ประเด็นทางสังคม: เพศสัมพันธ์ก่อนวัย (อันควร?)

นิติเวช กับความผิดทางเพศ

ประเด็นทางสังคม: เพศสัมพันธ์ก่อนวัย (อันควร?)

ว่าที่ พ.ต.ต.นพ.ณัฐวุฒิ โยธินอุปไมย พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์ แพทย์นิติเวช สถาบันนิติเวชวิทยา

โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นับเป็นโรงพยาบาลหลักที่พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งเหตุความผิดทางเพศ และโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งตัวผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางเพศเพื่อมาตรวจรักษา และเก็บวัตถุพยานเพื่อหาร่องรอยการกระทำผิด โดยโรงพยาบาลตำรวจได้จัดอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางเพศ ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” ซึ่งเป็นหน่วยงานในลักษณะบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ แพทย์นิติเวช สูตินรีแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ มารวมตัวกันในสถานที่เดียว เพื่อลดความยุ่งยาก ลดเวลา และเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้เสียหาย

เมื่อพูดถึงความผิดทางเพศ จำเป็นจะต้องกล่าวถึงตัวบทกฎหมายอันเป็นหลักเหตุให้มองสถานการณ์และสถานภาพของคดีและผู้เสียหายออก ความผิดเกี่ยวกับเพศถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 มาตรา แต่มาตราที่เป็นเหตุให้ต้องมีการส่งผู้เสียหายมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่คือ

  • มาตรา 276 เกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญ โดยใช้กำลังทำร้าย โดยผู้อื่นไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น...กรณีนี้เป็นกรณีทั่วไปที่อาจพบเห็นในละครหรือตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีการตบตีทำร้ายใช้กำลัง หรือวางยาสลบ แล้วข่มขืน
  • มาตรา 277 เกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม...กรณีนี้เป็นกรณีที่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี (ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โทษจะหนักขึ้น) โดยอาจไม่ได้มีการใช้กำลังบังคับ หรือเป็นการสมยอม มาตรานี้เป็นกรณีที่กฎหมายให้การคุ้มครองเด็ก ซึ่งเด็กอายุดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นบุคคลที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลของการกระทำได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ
  • มาตรา 278 และ 279 เกี่ยวกับการกระทำอนาจารแก่ผู้ใหญ่หรือเด็ก...กรณีนี้ก็เป็นที่เข้าใจทั่วไป เช่น การกอด จูบ ลูบ คลำ ของลับ ของสงวน ฯลฯ
  • มาตรา 283 ทวิ เกี่ยวกับการพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี (ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โทษจะหนักขึ้น) ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม...กรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายลงโทษผู้พาเด็กอายุดังกล่าวไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กจะยินยอม เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองเด็กเฉกเช่นมาตรา 277

      จะเห็นว่าสิ่งที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น นอกจากการข่มขืน หรือการกระทำอนาจาร ในความหมายที่ปุถุชนทั่วไปเข้าใจแล้ว ยังรวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์แบบสมยอมกับเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ นั่นหมายความว่า ผู้บัญญัติกฎหมายย่อมเล็งเห็นถึงศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อยของสังคม ในการที่จะปกป้องและวางกรอบให้แก่บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี หรือ 18 ปี ให้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของการกระทำผิด เพื่อเติบโตเป็นอนาคตพัฒนาประเทศชาติต่อไป

      แต่กระนั้นความผิดลักษณะดังกล่าวที่เกิดกับเด็กก็ยังเกิดขึ้น หนำซ้ำเมื่อสำรวจสถิติของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงจำนวนวัตถุพยานเกี่ยวกับความผิดทางเพศจากต่างจังหวัดที่ถูกส่งมาตรวจพิสูจน์ ณ สถาบันนิติเวชวิทยาแล้ว กลับพบว่าอายุของผู้เสียหายในคดีความผิดทางเพศเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 60-70 เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

      เมื่อเจาะลึกลงไปถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิด กลับพบว่าไม่ใช่กรณีที่เป็นการใช้กำลังตบตี บังคับขืนใจข่มขืน แต่โดยส่วนใหญ่กลับกลายเป็นกรณีเด็กหรือวัยรุ่นคบหาเป็นแฟนแล้วมีเพศสัมพันธ์ ถูกพ่อแม่ผู้ปกครองจับได้ จึงแจ้งความนำไปสู่การดำเนินคดี ไม่ว่าด้วยสาเหตุว่า ไม่สามารถตกลงกันเรื่องค่าเสียหาย ฝ่ายชายไม่ยอมรับ หรือต้องการจะเอาผิดผู้ต้องหาให้ถึงที่สุด หรือในระยะหลังนี้มักมีกรณีรู้จักกันผ่านทาง social media โปรแกรม chat ต่าง ๆ จากนั้นนัดไปเจอกัน เพียงแค่ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งก็จบลงด้วยเพศสัมพันธ์ เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองทราบ ไม่ว่าด้วยเหตุผล ความต้องการ หรือมุมมองอะไรก็ตามของพ่อแม่ผู้ปกครอง นำไปสู่การแจ้งความฟ้องร้องกันตามกระบวนการของกฎหมายเช่นเดิม

      ในกรณีที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราโดยไม่ยินยอมถือเป็นอาชญากรรม ผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนป้องกันปราบปราม ส่วนสนับสนุนทั้งทางด้านคดีความตามกฎหมาย แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ย่อมต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจผู้เสียหาย สืบหาพยานหลักฐาน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

      คำถามสำคัญคือ กรณีเด็กหรือวัยรุ่นสมยอมกันมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นกรณีส่วนใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมหรือไม่ และมีผลกระทบในบริบทใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การทำแท้ง บริบททางการศึกษาของเยาวชนเหล่านี้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ถ้าเห็นว่าเป็นปัญหา เรา ๆ ท่าน ๆ ผู้ใหญ่ในสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นควรแก้ไขให้ไปในทิศทางใด หรือเราควรเข้าใจและยอมรับว่าโลกสมัยเปลี่ยนไป เป็นยุคสมัยแห่งความไร้พรมแดน การเปิดรับวัฒนธรรมอย่างอิสระ และการเข้าถึงสื่อ social อย่างแพร่หลาย การมีเพศสัมพันธ์ในวัยไม่เกิน 18 ปี หรือ 15 ปี ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผิดจารีตศีลธรรม กระนั้นหรือ และสิ่งเหล่านี้จะนำพาสังคมเราไปสู่สิ่งใด หรือในอีกมุมมองหนึ่ง ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกหลานในสังคมครอบครัว จะมีแนวทางอบรมสั่งสอนและวางแนวทางเรื่องเพศสัมพันธ์ให้แก่บุตรหลานอย่างไร รวมถึงเมื่อเกิดปัญหา เกิดความผิดมาแล้ว จะรับมือแก้ไขอย่างไร จำเป็นต้องฟ้องร้องเป็นคดีความหรือไม่ บทความนี้คงไม่สามารถสรุปและให้คำตอบที่ชัดเจนแน่นอนได้ เพียงแต่เป็นหน้าต่างอีกบานที่ถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน และตระหนักรู้เพื่อนำสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไปคิดวิเคราะห์และปรับใช้กับลูกหลานในความดูแลตามมุมมองและค่านิยมของท่านต่อไป