บุคลากรทางการแพทย์ควรคิดอย่างไรก่อนจ่ายยาปฏิชีวนะ

บุคลากรทางการแพทย์ควรคิดอย่างไรก่อนจ่ายยาปฏิชีวนะ

            ปัญหาด้านยาในปัจจุบันที่มีความสำคัญในระดับโลกคือ ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลดประสิทธิภาพการรักษาและนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการเสียชีวิตได้ จากบทความของ Tamma และคณะ ซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA ในปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า ถึงแม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่ายาปฏิชีวนะมีประโยชน์และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียได้มาก แต่ในปัจจุบันกลับพบรายงานการเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีมาตรการจัดการต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากและมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด แต่ก็เป็นการควบคุมที่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกใด ๆ มากนัก ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้ประเมินการใช้ยาก่อนสั่งใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด การกำหนดให้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทุกครั้งก่อนสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ การกำหนดให้เภสัชกรเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อบ่งใช้ยา ขนาดยา และระยะเวลาในการรักษา เป็นต้น ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งพบว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มขั้นตอนการทำงานและทำให้เกิดการจ่ายยาล่าช้าซึ่งเสี่ยงต่อการลดประสิทธิภาพในการรักษาภาวะติดเชื้อบางอย่างด้วย  Pranita และคณะ ระบุว่ารากของปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ได้เกิดจากการไม่มีระบบหรือไม่มีกระบวนการที่ดีพอในการจัดการ แต่อาจเกิดจากปัจจัยพื้นฐานด้านตัวบุคคลซึ่งยังขาดหลักคิดบางอย่างในการใช้ยาปฏิชีวนะ จึงได้เสนอหลัก 4 ประการ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้ “คิดให้ดีก่อนจ่ายยาปฏิชีวนะ” ได้แก่ 1. ผู้ป่วยมีข้อบ่งใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่  2. ได้มีการส่งตรวจเพาะเชื้ออย่างเหมาะสมหรือยืนยันชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุก่อนสั่งใช้ยาแล้วหรือไม่  3. ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างหรือแคบเพียงใด หรือควรเปลี่ยนจากการบริหารยาแบบฉีดเป็นยาแบบรับประทานได้แล้วหรือยัง และ 4. ควรใช้ยายาวนานเท่าใด แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความรู้ในปัจจุบันคือ “shorter is better” กล่าวคือ สามารถจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับโรคติดเชื้อบางชนิดได้ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยยังคงได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาเหมือนเดิมและไม่เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ยกตัวอย่างเช่น community acquired pneumonia จากเดิมที่ระบุให้รักษานาน 7-10 วัน แต่ในปัจจุบันอาจลดลงเหลือเพียง 3-5 วัน, acute bacterial rhinosinusitis จากเดิมที่ระบุให้รักษานาน 10 วัน แต่ในปัจจุบันอาจลดลงเหลือเพียง 5 วัน และ intra-abdominal infection จากเดิมที่ระบุให้รักษานาน 10 วัน แต่ในปัจจุบันอาจลดลงเหลือเพียง 4 วัน เป็นต้น โดยเสนอว่าอาจพิจารณาหยุดใช้ยาปฏิชีวนะก่อนครบระยะเวลาการรักษาได้หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน หรืออาการแสดงของภาวะติดเชื้อหายไปแล้ว โดยผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินว่าสามารถหยุดใช้ยาปฏิชีวนะได้แล้วหรือไม่

ที่มา: Tamma PD, Miller MA, Cosgrove SE. Rethinking how antibiotics are prescribed: incorporating the 4 moments of antibiotic decision making into clinical practice. JAMA. 2019;321:139-40.

ığdır escort