ความเสี่ยงผลข้างเคียงจากการรักษาลำดับสองด้วย Sulfonylureas

ความเสี่ยงผลข้างเคียงจากการรักษาลำดับสองด้วย Sulfonylureas 

BMJ. 2018;362:k2693.

            บทความเรื่อง Sulfonylureas as Second Line Drugs in Type 2 Diabetes and the Risk of Cardiovascular and Hypoglycaemic Events: Population Based Cohort Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาแบบ population based cohort study เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มหรือเปลี่ยนไปใช้ sulfonylureas กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองตีบ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรงเทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียวในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

            คณะผู้วิจัยศึกษาจากฐานข้อมูล Clinical Practice Research Datalink ของสหราชอาณาจักร โดยครอบคลุมผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเริ่มการรักษาด้วย metformin อย่างเดียวระหว่างปี ค.ศ. 1998-2013 โดยเทียบ (1:1) ผู้ป่วยที่เพิ่มหรือเปลี่ยนมาใช้ sulfonylureas กับผู้ป่วยที่ยังคงรักษาด้วย metformin อย่างเดียวตามคะแนน high-dimensional propensity score, haemoglobin A1c และจำนวนการสั่งจ่าย metformin ที่ได้รับมาก่อน และเปรียบเทียบทั้ง 2 กลุ่มด้วยตัวแบบ Cox proportional hazards models เพื่อประเมิน hazard ratios ที่ปรับแล้ว และ 95% CI สำหรับผลลัพธ์การรักษา

            จากผู้ป่วยที่เริ่มการรักษาด้วย metformin รวม 77,138 ราย มีผู้ป่วย 25,699 รายที่เพิ่มหรือเปลี่ยนไปใช้ sulfonylureas ในช่วงที่ศึกษา ระหว่างการตรวจติดตามเฉลี่ย 1.1 ปี พบว่า sulfonylureas สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย (อัตราอุบัติการณ์ 7.8 ราย เทียบกับ 6.2 รายต่อ 1,000 คน-ปี, hazard ratio เท่ากับ 1.26, 95% CI 1.01-1.56) การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (27.3 รายเทียบกับ 21.5 ราย, 1.28, 1.15-1.44)  และภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง (5.5 รายเทียบกับ 0.7 ราย, 7.60, 4.64-12.44) เทียบกับการรักษาด้วย metformin อย่างเดียว และยังพบแนวโน้มของความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบ (6.7 รายเทียบกับ 5.5 ราย, 1.24, 0.99-1.56) และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (9.4 รายเทียบกับ 8.1 ราย, 1.18, 0.98-1.43) เมื่อเทียบกับการเพิ่ม sulfonylureas พบว่าการเปลี่ยนมารักษาด้วย sulfonylureas สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย (hazard ratio 1.51, 95% CI 1.03-2.24) และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (1.23, 1.00-1.50) จากการศึกษาไม่พบความต่างด้านโรคหลอดเลือดสมองตีบ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง

            การรักษาลำดับสองด้วย sulfonylureas สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรงเทียบกับการรักษาต่อด้วย metformin อย่างเดียว และการเพิ่ม sulfonylureas โดยยังคงได้รับ metformin น่าจะปลอดภัยกว่าเปลี่ยนการรักษา