ผลลัพธ์ติดตามตัดต่อมลูกหมากเทียบกับสังเกตอาการในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มเป็น

ผลลัพธ์ติดตามตัดต่อมลูกหมากเทียบกับสังเกตอาการในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มเป็น

N Engl J Med 2017; 377:132-142.

            บทความเรื่อง Follow-up of Prostatectomy versus Observation for Early Prostate Cancer รายงานว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย PIVOT ก่อนหน้านี้ไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญด้านการเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่และผู้ป่วยที่สังเกตอาการ โดยที่ยังคงไม่มีข้อมูลชัดเจนด้านปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิตและการเสียชีวิตในระยะยาว

            ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1994 ถึงมกราคม ค.ศ. 2002 คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สุ่มให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่ 731 รายได้รับการรักษาด้วยการตัดต่อมลูกหมากออกหรือสังเกตอาการ โดยได้ขยายระยะการตรวจติดตามจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2014 สำหรับการประเมินผลลัพธ์หลัก การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ตลอดจนการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากอันเป็นองค์ประกอบหลักของผลลัพธ์รอง ในบทความนี้คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ชี้แจงข้อมูลการดำเนินโรค การรักษาที่ได้รับ และผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยรายงานนับตั้งแต่เริ่มการตรวจติดตามจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 (ระยะการตรวจติดตามเดิม)

            ระหว่างการตรวจติดตาม 19.5 ปี (มัธยฐาน 12.7 ปี) พบการเสียชีวิตในผู้ป่วย 223 รายจาก 364 ราย (ร้อยละ 61.3) ในกลุ่มผ่าตัด และใน 245 รายจาก 367 ราย (ร้อยละ 66.8) ในกลุ่มสังเกตอาการ (ความต่างสัมบูรณ์ของความเสี่ยงเท่ากับร้อยละ 5.5, 95% CI ระหว่าง -1.5 ถึง 12.4, hazard ratio เท่ากับ 0.84 และ 95% CI 0.70-1.01, p = 0.06) การเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากหรือการรักษามีรายงานในผู้ป่วย 27 ราย (ร้อยละ 7.4) ในกลุ่มผ่าตัด และใน 42 ราย (ร้อยละ 11.4) ในกลุ่มสังเกตอาการ (ความต่างสัมบูรณ์ของความเสี่ยงเท่ากับร้อยละ 4.0, 95% CI -0.2 ถึง 8.3, hazard ratio เท่ากับ 0.63, 95% CI 0.39-1.02, p = 0.06) การผ่าตัดสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่ต่ำกว่าเทียบกับการสังเกตอาการในผู้ป่วยที่มีมะเร็งความเสี่ยงปานกลาง (ความต่างสัมบูรณ์เท่ากับร้อยละ 14.5, 95% CI 2.8-25.6) แต่ไม่รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่มีความเสี่ยงต่ำ (ความต่างสัมบูรณ์ร้อยละ 0.7, 95% CI -10.5 ถึง 11.8) หรือมะเร็งความเสี่ยงสูง (ความต่างสัมบูรณ์ร้อยละ 2.3, 95% CI -11.5 ถึง 16.1) (p = 0.08 สำหรับความสัมพันธ์)  การรักษาสำหรับโรคลุกลามมีรายงานน้อยกว่าในกลุ่มผ่าตัดเทียบกับกลุ่มสังเกตอาการ (ความต่างสัมบูรณ์ร้อยละ 26.2, 95% CI 19.0-32.9) โดยส่วนใหญ่เป็นการรักษามะเร็งลุกลามเฉพาะที่ซึ่งไม่มีอาการ หรือการลุกลามที่ตรวจพบจากระดับ prostate-specific antigen อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบมากกว่าในกลุ่มผ่าตัดเทียบกับกลุ่มสังเกตอาการจนถึง 10 ปี และปัญหาข้อจำกัดการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอันเนื่องมาจากโรคหรือการรักษาพบมากกว่าในกลุ่มผ่าตัดเทียบกับกลุ่มสังเกตอาการจนถึง 2 ปี

            ข้อมูลจากการติดตามร่วม 20 ปีในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเฉพาะที่ชี้ว่า การผ่าตัดไม่ได้สัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุม และการผ่าตัดสัมพันธ์กับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าการสังเกตอาการ และการรักษาการสำหรับการลุกลามที่น้อยกว่า โดยส่วนใหญ่เป็นการรักษามะเร็งลุกลามเฉพาะที่ซึ่งไม่มีอาการ หรือการลุกลามที่ตรวจพบจากระดับ prostate-specific antigen