เครื่องมือต้นทุนต่ำสำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูก

เครื่องมือต้นทุนต่ำสำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูก

            “จมูกอุดตัน (nasal obstruction)” เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในชุมชน ซึ่งในกรณีที่มีความรุนแรงมากจะส่งผลลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก ในเวชปฏิบัติทั่วไปการตรวจประเมินการอุดตันของโพรงจมูกจะอาศัยการตรวจร่างกายโดยแพทย์และใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจ ยกตัวอย่างเช่น rhinomanometry, acoustic rhinometry และ peak nasal inspiratory flow meter, computed tomography (CT scan), magnetic resonance imaging (MRI) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดที่สำคัญคือ มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องดำเนินการตรวจโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และต้องอาศัยความร่วมมือในการตรวจจากผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเด็กซึ่งมักไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจมากนักเนื่องจากมีความกลัวการตรวจ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคหืด โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในระดับความรุนแรงมาก ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น อาจไม่มีแรงในการหายใจมากเพียงพอที่จะทำให้เห็นผลการตรวจได้อย่างชัดเจน ทำให้การตรวจดังกล่าวจะต้องทำ ณ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านกำลังคนและเครื่องมือเท่านั้น สำหรับสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น สถานปฏิบัติการปฐมภูมิ โรงพยาบาลขนาดเล็ก คลินิก หรือร้านยา จะไม่สามารถตรวจประเมินการอุดตันของโพรงจมูกโดยการใช้เครื่องมือดังกล่าวได้ ประยุทธ และคณะ ได้คิดค้นเครื่องมือต้นทุนต่ำสำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูกขึ้นซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (NU_spiroBreathe; NUB เลขที่อนุสิทธิบัตร 12019) พบว่ามีคุณสมบัติใช้วัดปริมาตรและวัดแรงดันจากการหายใจเข้าและการหายใจออกได้ ดังนั้น จึงมีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาประยุกต์ใช้ประเมินการอุดตันของโพรงจมูกเพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะจมูกอุดตัน หรือติดตามประสิทธิภาพจากการรักษาได้ การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ 1. การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเครื่องมือที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน  2 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเครื่องมือใหม่ โดยใช้เทคนิคการคิดอย่างสร้างสรรค์และเทคนิคการออกแบบเพื่อมวลชน  3. การประดิษฐ์เครื่องมือ และการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ การทดสอบการใช้งานเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาทำให้ได้เครื่องมือต้นทุนต่ำสำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูก และเมื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าค่าเฉลี่ยของความดันที่วัดได้จากการหายใจทางจมูกโดยใช้เครื่องมือที่สร้างขึ้นมีค่าเท่ากับค่าความดันที่วัดได้จากเครื่องมือวัดความดันมาตรฐาน และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับศูนย์ จากการทดลองซ้ำ 100 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมีคุณสมบัติเป็น manometer อย่างแท้จริง และมีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่ผู้วิจัยตั้งไว้ นอกจากนี้เครื่องมือใหม่ยังมีคุณสมบัติเป็น nasal flow meter ได้อีกด้วย โดยปริมาตรและความดันจากการหายใจเข้าและหายใจออกทางจมูกสูงสุดที่วัดได้คือ 502.40 cm3 และ 10 cmH2O ตามลำดับ การศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้เครื่องมือใหม่สำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูก โดยสามารถวัดความดันและปริมาตรสูงสุดจากการหายใจได้ทั้งการหายใจเข้าและหายใจออกทางจมูก และมีต้นทุนการประดิษฐ์ต่ำมาก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทุกระดับสามารถนำไปใช้ประเมินภาวะโพรงจมูกอุดตันของผู้ป่วย และประชาชนทุกคนสามารถนำไปใช้เพื่อประเมินภาวะนี้ที่บ้านด้วยตนเองได้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ yuth_pu@hotmail.com

ที่มา: Poowaruttanawiwit P, Rachapradit N, Srihirun J. Design and development of nasal obstruction evaluation instrument. Thai J Pediatr 2018;3:145-54.