หูชั้นนอกอักเสบ…ควรหรือไม่ควรใช้ยาใด

หูชั้นนอกอักเสบ…ควรหรือไม่ควรใช้ยาใด

            หูชั้นนอกอักเสบเป็นภาวะผิดปกติของหูที่พบบ่อยในชุมชน ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวด คัน ระคายเคืองหู ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีหนองหรือของเหลวไหลออกมาจากรูหู ร่วมกับการได้ยินเสียงลดลง สาเหตุของโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อที่มักพบว่าเป็นสาเหตุ ได้แก่ Staphylococcus aureus, Group A Streptococcus และ Pseudomonas aeruginosa ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่สามารถเลือกใช้ในการรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบได้ และมีจำหน่ายอยู่โดยทั่วไปในร้านยาของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาสูตรผสม เป็นต้น ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ “จะมีแนวทางในการเลือกใช้ยาแต่ละชนิดเหล่านั้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร” Daniel และคณะ ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ โดยสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และคัดเลือกจนได้การศึกษาที่มีความตรงภายในสูง จำนวน 9 การศึกษา เมื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลพบว่า การรักษาที่น่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบ ได้แก่ การทำความสะอาดหู, topical aluminium acetate (8% Burow's solution) และยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่ เป็นต้น และการรักษาที่ไม่ทราบข้อมูลด้านประสิทธิภาพอย่างชัดเจน หรือน่าจะมีประสิทธิภาพน้อย ได้แก่ 1. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เดี่ยว ๆ ซึ่งอาจทำให้บดบังอาการและอาการแสดงของภาวะหูชั้นนอกอักเสบ จึงทำให้ดูเหมือนว่าอาการดีขึ้นหรือไม่แย่ลง แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุของโรคยังไม่ถูกกำจัดไป แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ายากลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพดีหากเลือกใช้ในรูปแบบยาสูตรผสมกับยาปฏิชีวนะ  2. ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ซึ่งพบว่าหากใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่เดี่ยว ๆ  3. Topical acetic acid มีหลักฐานพบว่าการใช้ยานี้เดี่ยว ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความรุนแรงของโรคมาก แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่ระบุว่าการใช้ยานี้ร่วมกับยาสูตรผสมชนิดออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่ระหว่างยาปฏิชีวนะและยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งพบว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น  4. ยาฆ่าเชื้อราชนิดออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่ ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบ ดังนั้น จึงไม่ควรเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อราเป็นทางเลือกแรกในการรักษา

ที่มา: Hajioff D, MacKeith S. Otitis externa. BMJ Clin Evid. 2015.