ภาวะลำไส้ขาดเลือด (Mesenteric ischemia)

ภาวะลำไส้ขาดเลือด (Mesenteric ischemia)

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

            ภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นความผิดปกติของระบบหลอดเลือดในช่องท้องที่มีความรุนแรงและถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้ และเนื่องจากลักษณะอาการและอาการแสดงทางคลินิกของภาวะนี้ไม่จำเพาะและส่วนใหญ่ไม่ชัดเจนจนในระยะท้าย ๆ ของโรคแล้ว ดังนั้น แพทย์จึงต้องให้ความระมัดระวังและสงสัยภาวะนี้ไว้เสมอในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

ระบาดวิทยาของโรค

            ภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมีอุบัติการณ์เฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.09-0.2 ต่อปี แต่มีความสำคัญมากเนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงได้มากถึงร้อยละ 60-80 และเนื่องจากโรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าในวัยหนุ่มสาว เมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุในประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจมีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ได้ในอนาคต

กายวิภาคศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโรค

            หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่เป็นแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง (abdominal aorta) มีอยู่ 3 เส้น ได้แก่

  • Celiac artery (CA) มีแขนงกระจายไปเลี้ยงทางเดินอาหารส่วนต้น (foregut) ได้แก่ ส่วนปลายของกระเพาะอาหารไปจนถึงลำไส้เล็ก duodenum ส่วนที่ 2 หลอดเลือดเส้นนี้มีขนาดใหญ่ ค่อนข้างสั้นและมีแขนงย่อยค่อนข้างมากจึงมักจะไม่พบมีภาวะลำไส้ขาดเลือดเกิดขึ้น
  • Superior mesenteric artery (SMA) มีแขนงกระจายไปเลี้ยงทางเดินอาหารส่วนกลาง (midgut) ตั้งแต่ลำไส้เล็ก duodenum ส่วนที่เหลือ ลำไส้เล็ก jejunum, ileum ไปจนถึงลำไส้ใหญ่ transverse colon ส่วนปลาย หลอดเลือดส่วนนี้เป็นส่วนที่พบเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจาก arterial embolus ได้บ่อยที่สุด เนื่องจากจุดที่แยกออกมาจากหลอดเลือดแดง aorta นั้นทำมุมเฉียง 45 องศาที่เป็นมุมที่ลิ่มเลือดหลุดลอยผ่านเข้ามาได้ง่าย
  • Interior mesenteric artery (IMA) มีแขนงกระจายไปเลี้ยงลำไส้ส่วนปลาย (hindgut) ตั้งแต่ลำไส้ใหญ่ส่วน transverse colon ไปจนถึง rectum ภาวะขาดเลือดของลำไส้จากหลอดเลือดบริเวณนี้สามารถพบได้บ้าง แต่โดยมากแล้วมักจะพบร่วมกับการขาดเลือดที่ SMA ร่วมด้วย

พยาธิสรีรวิทยาของโรค

            เมื่อการไหลเวียนภายในหลอดเลือดของลำไส้เริ่มลดลงหรือหยุดไป เนื้อเยื่อลำไส้ในชั้น mucosa จะเป็นส่วนแรกที่เกิดการขาดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นได้เนื่องจากมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ในชั้นนี้ แต่เนื่องจากส่วนของผนังลำไส้ที่อยู่ด้านนอก (ได้แก่ ชั้น muscularis และ serosa) ยังไม่เกิดการขาดเลือด จึงมักจะยังไม่ปรากฏอาการระคายเคืองของเยื่อบุช่องท้องจนทำให้ตรวจพบ rebound tenderness ได้ ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการปวดท้องที่รุนแรงกว่าลักษณะที่ตรวจพบได้จากทางหน้าท้อง แต่เมื่อการขาดเลือดดำเนินต่อไปมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการตายของลำไส้ชั้นที่อยู่รอบนอกด้วยจนทำให้เกิดอาการปวดท้อง และตรวจพบสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดการอักเสบในช่องท้อง (peritonitis) ได้ในเวลาต่อมา สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับอาการปวดในภาวะนี้ก็คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นจากการขาดเลือดระยะแรกและระยะหลังอาจคั่นด้วยช่วงเวลาที่อาการปวดท้องลดลงหรือหายไปราว 3-6 ชั่วโมง เนื่องจากในช่วงที่ลำไส้ขาดเลือดไปมากอาจทำให้การทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึกจากช่องท้องเสียไปจนไม่สามารถส่งสัญญาณของอาการปวดออกมาได้

ชนิดของการขาดเลือดในลำไส้

            การขาดเลือดที่เกิดขึ้นในลำไส้อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะคือ การขาดเลือดอย่างเฉียบพลันและอย่างเรื้อรัง ซึ่งในกรณีเรื้อรังนั้นมักจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการอุดตันภายในหลอดเลือดโดยตรง สาเหตุที่ทำให้เกิดลำไส้ขาดเลือดอย่างเฉียบพลันนั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หลอดเลือดแดงอุดตันจากลิ่มเลือดในบริเวณอื่น (arterial embolus), ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง (arterial thrombosis), ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thrombosis) และการขาดเลือดที่ไม่ได้มาจากการอุดตันของหลอดเลือด (non-occlusive ischemia)

            Acute arterial emboli เป็นสาเหตุของการขาดเลือดในลำไส้ที่พบบ่อยที่สุดคือ ประมาณร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วยทั้งหมด ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดที่ลอยมาอุดหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation, กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy), โรคของลิ้นหัวใจ และลิ่มเลือดที่เกิดหลังการตรวจ angiography เป็นต้น จุดที่เกิดการอุดตันในหลอดเลือดมักอยู่ในหลอดเลือด SMA ที่บริเวณ 3-10 ซม. จากจุดที่แยกแขนงออกมาจากหลอดเลือด aorta ซึ่งที่จุดนี้แขนงของหลอดเลือด jejunal และ middle colic artery ได้แยกออกไปแล้ว ดังนั้น ลำไส้ส่วนที่เลี้ยงด้วยแขนงของหลอดเลือดเหล่านี้จึงมักจะไม่เกิดการขาดเลือดไปด้วย เมื่อการไหลเวียนเลือดลดลง ลำไส้ส่วนที่ขาดเลือดจะมีการบีบตัวมากขึ้นในระยะแรก (gut emptying) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวจนอาจทำให้วินิจฉัยผิดเป็นอาการท้องร่วงได้

            Acute arterial thrombosis ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดตีบ atherosclerosis อาจมีการก่อตัวของคราบไขมัน (plaque) ที่บริเวณส่วนต้นของหลอดเลือด SMA และรบกวนการไหลเวียนเลือดมาที่ลำไส้ได้ โดยในรายที่ plaque เกิดการปริแตกจะกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดในบริเวณนั้นจนทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดจนเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก plaque ที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมักจะทำให้การไหลเวียนเลือดมาที่ลำไส้ลดลง ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมักมีประวัติอาการปวดท้องอย่างเรื้อรังและมักจะปรากฏอาการขึ้นหลังรับประทานอาหารซึ่งเรียกว่า intestinal angina นำมาก่อน

            Mesenteric venous thrombosis พบเป็นสาเหตุของภาวะลำไส้ขาดเลือดได้ราวร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีประวัติของภาวะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่มได้ง่าย (hypercoagulable state) มาก่อน เช่น protein C หรือ protein S deficiency, antithrombin III deficiency, factor V Leiden mutation เป็นต้น รวมถึงการมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง, การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis), โรคตับ และ portal hypertension, โรคเลือด sickle cell disease และโรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) เป็นต้น เมื่อเกิดอาการขาดเลือดผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้องขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่รุนแรงเหมือนที่พบในการอุดตันของหลอดเลือดแดง บางรายอาจมาพบแพทย์หลังจากมีอาการเกินกว่า 24 ชั่วโมงไปแล้ว ดังเช่นในรายงานการวิจัยหนึ่งซึ่งพบว่าผู้ป่วยภาวะลำไส้ขาดเลือดจากสาเหตุนี้มีอาการปวดท้องอยู่ระหว่าง 5-14 วัน และนานที่สุดได้ถึง 1 เดือนก่อนได้รับการวินิจฉัย

         Non-occlusive ischemia เป็นสาเหตุของภาวะลำไส้ขาดเลือดได้ประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่แล้วการขาดเลือดในลำไส้มักจะมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดของร่างกายโดยรวมลดลง เช่น hypovolemia, การใช้ยาในกลุ่ม vasopressor ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือในภาวะ sepsis เป็นต้น ในภาวะที่มีการไหลเวียนเลือดในร่างกายลดลง หลอดเลือดในลำไส้จะมีการปรับตัวโดยเกิดการหดเกร็งของหลอดเลือดซึ่งทำให้การไหลเวียนเลือดเข้ามายังผนังลำไส้ลดลงมากจนเกิดการขาดเลือดในที่สุด ผู้ป่วยที่เกิดการขาดเลือดของลำไส้จากสาเหตุนี้มักจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากเนื่องจากมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการขาดเลือดของลำไส้ร่วมด้วย

ลักษณะอาการและอาการแสดงทางคลินิก

            ผู้ป่วยที่พบการเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคร่วมที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้อยู่ก่อน เช่น โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease), โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease), เบาหวาน, โรคไตที่ต้องรับการรักษาด้วยการล้างไต, โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น อาการเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดท้อง ซึ่งมักจะเป็นลักษณะอาการปวดเกร็งที่บริเวณรอบสะดือแต่ระบุตำแหน่งไม่ได้แน่ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปลักษณะทางคลินิกที่เกิดจากการขาดเลือดของลำไส้จะเปลี่ยนแปลงไปซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะตามลำดับทางพยาธิสรีรวิทยาของโรค ได้แก่ hyperactive phase, paralytic phase และ shock phase

  • Hyperactive phase ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้องรุนแรงและไม่สัมพันธ์กับลักษณะที่พบจากการตรวจร่างกาย อาการที่อาจพบร่วมได้ในระยะนี้ ได้แก่ อาการอาเจียน ถ่ายเหลว และอาการถ่ายมีเลือดปน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากเริ่มมีการขาดเลือดของผนังชั้นในสุดของลำไส้ ซึ่งจะกระตุ้นทำให้ลำไส้มีการบีบตัวมากขึ้น
  • Paralytic phase เมื่อการขาดเลือดดำเนินต่อไปจะทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวลดลง อาการปวดท้องจะมากขึ้นและมีลักษณะทางคลินิกที่สามารถตรวจพบได้ ได้แก่ อาการกดเจ็บ ท้องอืดตึง เสียงของลำไส้ลดลง
  • Shock phase เมื่อลำไส้เกิดการขาดเลือดมากจนเริ่มมีการตายของเนื้อเยื่อในลำไส้จะเริ่มมีของเหลวซึมผ่านผนังของลำไส้ออกมาในช่องท้องทำให้เกิดภาวะ peritonitis ได้ (พบได้ราวร้อยละ 16 ของผู้ป่วยทั้งหมด) ผู้ป่วยเหล่านี้มักเกิดภาวะ sepsis และภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) ร่างกายขาดน้ำ ความดันโลหิตลดต่ำ หัวใจเต้นเร็ว และระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงตามมา

            ข้อควรสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับภาวะนี้คือ ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้เนื่องจากสาเหตุของการขาดเลือดในผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน และในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจร่างกายเลยก็ได้ ดังเช่นในการศึกษาหนึ่งซึ่งพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายเพียงร้อยละ 22 ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น แพทย์จึงต้องนึกถึงและสงสัยภาวะนี้เอาไว้เสมอในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้องโดยไม่ปรากฏสาเหตุชัดเจนและมีปัจจัยเสี่ยงของเกิดโรค

การวินิจฉัย

            นอกเหนือไปจากประวัติอาการและการตรวจร่างกายแล้ว การตรวจที่อาจนำมาใช้สนับสนุนการวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสีวิทยา

            การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (white blood cell count), ระดับกรดแลคติคในเลือด, ระดับ d-dimer และ Urine intestinal fatty acid-binding protein การตรวจเหล่านี้ส่วนใหญ่แม้จะมีความไวค่อนข้างสูงแต่ไม่ค่อยมีความจำเพาะ (ยกเว้นกรณีของ urine intestinal fatty acid-binding protein) และมักจะพบความผิดปกติได้ในระยะท้าย ๆ ของโรค ดังนั้น จึงมักจะไม่ค่อยมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยมากนัก

         การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่

  • การถ่ายภาพรังสีของช่องท้อง (plain abdominal radiography) โดยส่วนใหญ่ลักษณะความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อยจากภาพถ่ายรังสีแบบนี้ เช่น small bowel distention, air-fluid levels หรือ ileus มักจะไม่จำเพาะกับภาวะลำไส้ขาดเลือด และในบางรายก็อาจไม่พบความผิดปกติก็ได้ ลักษณะความผิดปกติอื่น ๆ ที่ค่อนข้างจำเพาะ เช่น thumbprinting หรือ thickening bowel loops รวมถึง pneumatosis intestinalis พบได้ไม่บ่อยนัก และมักจะพบได้เมื่อโรคดำเนินไปมากแล้ว จึงมักไม่ค่อยมีประโยชน์ในการวินิจฉัย
  • Ultrasound imaging การตรวจชนิดนี้สามารถตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือด mesenteric vessels ได้เมื่อมีการตีบแคบมากกว่า 50% จึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้วินิจฉัยภาวะลำไส้ขาดเลือดเรื้อรัง ส่วนในกรณีของภาวะลำไส้ขาดเลือดเฉียบพลันนั้น การตรวจนี้ยังไม่มีบทบาทชัดเจนเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการท้องอืดตึงและมีลมในลำไส้มากจนทำให้การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ทำได้ยาก
  • Computed tomography angiography เป็นการตรวจที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้ เนื่องด้วยเทคนิคในปัจจุบันทำให้ความไวในการวินิจฉัย (sensitivity) เพิ่มขึ้นมากถึง 93% และความจำเพาะรวมถึง positive และ negative predictive value อยู่ระหว่าง 92-100%, 90-100% และ 94-98% ตามลำดับ ลักษณะความผิดปกติที่สามารถตรวจพบได้จาก CT angiography ได้แก่ การพบลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด ซึ่งจะพบเป็น hypoattenuated thrombus การบวมของผนังลำไส้ และ mesentery และการอืดตึงของลำไส้ เป็นต้น
  • Angiography ในอดีตการตรวจด้วยวิธีนี้ถือเป็นการตรวจมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยภาวะลำไส้ขาดเลือด เนื่องจากมีความแม่นยำสูงและมีบทบาทในการรักษาด้วยวิธีการถ่างขยายหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการตรวจนี้ถูกนำมาใช้เพื่อการยืนยันการวินิจฉัยเฉพาะในรายที่ยังไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจวิธีอื่น
  • Laparoscopy สำหรับในสถานพยาบาลหรือสถาบันบางแห่งที่มีข้อจำกัดของการตรวจวินิจฉัยด้วย CT angiography หรือ angiography และอ่านผลโดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือข้อจำกัดในด้านผู้ป่วย เช่น การมีภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือมีอาการแพ้สารทึบรังสี เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจส่องกล้องในช่องท้อง (diagnostic laparoscopy) อาจนำมาใช้ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยได้ มีรายงานการศึกษาที่พบว่าการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้สามารถช่วยลดระยะเวลาของการวินิจฉัยลง และเพิ่มโอกาสสำเร็จของการรักษาได้

การดูแลรักษาผู้ป่วย

            กระบวนการรักษาผู้ป่วยภาวะลำไส้ขาดเลือดควรเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังอยู่ในระหว่างการตรวจวินิจฉัย การรักษาที่ควรพิจารณาให้แก่ผู้ป่วย ได้แก่

  1. การให้สารน้ำแก่ผู้ป่วยอย่างเพียงพอ (โดยเฉลี่ยราว 8-20 ลิตร) เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักจะเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำและมีความผิดปกติทาง metabolism หลายอย่างจากการรั่วของสารน้ำผ่านทางลำไส้ 
  2. พิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อในลำไส้ เช่น ceftriaxone ร่วมกับ metronidazole หรือ piperacillin-tazobactam
  3. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ heparin แบบหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ
  4. สำหรับลำไส้ในส่วนที่การขาดเลือดไม่มากนัก พิจารณารักษาด้วยวิธี revascularization คือการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดเพื่อนำลิ่มเลือดออกแล้วทำการซ่อมแซม หรือใช้วิธีการ endovascular repair เช่น embolectomy, thrombectomy, endarterectomy หรือ bypass ส่วนลำไส้ที่มีการตายเกิดขึ้นแล้วอาจพิจารณาตัดออก
  5. ภายหลังการผ่าตัด การดูแลผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวังการเกิดการหดเกร็งของหลอดเลือดในช่องท้อง (mesenteric vasospasm) เป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง การรักษาที่นิยมให้ในกรณีนี้ ได้แก่ intra-arterial papavarine infusion โดยการสอดสายสวนเข้าไปยังหลอดเลือดแดง SMA หรือให้ยาในกลุ่ม prostaglandin E1 ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดก็ได้

ผลการรักษาและการพยากรณ์โรค

            ในอดีตภาวะลำไส้ขาดเลือดเป็นภาวะที่อัตราการเสียชีวิตสูงมากถึงร้อยละ 80 และลดลงมาเหลือร้อยละ 70 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุของการเกิดโรค สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นจากภาวะแทรกซ้อน เช่น respiratory failure, multiorgan failure และ sepsis การวินิจฉัยโรคให้ได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก โดยมีข้อมูลการศึกษาพบว่าการวินิจฉัยและให้การรักษาภายใน 12 ชั่วโมงสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือเพียงร้อยละ 14 สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดที่พบได้บ่อย ได้แก่ short bowel syndrome ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 35-79 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยการดูแลติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดในระยะหลังการผ่าตัด

สรุป

            ภาวะลำไส้ขาดเลือดถือเป็นภาวะฉุกเฉินของระบบไหลเวียนเลือดที่แพทย์ต้องทำความคุ้นเคยและนึกถึงไว้เสมอในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้อง เนื่องจากเป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แม้ว่าสาเหตุของการเกิดภาวะนี้จะมีได้หลากหลาย แต่แนวทางในการรักษาจะคล้ายคลึงกัน และส่วนสำคัญที่สุดคือ การวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็วร่วมกับการเริ่มต้นการรักษาไปก่อนในระหว่างที่ดำเนินการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุดและลดภาวะแทรกซ้อนลงได้

References

  1. Cudnik MT, Darbha J, Jones J, et al. The diagnosis of acute mesenteric ischemia: a systematic review and meta-analysis. Acad Emerg Med 2013;20(11):1087-100.
  2. Lewiss RE, Egan DJ, Shreves A. Vascular abdominal emergencies. Emerg Med Clin North Am 2011;29:253-72.
  3. Martinez JP, Hogan GJ. Mesenteric ischemia. Emerg Med Clin North Am 2004;22(4):909-28.
  4. McKinsey JF, Gewertz BL. Acute mesenteric ischemia. Surg Clin North Am 1997;77:307-18.
  5. Boley SJ, Sprayregen S, Siegelman SJ, et al. Initial results from an aggressive roentgenologic and surgical approach to acute mesenteric ischemia. Surgery 1977;82:848.
  6. Clark RA, Gallant TE. Acute mesenteric ischemia: angiographic spectrum. AJR Am J Roentgenol 1984;142:555.
  7. Bobadilla JL. Mesenteric ischemia. Surg Clin North Am 2013;93:925-40, ix.
  8. Acosta S, Block T, Bjornsson S, et al. Diagnostic pitfalls at admission in patients with acute superior mesenteric artery occlusion. J Emerg Med 2012;42(6):635-41.
  9. Park WM, Gloviczki P, Cherry KJ, et al. Contemporary management of acute mesenteric ischemia: factors associated with survival. J Vasc Surg 2002;35(3):445-52.
  10. Levy PJ, Krausz MM, Manny J. Acute mesenteric ischemia: improved results–a retrospective analysis of ninety-two patients. Surgery 1990;107(4):372-80.
  11. Dahlke MH, Asshoff L, Popp FC, et al. Mesenteric ischemia–outcome after surgical therapy in 83 patients. Dig Surg 2008;25:213-9.
  12. Sun DL, Cen YY, Li SM, et al. Accuracy of the serum intestinal fatty acid-binding protein for diagnosis of acute intestinal ischemia: a meta-analysis. Sci Rep 2016;6:34371.
  13. Bradbury AW, Brittenden J, McBride K, et al. Mesenteric ischaemia: a multidisciplinary approach. Br J Surg 1995;82(11):1446-59.
  14. Duran M, Pohl E, Grabitz K, et al. The importance of open emergency surgery in the treatment of acute mesenteric ischemia. World J Emerg Surg 2015;10(1):45.
  15. Sack J, Aldrete JS. Primary mesenteric venous thrombosis. Surg Gynecol Obstet 1982;154:205.
  16. Oliva IB, Davarpanah AH, Rybicki FJ, et al. ACR Appropriateness criteria imaging of mesenteric ischemia. Abdom Imaging 2013;38(4):714-9.
  17. Kirkpatrick ID, Kroeker MA, Greenberg HM. Biphasic CT with mesenteric CT angiography in the evaluation of acute mesenteric ischemia: initial experience. Radiology 2003;229:91-8.
  18. Klar E, Rahmanian PB, Bucker A, et al. Acute mesenteric ischemia: a vascular emergency. Dtsch Arztebl Int 2012;109:249-56.
  19. Horton KM, Fishman EK. CT angiography of the mesenteric circulation. Radiol Clin North Am 2010;48:331-45.