มองคนให้เป็น

มองคนให้เป็น

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล

          ในปัจจุบันเทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้ผู้คนทั่วโลกสื่อสารและเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างรวดเร็วจนเชื่อมต่อโลกนี้เป็นใบเดียวกัน

ข่าวที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งก็กระจายให้ผู้คนในอีกซีกโลกรับทราบได้ในเวลาอันสั้น การเดินทางถึงกันได้อย่างรวดเร็วก็ทำให้เราได้พบปะกับคนแปลกหน้ากันมากขึ้น

เวลาเราอยู่กับคนใกล้ชิดหรือญาติสนิทมิตรสหาย เราย่อมเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนที่ใกล้ชิดเป็นอย่างดีแม้ว่าเขาจะแสดงออกที่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น เขาแสดงอาการนิ่งเงียบนั่นหมายถึงเขามีอารมณ์โกรธ เป็นต้น แต่ช่างน่าประหลาดใจว่าคนเรากลับมีความเชื่อว่าเราดูคนออกตั้งแต่ครั้งแรก และเชื่อตามสิ่งที่คนแปลกหน้าแสดงออก

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นักข่าวชาวอังกฤษแชมเบอร์เลนได้ขอไปพบกับฮิตเลอร์ที่ประเทศเยอรมันเพื่อสัมภาษณ์บางอย่าง ในช่วงเวลานั้นมีข่าวลือออกมามากมายว่าฮิตเลอร์เป็นคนไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้และพร้อมที่จะเริ่มสงคราม แต่หลังจากแชมเบอร์เลนได้พบและพูดคุยกับฮิตเลอร์ที่ดูสุภาพพูดจาอ่อนโยนเพียงครั้งเดียว แชมเบอร์เลนก็กล้ากล่าวยืนยันอย่างมั่นใจว่าฮิตเลอร์เป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษซึ่งย่อมทำแต่สิ่งดี ๆ และไม่ก่อสงครามอย่างแน่นอน ทั้งที่พบกันเพียงครั้งเดียวก็กล้ายืนยันและเชื่อในการตัดสินของตนเอง

ทั้งนี้เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าทุกอย่างที่คนแปลกหน้าแสดงออกเป็นความจริง ซึ่งเราตัดสินใจเชื่อได้อย่างตรงไปตรงมา โดยลืมคิดไปว่า ใจคนเรามีความซับซ้อน แม้แต่คนใกล้ชิดของเรายังแสดงออกมาซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมา แต่เนื่องจากอยู่กันมานานทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของคนใกล้ชิดของเรา

 แต่สำหรับคนแปลกหน้านั้น การแสดงออกก็ซับซ้อนตามประสาของใจคน แต่เรากลับเชื่อและตัดสินใจว่าเราดูเขาออก ทั้งนี้ทางจิตวิทยาเชื่อว่าเป็นระบบ truth default system ในจิตใจของคนที่พร้อมจะเชื่อตามการแสดงออกของคนแปลกหน้า

มัลคอล์ม แกลดเวลล์ นักประพันธ์ชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือเรื่อง TALKING TO STRANGERS หรือศิลปะแห่งการอ่านคน โดยยกตัวอย่างคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายว่ามนุษย์เราไม่ได้มองง่ายอย่างที่คิด การเข้าใจผิดและตีความผิดเกิดขึ้นทุกวันมายาวนานหลายพันปี โดยเขาเริ่มเล่าจากคดีที่เกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดต่าง ๆ

กรณีแรกคือ คดีของ แซนดรา บราวน์ เป็นนักศึกษาผิวดำ ซึ่งกำลังขับรถเข้าไปในพื้นที่เปลี่ยวของมหาวิทยาลัย ทันใดนั้นเธอสังเกตว่ามีรถตำรวจขับตามมา เธอเกิดความกังวลใจจึงขับรถแอบข้างทางเพื่อรอให้รถตำรวจขับผ่านไปก่อน แต่รถตำรวจขับไปจอดด้านหน้าของเธอ พร้อมกับเปิดประตูลงมาเพื่อบอกว่าเธอจอดรถข้างทางโดยไม่เปิดไฟสัญญาณ

แซนดราพยายามชี้แจงว่าต้องการจอดรถหลีกทางให้รถตำรวจ ไม่ได้ต้องการจอดรถเพื่อทำธุระอะไร ระหว่างพูดคุยกัน แซนดราเกิดความเครียดและวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงคว้าบุหรี่ในรถมาสูบ ตำรวจบอกให้เธอหยุดสูบบุหรี่ จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น แซนดราเริ่มหงุดหงิดและก้าวร้าวมากขึ้นในการยืนกรานที่จะสูบบุหรี่ในรถ จนกระทั่งตำรวจมองว่าเธอเป็นตัวอันตรายและควบคุมตัวใส่กุญแจมือพาเธอไปขังคุก จากเรื่องเล็กน้อยกลับกลายเป็นเรื่องราวบานปลาย จนกระทั่ง 3 วันถัดมา แซนดราได้ฆ่าตัวตายในคุก

เมื่อผู้คนอ่านข่าวนี้ก็อาจคิดกันไปง่าย ๆ ว่า ก็เป็นคดีที่เห็นอยู่ทั่วไปของความขัดแย้งระหว่างตำรวจผิวขาวและคนผิวดำ แต่มัลคอล์ม แกลดเวลล์ เฉลยให้ฟังในท้ายเล่มว่าจากการสอบสวนคดีอย่างละเอียดพบว่าแซนดราเพิ่งตกงานและมีความวิตกกังวลอย่างมาก ท่าทีของเธอจึงดูลุกลี้ลุกลนและก้าวร้าว เพราะเธอคิดว่าก็แค่ต้องการจอดรถหลบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทำไมกลับมีปัญหาตามมา

ส่วนตำรวจรายนี้ได้ถูกฝึกมาเพื่อจับคดีอาชญากรรม ดังนั้น เขาจึงมองว่ากิริยาของแซนดรามีพิรุธเหมือนปิดซ่อนอะไรบางอย่าง เพิ่งไปทำผิดมา หรือมียาเสพติดในรถ จึงใช้มาตรการควบคุมคดีอาชญากรรมซึ่งร่ำเรียนมาที่ว่าถ้าสงสัยก็ให้จับเข้าคุกเอาไว้ก่อน เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เกิดคดีร้ายแรงตามมาในภายหลัง โดยลืมนึกไปว่าครั้งนี้เป็นสถานการณ์หน้ามหาวิทยาลัย และแซนดราก็เป็นแค่นักศึกษาไม่ใช่โจร

          มัลคอล์ม แกลดเวลล์ อธิบายว่า น่าประหลาดใจที่คนเรามักเชื่อตามการแสดงออกของคนแปลกหน้า และเชื่อตามนั้นอย่างมั่นใจ ทั้งที่ความจริงแล้วคนเรามีความซับซ้อนในจิตใจและมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป

มีการทดลองหนึ่งที่เอาภาพใบหน้าของคนที่แสดงอารมณ์โกรธที่ชัดเจนไปให้ผู้คนที่หมู่เกาะโซโลมอนดู ก็พบว่า 30% บอกว่าเป็นอารมณ์โกรธ แต่ 20% บอกว่าเป็นอาการแสดงว่าจะทำร้าย และมีถึง10% บอกว่าเป็นอาการดีใจ ดังนั้น เราตัดสินใจจากสีหน้าและอากัปกิริยาของผู้คนที่แสดงออกตามวัฒนธรรมและความเคยชินของเราซึ่งอาจไม่เหมือนกันทั่วโลก เช่น ชาวอเมริกันมาดูละครไทยแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมนางเอกต้องดื่มแต่น้ำส้ม หรือไม่เข้าใจว่ายิ้มของนางเอกและนางร้ายแตกต่างกันอย่างไร

          มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ได้กล่าวถึงคดีแอนนา แบลก ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเพื่อนร่วมห้องจนในที่สุดแอนนาก็ถูกขังคุกนานเป็น 10 ปี ทั้งนี้เพราะในงานศพของเพื่อนร่วมห้องนั้น แอนนาแสดงกิริยายิ้มแย้มแจ่มใสและจูบกับแฟนในงานศพ แอนนาบอกว่าเธอรู้สึกเสียใจต่อการจากไปของเพื่อน ซึ่งเธอมักแสดงออกด้วยอารมณ์ที่กลบเกลื่อนความเสียใจแบบนี้อยู่แล้ว แต่ผู้คนไม่เข้าใจการแสดงออกที่แตกต่างของเธอและตีความว่าแอนนาเป็นคนฆ่าเพื่อนร่วมห้องจนนำมาสู่การสืบสวนคดีและจับเธอขังคุกนาน 10 ปี จนในที่สุดก็สืบคดีแล้วพบว่าแอนนาไม่มีความผิดแต่อย่างใด

          มีการทดลองหนึ่งได้นำวิดีโอของคนที่พูดโกหกและพูดความจริงไปให้ตำรวจ ผู้พิพากษาและจิตแพทย์ดู เพราะคิดว่ากลุ่มคนที่ต้องทำงานเพื่อสืบสวนหรือสังเกตอากัปกิริยาอยู่เป็นประจำน่าจะมีความเชี่ยวชาญและตัดสินอากัปกิริยาของคนได้ดี แต่ผลลัพธ์พบว่าสามารถจับอากัปกิริยาของคนโกหกได้ถูกต้องเพียง 56% เท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป รวมทั้งไม่ดีเท่ากับการใส่ข้อมูลเข้าไปในเครื่องจับเท็จซะอีก นี่ย่อมแสดงว่า ‘ดูหน้าแล้วรู้ใจ’ ย่อมไม่เป็นความจริงอีกต่อไป

ในชีวิตปัจจุบันที่โลกถูกย่อให้เล็กลงและผู้คนได้พบปะกันมากขึ้น การพบกับคนแปลกหน้า จึงต้องไม่ตัดสินใจเชื่อเขาในทันที การแสดงออกก็ตีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรม รวมทั้งต้องตรวจดูสถานการณ์แวดล้อมของคนแปลกหน้าด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนก่อเกิดเรื่องบานปลายได้

สำหรับคนแปลกหน้า เราไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือได้ยินโดยทันทีจนกว่าเราจะได้ตรวจสอบข้อมูลรอบด้านอย่างละเอียดแล้ว ก็ขนาดตัวเราเองยังมีความซับซ้อนและแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไปได้เช่นกัน

ลองมาดูภาพถ่ายนี้ แล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร

นี่เป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยมในปี ค.ศ. 1994 เป็นภาพเด็กหญิงชาวแอฟริกาที่รูปร่างผอมแห้งและกำลังจะหิวตาย กับนกแร้งที่เฝ้าคอยที่จะจิกกินซากศพของเธอ ภาพนี้ถ่ายไว้โดยช่างภาพหนังสือพิมพ์ชื่อ Kevin Carter ผู้เดินทางไปยังซูดานในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1993

แม้ว่านี่จะเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของโลกได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างคำถามให้กับผู้พบเห็นมากมายเช่นกัน และหนึ่งในคำถามเหล่านั้นคือ “เด็กที่เห็นเป็นอย่างไรต่อไป” และ “ทำไมตากล้องเอาแต่ถ่ายภาพและไม่ช่วยเด็กคนนี้”

จากคำบอกเล่าของ Carter ดูเหมือนว่าเขาจะช่วยไล่นกแร้งออกไปก็จริง แต่เป็นหลังจากที่เขาถ่ายภาพเสร็จแล้ว ส่วนเด็กในภาพก็แข็งแรงพอที่จะเดินเองได้ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ทราบว่าเธอนั้นเป็นอย่างไรต่อไป

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ Carter ถูกมองว่าเป็นนักข่าวที่เห็นแก่ชื่อเสียง และเลือกที่จะทำผลงานมากกว่าที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จนเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนทั่วโลก จนในที่สุด Carter ได้ฆ่าตัวตายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1994

ในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำงานในถิ่นทุรกันดารอย่าง Carter มักจะถูกสอนไม่ให้สัมผัสเหยื่อความหิวโหยในพื้นที่ เนื่องจากพวกเขาอาจจะมีโรคติดต่อร้ายแรงก็เป็นได้

ในวาระสุดท้ายของชีวิต Carter ก็ได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้ว่า

ผมเสียใจมาก ๆ ความเจ็บปวดนี้มันทาทับความดีใจไปเสียจนหมด ผมสิ้นหวัง ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ไม่มีเงินดูแลเด็ก ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ผมถูกหลอกหลอนโดยความทรงจำของการฆ่า ศพ ความเจ็บปวด และความโกรธแค้น ของเด็ก ๆ ที่หิวโหยและบาดเจ็บของนักฆ่า คนบ้า หรือของตำรวจ ผมจะไปหาเคนแล้ว (เพื่อนร่วมงานของเขาที่เสียชีวิตไปเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1994) ถ้าผมโชคดีพอ