การทำตามนโยบายสาธารณสุขให้สำเร็จตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา (ตอนที่ 1)

การทำตามนโยบายสาธารณสุขให้สำเร็จตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา (ตอนที่ 1)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา

            พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดที่กำลังบริหารประเทศในขณะนี้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยได้แถลงถึงนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขไว้ในข้อ 9 ในเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการประกันสังคมไว้(1) ซึ่งในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ควรให้ความสนใจว่ารัฐบาลสัญญาว่าจะทำอะไรในการบริหารประเทศด้านสาธารณสุขเพื่อชาวไทยบ้าง เนื่องจากการแถลงนโยบายก็เปรียบเหมือนการที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาต่อรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ว่าจะบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านใดบ้าง ซึ่ง ส.ส. ในฐานะผู้แทนของประชาชนจะต้องคอยตรวจสอบว่า รัฐบาลได้ทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้หรือไม่ ถ้า ส.ส. เห็นว่ารัฐบาลเพิกเฉย ไม่ทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ ส.ส. ก็อาจตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายทั่วไป หรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นับเป็นการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนโยบายทางการสาธารณสุขที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาอยู่ในข้อ 9 รวมกับหลักประกันทางสังคมด้วย โดยแบ่งเป็นข้อย่อย 4 ข้อ ซึ่งเราจะมาทบทวนในแต่ละข้อเพื่อเสนอแนะแนวทางในการทำงานตามนโยบายและคอยติดตามดูว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดินในด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะสามารถบริหารงานให้สำเร็จตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่

            นโยบายข้อ 9 การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม มุ่งเน้นการจัดบริการสาธารณสุขและระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม นำไปสู่ความเสมอภาค ประกอบด้วย

            9.1 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทยให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงการยกระดับไปสู่การแพทย์แม่นยำ และยกระดับการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ โดยอยู่บนพื้นฐานหลักประสิทธิภาพ และความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างสุขภาพและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง และลดอัตราความเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง

            ขอวิพากษ์เฉพาะนโยบายข้อ 9.1 ก่อน ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการนำนโยบายด้านสาธารณสุขไปปฏิบัติหรือดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา (ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลนี้จะต้องทำให้สำเร็จผลเป็นรูปธรรม) แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการด้านสาธารณสุข ได้เริ่มต้นทำอะไรตามการแถลงนโยบายนี้บ้างหรือยัง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาดังนี้

  •             . นโยบาย “พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทย ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ยังขาดประสิทธิภาพ ขาดคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่พอเพียงต่อการทำงานที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และรวดเร็ว จนทำให้ประชาชนต้องเสียเวลารอรับบริการนานมาก ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบายว่า ประชาชนไม่ควรรอพบแพทย์เกิน 1 ชั่วโมง(2) ผู้เขียนจึงขอเรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบว่าจะทำนโยบายนี้ให้สำเร็จได้มี 2 วิธี คือ

1. .. .. 80 200

2. () () ()

            ข. นโยบาย “การยกระดับให้เป็นการแพทย์แม่นยำ” การพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนามาตรฐานให้ทันสมัยจนไปสู่การแพทย์แม่นยำ (การรักษามุ่งเป้า) ได้ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพตีกรอบให้แพทย์ใช้ยา (สำหรับรักษาผู้ป่วยได้)เฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น และในการรักษาผู้ป่วยหลายโรคหลายกรณีนั้น ยาในบัญชียาหลักอาจมีประสิทธิภาพ (คือประหยัด คุ้มค่า) แต่ยังไม่มีประสิทธิผล (คือไม่เกิดผลในการรักษาให้ตรงโรค) และไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่การยอมรับ (มาตรฐาน) ในระดับสากลจนพัฒนาเป็นการแพทย์แม่นยำได้ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยุติการก้าวก่ายการรักษาผู้ป่วยจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาประชาชนรายหัวเพิ่มเติมให้เหมาะสมจึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาให้ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

            ค. นโยบาย “พัฒนาการบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่” ปัจจุบันจำนวนแพทย์และพยาบาลที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริการทางการแพทย์ในแต่ละภาคต่าง ๆ มีไม่เท่ากัน (เทียบกับจำนวนประชาชนที่รับผิดชอบ) กรุงเทพมหานคร มีแพทย์และพยาบาลมากที่สุด ในขณะที่ภาคอีสานมีจำนวนแพทย์และพยาบาลน้อยที่สุด นอกจากนั้นอาคารสถานที่ เตียง เครื่องมือ เทคโนโลยีก็มีไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาค (รัฐมนตรีสามารถไปขอข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนได้) การกระจายทรัพยากร คน เงิน ของก็ไม่เท่าเทียมกัน จึงต้องแก้ไขการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมต่อจำนวนประชาชนด้วย (และจำนวนผู้ป่วย)

            ง. นโยบาย “การจะยกระดับการประกันสุขภาพไปสู่แรงงานนอกระบบ” คนเขียนนโยบายข้อนี้ไม่รู้หรือว่า แรงงานต่าง ๆ นั้นได้รับการประกันสุขภาพโดยระบบการประกันสังคม รวมทั้งแรงงานต่างด้าวก็เข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือต้องซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนแรงงานนอกระบบที่เป็นคนไทยก็ได้รับการประกันสุขภาพจากระบบ 30 บาท ส่วนคนต่างด้าวนั้นควรต้องซื้อประกันสุขภาพเอง เพราะว่าประเทศอื่น ๆ ที่ร่ำรวยก็ไม่ได้ให้ประกันสุขภาพแก่คนที่ไม่ใช่พลเมืองของประเทศของเขา แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) ซื้อบริการจากโรงพยาบาลในราคาต่ำกว่าต้นทุน ทำให้โรงพยาบาลมีงบประมาณขาดดุล ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดงบประมาณในการพัฒนา และรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่รัฐมนตรีต้องทำตามมติคณะกรรมการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่จะทำตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ (ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพไม่ลงมติเห็นชอบด้วย) จึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามที่หัวหน้า คสช. (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) เคยสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อนแก้ไขแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จ รัฐมนตรีคนปัจจุบันควรศึกษาเพื่อทำความเข้าใจจึงจะแก้ปัญหาในข้อ ข. และข้อ ง. ได้

            จ. นโยบาย “ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง และลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง” เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ต้องทำบทบาทนี้ให้เข้มแข็งโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค และยังมีสำนักงานสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเงินสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการนี้ปีละหลายพันล้านบาท รัฐมนตรีในฐานะรองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 1 ควรไปกวดขันให้สสส. นำเงินงบประมาณของ สสส. มาทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล (ตรงประเด็น) ยิ่งขึ้น

            ฉ. นโยบาย “การจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน” นโยบายข้อนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องกระตุ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษ (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกเขาเลิกใช้กันแล้ว เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอง และนักวิชาการทางการแพทย์ก็ออกมาตอกย้ำแล้วว่า สารเคมีเหล่านี้สะสมในสิ่งแวดล้อม ถูกดูดซึมเข้าไปอยู่ในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ สัตว์บกที่ประชาชนต้องรับประทานเข้าไป ทำให้คนไทยมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงที่สุดในโลก และเป็นพิษโดยตรงแก่เกษตรกรผู้สัมผัสด้วย ทำให้เกษตรกรได้รับอันตรายจากสารพิษโดยตรงและต่อเนื่อง จนเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งของคนไทยที่มีอัตราสูงที่สุดในโลก

            ช. นโยบาย “การลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง” กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีสุขภาพดี จะลดได้ทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและลดโรคเรื้อรัง ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การรักษาอนามัยส่วนบุคคลและบ้านเรือน (ความสะอาด ถูกสุขลักษณะ) การนอนหลับ การขับถ่าย การมีอารมณ์ดี ผ่อนคลาย ไม่เครียด (ที่รู้ ๆ กันว่า 5 อ. คืออาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อุจจาระ อนามัย)

            แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะได้มารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ก็เห็นได้ว่าเขาได้เริ่มพัฒนาการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว ประกาศสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีอันตรายแล้ว แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่ยอมยกเลิกการใช้สารเคมีพิษเหล่านั้น แต่ในฐานะที่นายอนุทิน ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่แม้ไม่ได้รับผิดชอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถที่จะประสานงานกับรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่ดูแลกระทรวงเหล่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการยกเลิกการใช้สารพิษในทางเกษตรดังกล่าวแล้วให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ควบคุมสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ อันเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/21750
  2. https://www.cm108.com/w/6920/