คำแนะนำการรักษาภาวะอ้วนเกินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ปฐมภูมิในปัจจุบัน

คำแนะนำการรักษาภาวะอ้วนเกินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ปฐมภูมิในปัจจุบัน

            ภาวะอ้วนเกินเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ จากบทความวิชาการของ Scott และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการสรุปแนวทางการรักษาภาวะอ้วนเกินของ the United States Preventive Services Task Force (USPSTF) ในปี ค.ศ. 2018 โดยระบุว่าการให้คำปรึกษาเพื่อรักษาภาวะอ้วนเกินในสถานปฏิบัติการปฐมภูมิจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกันเรียกว่าหลักการ “ABCDEF” โดย A = Ask “permission” คือ การสอบถามความพร้อมของผู้ที่มีภาวะนี้ว่า ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือจัดการใด ๆ กับภาวะอ้วนเกินนี้หรือไม่, B = Be systematic in the clinical workup คือ การจัดการใด ๆ ก็ตามจะต้องออกแบบขึ้นสำหรับผู้ป่วยแบบเฉพาะรายโดยใช้ข้อมูลเฉพาะของผู้ป่วยในการกำหนดแผนการรักษา เช่น การค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนเกินของผู้ป่วยเฉพาะรายและกำจัดที่สาเหตุนั้น การประเมินการรักษาหรือการจัดการใด ๆ ที่ผู้ป่วยได้รับมาก่อนหน้า และพิจารณาว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษานั้นหรือไม่ อย่างไร ก่อนพิจารณาว่าจะให้การรักษานั้นต่อหรือไม่ หรือควรปรับเปลี่ยนอย่างไร เป็นต้น C = Counseling and support คือ การรับฟังข้อมูลของผู้ป่วยด้วยความใส่ใจ และสนับสนุนการปรับพฤติกรรมเสี่ยงโดยใช้หลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน กระทำอย่างมีความยืดหยุ่นและค่อยเป็นค่อยไป D = Determine health status คือ การประเมินสุขภาวะของผู้ป่วยและเริ่มให้การจัดการใด ๆ ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเท่านั้น เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือรบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว E = Escalate treatment when appropriate คือ การเลือกแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งทางเลือกมีทั้งการรักษาด้วยการใช้ยา (เมื่อ BMI > 27 kg/m2) และการผ่าตัด (เมื่อ BMI > 35 kg/m2) และยาอาจไม่ใช่ทางเลือกแรกหรือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป F = Follow up regularly and leverage available resources คือ การติดตามผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษาภาวะอ้วนเกิน ในปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามผู้ป่วยได้หลากหลายช่องทาง โดยมีหลักการสำคัญ คือ การติดตามในช่วงเวลาที่เหมาะสม ติดตามผลลัพธ์ที่เหมาะสม ซึ่งหากพบว่าผลลัพธ์ที่ติดตามยังไม่เข้าเป้าหมายจะต้องมีการจัดการที่เหมาะสมและแบบเฉพาะรายต่อไป โดยจะต้องทำงานประสานร่วมกันเป็นทีมสุขภาพ ไม่ใช่ในลักษณะการสั่งให้ผู้ป่วยต้องปฏิบัติอีกต่อไป

ที่มา: Scott K, JoAnn EM. JAMA. 2019;321:1349-50.

Bağlama Duası