เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ฮีโร่กู้ชีวิตใกล้ตัว

เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ฮีโร่กู้ชีวิตใกล้ตัว

         ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เผยสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่นับเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง คือ โรคหัวใจ โดยในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตปีละประมาณ 54,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 60 คนต่อแสนคน โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล อาจเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน เพราะคนไทยยังขาดทักษะความรู้พื้นฐานเรื่องการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) ซึ่งการทำ CPR นับเป็นเพียง 10% ของการช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเพียงทำให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองแต่หัวใจยังไม่กลับมาทำงานจึงทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก แต่ในปัจจุบันสามารถลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตได้ ถ้าบริเวณนั้นมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated Electrical Defibrillator: AED) และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรถพยาบาลกู้ชีพโดยด่วน

           นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “ตามที่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ทางสถาบันฯ ได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) โดยเบื้องต้นได้มีนโยบายให้คณะกรรมการช่วยชีวิตของสถาบันสุขภาพเด็กฯ จัดกิจกรรมอบรมดังกล่าวให้แก่นักศึกษาแพทย์ แพทย์ และบุคลากรในองค์กร ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มีความสนใจ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายประมาณ 200 คน ในปี พ.ศ. 2560 ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กฯ เตรียมขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสถาบันการศึกษา โรงเรียน เนอร์สเซอรี่ และหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพลานามัยเด็กในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อีกด้วย”

           นพ.วรการ พรหมพันธุ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านกุมารเวชกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหัวใจหยุดเต้นกะทันหันอาจเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เกิดได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือแม้แต่ในสนามเด็กเล่น และเกิดได้ทุกเวลา ถึงแม้จะพบได้บ่อยในระหว่างการออกกำลังกาย เพียงเสี้ยววินาทีที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะ สมองและร่างกายจะขาดออกซิเจนจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ทราบก่อนล่วงหน้า มักมีอาการเป็นลมหมดสติกะทันหัน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดมาก่อน เช่น จมน้ำโดยที่มีทักษะการว่ายน้ำเป็นอย่างดี หรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างปั่นจักรยานโดยไม่มีสาเหตุอันควร เป็นต้น”

              การลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันจึงจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน 2 เรื่อง ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเรื่องปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และการใช้ฮีโร่ใกล้ตัวอย่างเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เหมือนหรือแตกต่างกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) อย่างไร

            ก่อนการเข้าช่วยเหลือผู้ที่หมดสติ หรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำการตรวจสภาพร่างกายก่อน เริ่มต้นจากการเรียกชื่อ ว่าพอจะรู้สึกตัว หายใจได้เองหรือไม่ เพราะอาจเกิดจากสำลักอาหาร/วัตถุแปลกปลอมเข้าหลอดลม หรือมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหอบหืด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจหรือหายใจเฮือก และตรวจไม่พบว่ามีชีพจร (หรือไม่แน่ใจว่ามีชีพจร) ที่บริเวณคอในผู้ใหญ่/เด็กโต หรือบริเวณขาหนีบในเด็กเล็ก ในระยะเวลา 10 วินาที ต้องเริ่มทำ CPR อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากสมองขาดเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปสู่สมองเกินกว่า 6 นาที เยื่อในสมองอาจถูกทำลายจนนำไปสู่ภาวะสมองตายได้

         เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ รีบตามคนมาช่วย หรือติดต่อ 1669 ในระหว่างนั้นให้ผู้ช่วยเหลือทำ CPR ไปก่อน โดยเริ่มจากผู้ช่วยเหลือเหยียดแขนตรงและใช้มือสองข้างไขว้นิ้วร่วมกันกดลงไปบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ของผู้ป่วย ให้หน้าอกยุบลงไปประมาณ 4-5 เซนติเมตร (หรือประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกผู้ป่วย)ล้วปล่อยให้หน้าอกคืนสภาพ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 2-5 นาที หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหลังได้รับการทำ CPR ควรให้คนในละแวกนั้นนำเครื่อง AED มาใช้ในการช่วยชีวิต โดยเมื่อเปิดสวิตช์เครื่อง AED เครื่องจะแนะนำให้ผู้ใช้งานทำตามเป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากติดแผ่นวิเคราะห์ลงบนบริเวณหน้าอกของผู้ป่วยตามรูป โดยไม่มีเสื้อผ้า เสื้อชั้นในบดบัง จากนั้นเครื่อง AED จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจผู้ป่วย หากเครื่องประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องจะบอกให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า โดยผู้ช่วยเหลือห้ามสัมผัสผู้ป่วย เมื่อกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้ว เครื่องจะให้คำแนะนำในการช่วยเหลือต่อไป หากเครื่องประเมินแล้วว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องก็จะแนะนำให้ CPR ต่อไปจนกว่าจะมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือ

การทำ CPR ร่วมกับการใช้เครื่อง AED สามารถทำให้การช่วยชีวิตประสบผลสำเร็จมากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 สูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียวที่มีโอกาสเพียงร้อยละ 3-5 ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินรับไปดูแลต่อในโรงพยาบาลต่อไป ปัจจุบันเครื่อง AED ได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาใช้ตามสถานที่ราชการ บริษัทเอกชน โรงงาน โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา โรงแรม สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล สนามบิน และบนเครื่องบิน มากขึ้น