ออกกำลังกาย หรือใช้ยา อย่างใดลดความดันโลหิตได้ดีกว่ากัน

ออกกำลังกาย หรือใช้ยา อย่างใดลดความดันโลหิตได้ดีกว่ากัน

            ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่า “การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม” มีแนวโน้มช่วยป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้ ข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การกำหนดคำแนะนำการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงของหน่วยงานและสมาคมต่าง ๆ ที่ให้ผู้ป่วยหรือบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงปรับพฤติกรรมโดยการ “เพิ่มการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ” อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่าการออกกำลังกายชนิดใดดีที่สุดสำหรับป้องกันโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตได้หรือไม่  Naci และคณะ ได้ตีพิมพ์การศึกษาทางคลินิกรูปแบบ network meta-analysis ลงในวารสาร Br J Sports Med ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์ผลลัพธ์จากงานวิจัยชนิด randomized controlled trials จำนวนทั้งสิ้น 391 การศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายและการรักษาโดยการใช้ยาลดความดันโลหิตต่อการเปลี่ยนแปลงค่า systolic blood pressure (SBP) จากค่าพื้นฐานก่อนออกกำลังกายหรือก่อนการได้รับยา ผลการศึกษาพบว่า 1. การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงโดยการใช้ยาสามารถลดระดับความดันโลหิต SBP ได้มากกว่าการออกกำลังกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean difference -3.96 mmHg, 95% CI -5.02 to -2.91)  2. การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ endurance หรือ resistance ก็สามารถลดระดับความดันโลหิต SBP ได้  3. หากพิจารณาเฉพาะผลการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่พบความแตกต่างระหว่างการลดระดับความดันโลหิต SBP ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม ACE-I, ARB, β-blocker และ diuretic เมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบ endurance หรือ dynamic resistance (0.18, 95% CI -1.35 to 1.68) อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ผลลัพธ์หลักที่สนใจคือ ระดับความดันโลหิต SBP (เป็นผลลัพธ์แบบ surrogate outcome) ไม่ใช่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดขึ้น หรือความเสี่ยงที่ลดลง (เป็นผลลัพธ์แบบ final outcome) และในการศึกษานี้ไม่มีการระบุว่าในกลุ่มที่ได้รับยามีการออกกำลังกายร่วมด้วยหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น จึงอาจสรุปผลได้เพียงว่าการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมมีแนวโน้มให้ผลดีต่อการลดระดับความดันโลหิต SBP ได้ โดยควรแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงทุกรายปฏิบัติ และน่าจะมีผลดีมากขึ้นหากออกกำลังกายร่วมกับการรับประทานยาลดความดันโลหิต แต่การศึกษานี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวจะลดระดับความดันโลหิต SBP ในระดับที่จะทดแทนการรับประทานยาลดความดันโลหิตได้

ที่มา: Naci H, Salcher-Konrad M, Dias S, Blum MR, Sahoo SA, Nunan D et al. How does exercise treatment compare with antihypertensive medications? A network meta-analysis of 391 randomised controlled trials assessing exercise and medication effects on systolic blood pressure. Br J Sports Med. 2018 pii: bjsports-2018-099921. doi: 10.1136/bjsports-2018-099921.