ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

            ความรู้ทางด้านการแพทย์มีความก้าวหน้าไปมาก ทุกวัน ทุกปี ปัจจุบันนี้วงการแพทย์สามารถเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่าง ๆ ได้มากมาย ทำให้ผู้ที่เป็นโรคไต ตับ หัวใจ ปอด เลือด ฯลฯ สามารถรับการปลูกถ่ายอวัยวะต่าง ๆ ได้ และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างปกติ (ยกเว้นต้องรับประทานยา)

            ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการปลูกถ่ายไตเป็นแห่งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2515 และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เหมือนกันที่ปลูกถ่ายตับ หัวใจ เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2530 สภากาชาดไทยได้มองเห็นความสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะจึงได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 โดยมีท่าน พล.ต.อ.เภา สารสิน เป็นประธาน และมี นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานท่านต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ทั้งนี้เพราะสภากาชาดไทยเป็นองค์กรการกุศลที่ประชาชนทุกคนให้ความเคารพ นับถือ ไว้วางใจ สภากาชาดไทยจึงรับเป็นศูนย์กลางของการรับบริจาคอวัยวะ เพื่อจัดการแบ่งไปตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยไม่มีการ “ซื้อขาย” อวัยวะ

            อวัยวะที่ได้มาจาก 2 แหล่ง แหล่งที่สำคัญที่สุดคือ จากผู้ป่วยที่มีภาวะ “สมองตาย” ทางด้านแพทย์ “สมองตาย” คือผู้ป่วยถึงแก่กรรมแล้ว แต่หัวใจยังเต้นอยู่ ปอดยังทำงานอยู่ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกหน่อยหัวใจ ปอดจะหยุดทำงาน พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะ “สมองตาย” ถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์จะไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาอีกเลย เพียงแต่ว่าหัวใจ ปอดจะทำงานไปได้นานเท่าไหร่ ญาติของผู้ที่มีภาวะ “สมองตาย” จึงควรพิจารณาบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่อวัยวะบางอย่างวายแล้วและผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมภายในไม่ช้าไม่นาน จึงขึ้นอยู่กับญาติผู้ป่วย “สมองตาย” ว่าจะบริจาคอวัยวะให้หรือไม่ ผู้ที่มีภาวะสมองตายอาจบริจาคอวัยวะได้หลาย ๆ อวัยวะ เช่น ไต ตับ ตับอ่อน ฯลฯ ฉะนั้นอาจช่วยชีวิตผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตได้หลายคน

            อีกวิธีหนึ่งของการบริจาคอวัยวะ คือ การเอาอวัยวะมาจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นคนที่ปกติ ไม่เป็นโรค แต่เป็นญาติพี่น้องกับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนใหญ่แล้วเราจะเอาเฉพาะตับ ไต มาจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ก่อนที่จะบริจาคอวัยวะจะต้องตรวจความสมดุลของผู้ที่จะบริจาคกับผู้ที่จะรับบริจาคเสียก่อนว่า อวัยวะที่บริจาคจะเข้ากันได้หรือไม่กับร่างกายของผู้ที่จะรับบริจาค

            ในปี พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งผ่านไป ได้มีการบริจาคอวัยวะจากผู้ที่มีภาวะ “สมองตาย” 294 ราย หรือ 4.4 คน/ประชากรล้านคน เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน (74 ราย) บางคนอาจพูดว่า “เพียง” 294 ราย บางคนอาจพูดว่า “ถึง” 294 ราย ผมเองคิดว่า 294 รายนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยะ  ซึ่งจาก 294 รายที่ได้บริจาคนี้ สามารถนำไปปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อได้ถึง 1,804 ราย โดยมีการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 670 ราย (จากผู้บริจาค 1 คน อาจได้ทั้งหัวใจ ปอด ตับ ไต ฯลฯ) และเนื้อเยื่อ 1,134 ชิ้น โดยมีไต 543 ราย, ตับ 105 ราย, หัวใจ 20 ราย, ปอด 1 ราย, หัวใจ ตับ ไต 1 ราย ส่วนเนื้อเยื่อมีผิวหนัง 638 ขวด, ลิ้นหัวใจ 111 ลิ้น, ดวงตา 365 ดวง, กระดูก 13 ราย, หลอดเลือด 7 ราย  ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีผู้แสดงความจำนงที่จะให้อวัยวะเมื่อถึงแก่กรรมถึง 89,636 ราย

            แต่ในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ลงทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 5,851 ราย!!! แต่ได้รับอวัยวะเพียง 670 ราย!! หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 12% ของผู้ที่รอทั้งหมด

            การปลูกถ่ายอวัยวะปัจจุบันนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือ มีการบริจาคอวัยวะน้อยมาก ผู้ที่มีภาวะ “สมองตาย” คือผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วทั้งนั้น ไม่ช้าไม่นานก็จะเสียชีวิต จึงอยากเรียนเชิญชวนญาติพี่น้องของผู้ที่มี “สมองตาย” ได้กรุณาพิจารณาบริจาคอวัยวะของญาติที่มีภาวะ “สมองตาย” ให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และจะอยู่ได้ต่อไปถ้าได้รับอวัยวะใหม่ แต่ถ้าไม่ได้รับอวัยวะก็จะต้องเสียชีวิตภายในไม่ช้า ทางด้านศาสนาพุทธก็เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ การบริจาคไต ตับ ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าเราจะเกิดมาโดยไม่มีไต ตับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะที่บริจาค แต่กลับตรงกันข้าม เราอาจเกิดมามีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์มากกว่าชาตินี้

            จึงขอเชิญชวนทุก ๆ ท่านให้บริจาคร่างกายของท่านและพิจารณาบริจาคอวัยวะของญาติท่านที่มีภาวะ “สมองตาย” แล้วให้แก่ผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตและจะอยู่ต่อได้ถ้าได้รับการบริจาคอวัยวะ การวินิจฉัยภาวะ “สมองตาย” จะกระทำโดยแพทย์ 2 ท่านที่ไม่ใช่ผู้ที่ทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝง

            ขอให้การเสียชีวิตของผู้ที่ท่านรักเป็นโอกาสในการชุบชีวิตของอีกท่านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ท่านที่กำลังจะเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการบริจาคอวัยวะ อย่าให้การเสียชีวิตของญาติท่านเป็นไปโดยเปล่าประโยชน์เลยครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าในความกรุณาของท่านครับ