สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการประจำปี 2560 ครั้งที่ 6 “kNOw More Dementia”

สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการประจำปี 2560 ครั้งที่ 6
“kNOw More Dementia”

         สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2560 ครั้งที่ 6 ภายใต้ธีม kNOw More Dementia” และการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยด้านสมองเสื่อม Train The Trainer” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.. 2560 ณ โรงแรมตวันนา ถ.สุรวงศ์ กรุงเทพฯ

         รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทยได้มีการจัดการประชุมวิชาการทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะเน้นสำหรับแพทย์ และอาจจะมีบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล นักจิตวิทยา สำหรับการประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 นี้จะเป็นปีแรกที่ทางสมาคมโรคสมองเสื่อมฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถเข้าร่วมงานประชุมในประเด็นเรื่องของภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถพัฒนาศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “kNOw More Dementia” ซึ่งแปลว่า รู้จักภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้มีการเน้นคำว่า NO ซึ่งเมื่ออ่านออกเสียงจะสื่อความหมายว่า ไม่มีภาวะสมองเสื่อมอีกต่อไป โดยมี วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการอัพเดทความรู้ใหม่ ๆ ประจำปีเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ทั้งเรื่องของการวินิจฉัย การรักษา การป้องกัน ส่วนในด้านวัตถุประสงค์สำหรับหัวข้อ “Train The Trainer” ก็เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รู้จักตัวโรค ตระหนักถึงภาวะที่ควรระวังในการวินิจฉัย เทคนิคในการดูแลผู้ป่วย เทคนิคในเรื่องของการปฏิบัติและการสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างถูกวิธี เพื่อสามารถนำไปใช้ในการสอนผู้อื่นในระดับเบื้องต้นได้ต่อไป

            สำหรับรูปแบบงานประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 ประกอบด้วย การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์ ซึ่งผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียน อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมโรคสมองเสื่อมฯ ทั้งนี้ภายในงานมีทั้งการจัดประชุมเป็นห้องรวมและห้องย่อย โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมสามารถเข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้ สำหรับส่วนของหัวข้อที่มีความเฉพาะเกี่ยวกับ การดูแลผู้ป่วยด้านสมองเสื่อม Train The Trainer จะมีการจัดแยกเป็นห้องย่อยออกไป
            หัวข้อการประชุมในปีนี้มีความหลากหลายและแตกต่างจากปีอื่น ๆ โดยจะมีการนำเอาประเด็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุขของประเทศที่มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ตลอดจนการอัพเดทความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลกในเรื่องของภาวะสมองเสื่อมซึ่งจะครอบคลุมรายละเอียดตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อม การวินิจฉัย รวมไปถึงการดูแลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันและการใช้ยา ซึ่งทุกหัวข้อล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจทั้งสิ้น เช่น

  • นโยบายสาธารณสุขกับการนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านรองอธิบดีกรมการแพทย์ จะบรรยายเกี่ยวกับนโยบายเชิงกลยุทธ์ของประเทศที่จะนำมาเพื่อช่วยเหลือเชิงระบบในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัว โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม
  • ภาวะก่อนเกิดภาวะสมองเสื่อม เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเริ่มแรก ตลอดจนอาการที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาก่อนจะเกิดภาวะสมองเสื่อม
  • พันธุกรรมกับการเกิดภาวะสมองเสื่อม เป็นการแบ่งปันความรู้จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับด้านพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งในงานประชุมครั้งนี้จะกล่าวถึงพันธุกรรมใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม

            ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคสมองเสื่อมพบว่ามีอัตราเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ประการแรกคือ ภาวะสมองเสื่อมเริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อสมัยก่อนประชาชนจะเข้าใจว่าเป็นไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีการหลงลืมบ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เองบ้าง ดังนั้น เมื่อประชาชนเริ่มรู้จักภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ญาติจึงสามารถพาผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ประการที่สองคือ อายุขัยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี เพราะฉะนั้นยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น โดยสาเหตุของโรคสมองเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ ปัจจัยที่หนึ่งคือ ด้านพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุด้านกรรมพันธุ์นั้นมักจะมีผลในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี ปัจจัยที่สองคือ ปัจจัยที่ได้มาภายหลัง อาทิ การดำเนินชีวิต เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานตั้งแต่เด็กจนถึงในวัยหนุ่มสาว คนที่สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัด หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมาก ไม่ออกกำลังกาย มีภาวะซึมเศร้า ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ นอกจากนี้ปัจจัยอีกด้านคือ ปัจจัยด้านหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดัน ภายใน อนาคต 20-30 ปี อาจจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ และคาดว่าในอนาคตทิศทางของโรคสมองเสื่อมจะมีแนวโน้มที่สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้เร็วขึ้นก่อนที่สมองจะเริ่มเกิดการเสื่อมหรือถดถอย โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดภาวะโรคสมองเสื่อมมักจะต้องใช้ยา ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมโดยใช้หลาย ๆ เทคนิคร่วมกัน เช่น ทั้งเรื่องของอาหาร การทำกิจกรรม การออกกำลังกาย การควบคุมโรคประจำตัวร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย รศ.นพ.วีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

            ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมประมาณ 200-300 คน จึงขอเชิญชวนทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์มาเข้าร่วมประชุมภายใต้ธีม kNOw More Dementia” ซึ่งแน่นอนว่าประโยชน์ที่ได้รับคือ ความรู้ใหม่ ๆ ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีความเข้าใจในเรื่องของภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น สามารถทำการวินิจฉัยและการดูแลได้ดีขึ้น เพื่อสามารถแลกเปลี่ยนความรู้นำไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาศักยภาพที่สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จิตแพทย์ ประสาทแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ เป็นต้น

         ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0-2716-5995 โทรสาร 0-2716-6004 หรือ E-mail: dementiadat@gmail.com หรือ www.thaidementia.org