Nonsuicidal Self Injury (การทำร้ายตัวเองโดยไม่เจตนาจบชีวิต) ในวัยรุ่น

Nonsuicidal Self Injury (การทำร้ายตัวเองโดยไม่เจตนาจบชีวิต) ในวัยรุ่นพญ.พัทธ์ธีรา ดิษยวรรณวัฒน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

วงการแพทย์ ฉบับ 514 กุมภาพันธ์ 2564: mind Health

ความชุก

            ความชุกของ Non Suicidal Self Injury นั้นผันแปรไปตามตัวแปรจากการศึกษาต่าง ๆ อย่างเช่น นิยามของพฤติกรรม สถานที่ทำการศึกษา และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน อย่างไรก็ตาม ความชุกของ Nonsuicidal self injury นั้นพบได้บ่อยและสูงในตัวอย่างจากสถานพยาบาลมากกว่าในชุมชน จากตัวอย่างประชากรผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น ความชุกโดยประมาณของ Nonsuicidal Self Injury คือ 50-70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับตัวอย่างประชากรในชุมชนจากการศึกษาในเอเชีย,ออสเตรเลีย,ยุโรปและอเมริกาเหนือ ความชุกของ Nonsuicidal Self Injury โดยประมาณคือ 17-18 เปอร์เซ็นต์ โดยความชุกในเพศชายและเพศหญิงยังต่างกันไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีหลายการศึกษาพบว่าความชุกในเพศหญิงนั้นมีมากกว่า

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

            สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ Nonsuicidal Self Injury มีตั้งแต่ปัจจัยด้านชีวภาพ ด้านจิตใจ สังคม และวัฒนธรรม ได้แก่ ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน บุคลิกภาพแบบ Impulsive ความคิดที่ไม่ยืดหยุ่นและขาดทักษะสังคม ร่วมกับประสบการณ์ที่ทำให้เกิดแผลในจิตใจทั้งในวัยเด็กและเหตุการณ์ในช่วงนี้          

ภาพที่1 

ภาพที่2 

การมีประสบการณ์ถูกทำร้ายหรือปล่อยปละละเลยในวัยเด็กนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ NSSI และยังพบว่า คนที่ทำร้ายตัวเองนั้นให้ประวัติว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดในชีวิตมากกว่าคนที่มีความคิดทำร้ายตัวเองแต่ไม่ได้ลงมือทำ นอกจากนี้ปัญหาความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นทั้งกับเพื่อนและผู้ใหญ่นั้นนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเป็นปัจจัยที่ทำนายการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น การประสบกับเหตุการณ์ที่คนในครอบครัว,เพื่อนทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายนั้นอาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง นอกจากพฤติกรรมทำร้ายตนเองจะเกิดจากการลอกเลียนแบบแล้ว คนที่เจอเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตคล้ายกันมักจะใช้เวลาร่วมกัน มีความรู้สึกเข้าใจกัน และการทำร้ายตนเองอาจจะเป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์ความเครียดที่เคยได้รับคล้าย ๆ กันได้ ความรู้สึกติดกับ พ่ายแพ้ ไม่เข้าพวกและมองว่าตนเองเป็นภาระนั้นเป็นปัจจัยที่ทำนายถึงพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ความคิดวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและ Perfectionism นั้นเกี่ยวกับการทำร้ายตนเองเนื่องจากทำให้มีความคาดหวังที่ไม่สมจริงกับตนเอง และมีมุมมองทางลบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากขึ้น  การมองโลกในแง่บวกอาจจะเป็นปัจจัยปกป้องพฤติกรรมทำร้ายตนเอง

นอกจากนี้ความชุกของโรคจิตเวชในวัยรุ่นที่ทำร้ายตนเองยังใกล้กับประชากรผู้ใหญ่อีกด้วย ความชุกของโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ติดสารเสพติด สมาธิสั้น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว นั้นมีตั้งแต่ 48-87% นอกจากนี้ยังมีความหุนหันพลันแล่นและพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายในผู้ใหญ่อย่างมาก และยังพบว่าส่วนใหญ่แล้วความผิดปกติทางบุคลิกภาพนั้นมักจะเจอร่วมกับพฤติกรรมทำร้ายตนเองในวัยรุ่น

การประเมิน

  • ประเมินแผลตามร่างกาย
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ
  • เจตนาที่กระทำ (ต้องการฆ่าตัวตายหรือไม่)
  • ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ
  • วิธีที่ใช้กระทำ (ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)
  • ผลที่ตามมาของพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ได้แก่ ความรู้สึกเจ็บเวลาที่ทำร้ายตนเอง ความรู้สึกที่ตามมาทันทีหลังจากที่ทำทันทีและเมื่อเวลาผ่านไป วัยรุ่นอาจจะรู้สึกโล่งใจตอนแรกแต่รู้สึกผิดหรืออับอายภายหลัง
  • บทบาทของพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ได้แก่ เหตุผลที่วัยรุ่นทำร้ายตนเอง พฤติกรรมทำร้ายตนเองช่วยพวกเขาในด้านไหน
  • ปัจจัยปกป้อง ได้แก่ ปัจจัยที่ช่วยพวกเขาเวลาที่มีความอยากทำร้ายตนเองแต่ไม่ได้ทำลงไป หรือสามารถหยุดพฤติกรรมทำร้ายตนเองได้เป็นระยะเวลานานได้
  • ผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ ผลกระทบที่มีต่อการเรียนหรือความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว หรือทำให้ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายหรือทำสิ่งที่ต้องการได้
  • การเลิกพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ได้แก่ ความพยายามเลิกในอดีต ระยะเวลาที่เลิกได้ เหตุผลที่อยากจะเลิก อยากจะเลิกตอนนี้ไหม
  • ความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้น

การช่วยเหลือเบื้องต้น

  • สร้างความสัมพันธ์ รับฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน
  • เพิ่มทางเลือกสำหรับวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม อย่างเช่น ออกกำลังกาย การบอกความรู้สึก
  • เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
  • ช่วยเพิ่มทางเลือกในการสื่อสารความรู้สึกคับข้องใจและการเข้าถึงความบริการทางสุขภาพจิต
  • การให้ครอบครัวมีส่วนร่วมนั้นมีผลดีกับการดูแลรักษา แต่อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาความต้องการให้เก็บเป็นความลับด้วย
  • ประเมินความเสี่ยงและความต้องการได้รับการรักษาทางจิตเวชเพิ่มเติม

การรักษา

จากหลักฐานการวิจัย การรักษาด้วยยาในพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง มีการศึกษาน้อย และการประเมินผลของยาต้านเศร้าต่อการป้องกันพฤติกรรมทำร้ายตัวเองยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

การรักษาโดยไม่ใช้ยา มีการศึกษาหลากหลายวิธี โดยการรักษาที่มีหลักฐานชัดเจน ได้แก่ Dialectial behavioural therapy (DBT)  in borderline personality disorder group แต่ยังเป็นการศึกษาในประชากรผู้ใหญ่

เอกสารอ้างอิง

1.Hawton K.,Saunders K., O’Connor R. Self harm and suicide in adolescents. Lancet 2012; 379: 2373–82

2. Glenn C.,Nock M.(2020) Nonsuicidal self-injury in children and adolescents : General principles of treatment

Retrieved from http://www.uptodate.com

3. Glenn C, Nock M. (2020) Nonsuicidal self-injury in children and adolescents : Assessment

Retrieved from http://www.uptodate.com

 

 

 

izmir escort bayan