อนซึ่งไม่มีหัวใจล้มเหลวโดยเปรียบเทียบกับยาชนิดอื่น (active controls) หรือยาหลอก

การวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบ RASi และยาหลอก หรือ active controls จากฐานข้อมูล PubMed, EMBASE และ CENTRAL จนถึงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2016 การศึกษาวิจัยที่นำมาศึกษาได้ศึกษาในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อนโดยไม่มีหัวใจล้มเหลว (ประเมินจาก left ventricular ejection fraction ≥ ร้อยละ 40% โดยไม่มีอาการของหัวใจล้มเหลว) การศึกษาวิจัยแต่ละโครงการมีจำนวนผู้ป่วยอย่างน้อย 100 ราย และมีระยะการตรวจติดตามอย่างน้อย 1 ปี โดยตัดการศึกษาที่เปรียบเทียบระหว่างการใช้ angiotensin converting enzyme inhibitors และ angiotensin receptor blockers ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเสียชีวิต การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เจ็บหน้าอก (angina) สโตรค หัวใจล้มเหลว การเปิดหลอดเลือด โรคเบาหวาน และการถอนยาเนื่องจากผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ 

การศึกษาวิจัยที่นำมาวิเคราะห์มีจำนวน 24 โครงการ โดยมีระยะการตรวจติดตาม 198,275 patient years    การใช้ RASi ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (rate ratio เท่ากับ 0.84, 95% CI อยู่ระหว่าง 0.72-0.98) การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (0.74, 0.59-0.94) กล้ามเนื้อหัวใจตาย (0.82, 0.76-0.88) สโตรค (0.79, 0.70-0.89) เจ็บหน้าอก หัวใจล้มเหลว และการเปิดหลอดเลือดเมื่อเทียบกับยาหลอกแต่ไม่รวมถึงยา active controls (การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเท่ากับ 1.05, 0.94-1.17; p = 0.006; การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับ 1.08, 0.93-1.25, p < 0.001; กล้ามเนื้อหัวใจตายเท่ากับ 0.99, 0.87-1.12, p = 0.01; สโตรคเท่ากับ 1.10, 0.93-1.31; p = 0.002) ผลการวิเคราะห์อภิมานแบบเบย์ชี้ว่าผลลัพธ์ของ RASi เมื่อเทียบกับยาหลอกในด้านการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้นอยู่กับอัตราการเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มควบคุม ดังนั้น RASi จึงมีประโยชน์เฉพาะในการศึกษาที่มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มควบคุมที่สูง (เสียชีวิตมากกว่า > 14.10 ราย และเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด > 7.65 รายต่อ 1,000 patient years) แต่ไม่มีประโยชน์ในการศึกษาที่มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มควบคุมที่ต่ำ

ข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อนโดยไม่มีหัวใจล้มเหลวชี้ว่า RASi ลดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดและการเสียชีวิตเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแต่ไม่รวมถึง active controls และในการศึกษาเปรียบเทียบกับยาหลอกก็พบว่าประโยชน์ของ RASi มักพบในการศึกษาที่มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มควบคุมที่สูงแต่ไม่พบในการศึกษาที่มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ในกลุ่มควบคุมที่ต่ำ หลักฐานที่พบจึงไม่สนับสนุนการใช้ RASi แทนยา active controls อื่น