การสร้างนวัตกรรมวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ โดย รศ.ดร.นพ.สุธี ยกส้าน

การสร้างนวัตกรรมวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ 
โดย รศ.ดร.นพ.สุธี ยกส้าน

            ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขผสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออก และให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเด็งกี่เพิ่มมากกว่าปีกลาย (พ.ศ. 2555) ถึง 3 เท่า คาดว่าในปีนี้อาจมีผู้ป่วยร่วม 200,000 คน ทางราชการจึงรณรงค์ให้ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย มีการวางแผนจะเคาะประตูทุกบ้านให้ช่วยรวมพลัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรการเชิงรับ จำต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ คำถามที่ตามมาคือ เรามีหนทางอื่นหรือไม่ในการรับมือกับไวรัสเด็งกี่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นไวรัสที่ประสบความสำเร็จระดับโลก กล่าวคือ ในปัจจุบันเชื้อไวรัสเด็งกี่สามารถแพร่กระจายออกไปได้ครอบคลุมถึง 120 ประเทศทั่วโลก

            ผู้สื่อข่าววารสารในวงการแพทย์ได้มีโอกาสพบปะและสัมภาษณ์ รศ.ดร.นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่ได้จับงานพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมานานกว่า 30 ปี ซึ่งบุคคลในวงการแพทย์และสาธารณสุขเองก็คงเคยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนนี้จาก รศ.ดร.นพ.สุธี มาเป็นระยะ ๆ ข้อมูลที่ update ในครั้งนี้จะเป็นการเล่าเรื่องราวของวัคซีนไข้เลือดออกชนิดต้นแบบที่พัฒนาในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ทั่วโลกว่าควรมีคุณสมบัติอย่างไร ทำแล้วได้นำไปผลิตที่ใดบ้าง  รวมทั้งจะต้องคอยอีกนานเท่าใดจึงจะมีวัคซีนใช้

            รศ.ดร.นพ.สุธี สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากเดินทางไปปฏิบัติงานในฐานะแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เป็นเวลา 1 ปี กลับเข้ากรุงเทพฯ ได้รับคำแนะนำจาก .ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ให้เข้าศึกษาต่อ M.D./Ph.D. program หลังจากจบแพทย์ได้รับความรู้เพิ่มเติมทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเติมเต็มเทคนิคทางห้องปฏิบัติการ นำไปใช้เชื่อมโยงและมองเห็นสถานการณ์หรือภาพของโรคต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากการที่มีโอกาสไปเพิ่มพูนความรู้ในระดับห้องปฏิบัติการวิจัยในต่างประเทศอีกหลายแห่งทำให้มีความรู้เพียงพอ จุดนี้ถือเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ทำให้มีการผลิกผันชีวิตตนเองจากแพทย์ที่ทำงานด้านการรักษาเป็นหลักมาเป็นแพทย์ที่ทำงานด้านการวิจัยเป็นหลัก และได้นำความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ไปค้นหานวัตกรรม จากนั้นจึงนำกลับมาใช้ในการป้องกันโรค ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปทบทวนการตัดสินใจครั้งนั้นในอดีต จะเห็นว่างานวิจัยต้องใช้เวลามากและมีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจจะไปไม่ถึงจุดที่คาดหวังไว้

ทำไมต้องเป็นงานวิจัยพัฒนาวัคซีนโรคไข้เลือดออก

            โรคไข้เลือดออกเด็งกี่แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากสงครามที่มนุษย์ใช้อาวุธในการฆ่าฟันกันยุติลง ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับไวรัสเด็งกี่ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ในขณะนั้น ปัญหาของโรคดำเนินไปในแบบไฟสุมขอน กล่าวคือระยะแรก ๆ มีผู้คนเป็นโรคน้อยในระนาบพันคน แต่มีอัตราเสียชีวิตสูง ต่อมามีการระบาดในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น การระบาดแผ่วงกว้างออกเรื่อย ๆ ไปจนทั่วประเทศ รวมทั้งกระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบร้อนของโลก ขณะเดียวกันก็ไม่มีมาตรการใด ๆ สามารถยับยั้งได้ ทำให้ทีมงานวิจัยของ รศ.ดร.นพ.สุธี ต้องกลับมาคิดหามาตรการที่เหมาะสม เช่น การค้นหาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ขึ้นมาใช้งาน คาดหวังกันว่ามาตรการที่มีคุณภาพในระนาบนี้เท่านั้นที่จะสามารถป้องกันและควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อไวรัสและยุง

            ไวรัสเด็งกี่เป็นไวรัสที่มีขนาดเล็กเป็นก้อนโปรตีนมีเปลือกหุ้ม เจริญและแพร่พันธุ์โดยอาศัยยุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่คน ยุงที่ได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จากผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในระยะมีไข้ มีเชื้อไวรัสอยู่ในเซรุ่มของผู้ป่วย ไวรัสที่ปนมากับเลือดจะถูกดูดเข้ามาสู่ลำไส้ของยุง ไวรัสเด็งกี่จะใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนในยุงราว 5-7 วัน หลังจากนั้นจะกระจายไปทั้งบริเวณตัวยุงรวมทั้งต่อมน้ำลาย เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนจะปล่อยสารจากต่อมน้ำลายเข้าไปสู่บริเวณผิวหนังที่ถูกยุงกัด ไวรัสเด็งกี่ที่อยู่ในบริเวณต่อมน้ำลายจึงถูกถ่ายทอดจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง สำหรับไวรัสเด็งกี่ที่เหลือจะอยู่ในตัวยุงตัวนั้นและจะยังคงอยู่อย่างถาวรในยุงตลอดอายุขัยของยุงตัวนั้น (ราว 30-45 วัน) โดยเหตุที่ยุงลายเป็นยุงที่ชอบกัดและบินหนีทำให้สามารถดูดเลือดจากคนหลาย ๆ คนในการหากินของมันในแต่ละครั้ง ส่งผลให้จำนวนคนที่ได้รับเชื้อในคราวเดียวกันมักจะมีหลายคนเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้น

            อนึ่ง จากการศึกษาวงจรชีวิตของเชื้อไวรัสเด็งกี่ในยุงพบว่า ไข่ยุงที่ได้จากยุงลายตัวเมียที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ราว 10-25% จะปล่อยเชื้อไวรัสเข้าไปในไข่ยุง (vertical transmission) หมายความว่า ยุงบางตัวสามารถแพร่เชื้อได้โดยกำเนิดแม้ไม่เคยมีประวัติดูดเลือดผู้ป่วย จากการที่ยุงได้รับเชื้อจากแม่ยุงทำให้คิดต่อไปได้ว่า ไวรัสเด็งกี่จะยังคงอยู่ในโลกใบนี้ได้ยาวนานตลอดไปแม้จะไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลยก็ตาม

ภูมิคุ้มกันต้านไวรัสเด็งกี่และความหวังเกี่ยวกับวัคซีน

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า หลังจากคนเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในธรรมชาติหลายชนิดจะไม่กลับมาเป็นโรคนั้นอีก ตามปกติคนได้รับเชื้อไวรัสจะสร้างภูมิคุ้มกัน 2 ระบบ ได้แก่ ชนิดที่ไปทำลายเชื้อได้ (neutralizing antibody) และชนิดที่เกี่ยวกับความทรงจำ (cell mediated immunity) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ลิง primate รวมทั้งมนุษย์ได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันทั้ง 2 ชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสเด็งกี่แต่ละชนิดที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ระบบภูมิคุ้มกัน

ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จของการสร้างวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก เพราะหากทำการพัฒนาวัคซีนโดยใช้เชื้อไวรัสต้นแบบอ่อนฤทธิ์ที่เหมาะสมจะสามารถปลูกสร้างภูมิคุ้มกันได้ครบทั้ง 2 ระบบ

ความยุ่งยากอยู่ที่การค้นหาเชื้อไวรัสเด็งกี่อ่อนฤทธิ์ที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้เป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดต้นแบบควรมีลักษณะหน้าตาอย่างไร

            รศ.ดร.นพ.สุธี เล่าว่า งานพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ที่ทีมงานวิจัยกำลังดำเนินการเป็นชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated dengue vaccine) การเลือกใช้วิธีนี้เพราะทีมงานวิจัยเชื่อว่าการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ให้ได้ผลจะต้องอาศัยไวรัสที่สมบูรณ์ทั้งตัว (whole virion) ภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการทำลายไวรัสจากธรรมชาติควรมีระยะเวลาทำงานนานกว่า 5-10 ปี ในทางกลับกันหากใช้ไวรัสที่สร้างขึ้นโดยการตัดต่อสายพันธุกรรมซึ่งต่างจากไวรัสในธรรมชาติมากโดยการสอดแทรกยีนต่างสายพันธุ์เข้าไปมาก โอกาสที่วัคซีนชนิดใหม่ซึ่งเกิดจากการตัดต่อสายพันธุกรรมจะไม่สามารถทำลายเชื้อในธรรมชาติได้แต่ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันมีความจำเพาะสูง รวมทั้งไวรัสไข้เลือดออกเด็งกี่ในธรรมชาติก็มีความหลากหลายสายพันธุ์เช่นเดียวกัน การใช้ไวรัสที่สมบูรณ์ทั้งตัวในการทำเป็นวัคซีนจะมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมมากกว่าวัคซีนที่ใช้บางส่วนของไวรัสไข้เลือดออกเด็งกี่ หลักการของทีมงานวิจัยของ รศ.ดร.นพ.สุธี นี้ไม่ใช่หลักการใหม่ ในอดีตเคยมีตัวอย่างวัคซีนนับสิบชนิดที่เป็นแบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ใช้งานได้จริง ได้แก่ หัด หัดเยอรมัน คางทูม โปลิโอ เป็นต้น วัคซีนเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานพัฒนาและปรับปรุงวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ในระยะเวลา 30 ปี

            ทีมงานวิจัยเริ่มงานพัฒนาวัคซีนโดยใช้ห้องปฏิบัติการทดลองจำนวน 3 ห้องที่ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่องานเป็นรูปเป็นร่างมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ .ดร.ณัฐ ภมรประวัติ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกมาทำการประเมินความก้าวหน้าของงานทุก ๆ ปีเป็นประจำ รวม 12 ปี หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลจึงลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ทีมงานวิจัยทำงานพัฒนาวัคซีนอย่างครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นลำธาร เมื่อได้ไวรัสต้นแบบก็นำไปทดสอบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองที่เรียกกันว่าระดับ preclinic รวมทั้งการทดสอบในลิงทดลองด้วย มีการทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเดียวเป็นเบื้องต้น เมื่อมีวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ชนิดเชื้อเป็นครบทั้ง 4 ชนิด จึงทำการฉีดรวมในเข็มเดียวกันใน พ.ศ. 2535 ซึ่งถือเป็นการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกครบ 4 ชนิดในอาสาสมัครจำนวนหลายร้อยคนในเวลาต่อมา รวมทั้งมีการนำวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ชนิดที่ 2 ของไทยไปฉีดให้แก่อาสาสมัครอเมริกัน ซึ่งได้ผลดีเช่นเดียวกับที่ทดสอบในประเทศไทย

ปัญหาและอุปสรรคของวัคซีนเด็งกี่

            ในปี พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงนามในการพัฒนาการผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัท Pasteur Merieux ของประเทศฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือ Sanofi Pasteur) บริษัทได้ทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ มีการผลิตวัคซีนโดยใช้เซลล์ที่เหมาะสมเป็นฐานในการผลิต เทคโนโลยีนี้เป็นของบริษัท หลังจากการนำวัคซีนที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมไปฉีดให้แก่คน พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพดีรวม 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเด็งกี่ 1, 2 และ 4 สำหรับวัคซีนชนิดเด็งกี่ 3 นั้นยังไม่ผ่านการประเมิน บริษัทฯ ได้ประสานงานกับ Centers for Disease Control ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนี้อย่างเต็มที่ จากองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น เราไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคนี้ได้ ทำให้บริษัท Pasteur Merieux หันไปพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่โดยใช้เทคโนโลยีอื่น

เนื่องจากวัคซีนชุดแรกได้ผลดีราว 75% รศ.ดร.นพ.สุธี จึงดำเนินการพัฒนาวัคซีนชุดปรับปรุงเพื่อแก้ไขส่วนที่บกพร่องของวัคซีนเด็งกี่ 3 และหาสูตรวัคซีนรวม 4 ชนิด หลังจากทำงานในช่วงปี พ.ศ. 2548-2552 โดยอาศัยทุนวิจัยจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ต่อมาทีมงานประสบความสำเร็จในการค้นหาวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ทั้ง 4 ชนิด ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนเด็งกี่ต้นแบบทั้ง 4 ชนิดสามารถฉีดรวมในเข็มเดียวกันได้และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สมดุล ขั้นตอนต่อไปคือการเชื่อมโยงไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน GMP ทีมงานวิจัยจึงเสนอแนวทางดำเนินการในระนาบนี้เป็น 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 เป็นการพัฒนาการผลิตในประเทศไทยผ่านการบริหารจัดการโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับแนวทางที่ 2 เป็นการผลิตในต่างประเทศโดยฝ่ายอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์สูงด้านวัคซีน รวมทั้งการมีประวัติการทำงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 มหาวิทยาลัยมหิดลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการติดตามผลการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงในการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวกับฝ่ายอุตสาหกรรมวัคซีนในต่างประเทศรวม 2 แห่ง คาดว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกราว 5-8 ปีต่อจากนี้ไปจึงจะมีวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่รวม 4 ชนิดที่ผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานสากล สำหรับใช้ตามโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวควรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม และสามารถป้องกันเชื้อได้ตลอดชีวิต

โดยเหตุที่งานพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว มีการเชื่อมโยงไปยังฝ่ายอุตสาหกรรมตามลำดับขั้นตอน ทำให้ รศ.ดร.นพ.สุธี สามารถแบ่งเวลาบางส่วนไปพัฒนาวัคซีนอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญคือ วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีที่มียุงรำคาญ Culex เป็นพาหะนำโรค ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมใช้สมองหนูทดลองในการผลิต ในขณะที่ทั่วโลกกำลังหันไปใช้เซลล์เนื้อเยื่อ ทีมงานวิจัยจึงระดมกำลังช่วยกันพัฒนาวัคซีนลูกผสมอ่อนฤทธิ์ โดยตั้งต้นจากไวรัสไข้สมองอักเสบที่คัดเลือกแล้ว จากนั้นจึงเสียบยีนของวัคซีนที่ต้องการสร้างวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ทีมงานกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้ผ่านการประเมินในสัตว์ทดลองแล้ว

ท่านผู้อ่านวารสารวงการแพทย์หลายท่านคงจำได้ว่าเคยมีโรคระบาดอีกชนิดชื่อไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ Chikungunya เกิดทั่วภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2551 สืบเนื่องมาจากการระบาดครั้งนั้นทำให้ทีมงานวิจัยของ รศ.ดร.นพ.สุธี ให้ความสนใจในการพัฒนาวัคซีนไข้ปวดข้อยุงลาย ถือเป็นวัคซีนที่ทำงานแถมให้แก่สังคม เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นหากมีการระบาดครั้งใหม่

 

ทิ้งท้าย

            จากประสบการณ์การทำงานด้านการสร้างนวัตกรรมวัคซีนมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เริ่มจากการนำผลงานวิจัยในห้องปฏิบัติการไปต่อยอดจนถึงการหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์คุณค่าของผลิตภัณฑ์วิจัยให้นักอุตสาหกรรมพัฒนาการผลิต เชื่อถือและลงทุน จำเป็นต้องอาศัยผู้เริ่มต้นคิด หาโจทย์วิจัยที่เหมาะสม มีผู้ร่วมคิดและทีมงานพร้อม ทีมงานวิจัยต้องอาศัยการสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นระยะเวลายาวนานนับ 10 ปี รวมทั้งต้องมีความพร้อมในการแก้ปัญหาปลีกย่อยต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาดังกล่าวทีมงานวิจัยชุดนี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคนนับหมื่นคน มีการทำงานในระยะเวลายาวนานโดยยึดในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทุกขั้นตอน มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลงานที่ออกมามีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทาย รศ.ดร.นพ.สุธี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ทีมงานนี้ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ แต่โดยสรุปถือว่าคุ้มค่าที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีโอกาสในการแสวงหาสิ่งดี ๆ ฝากไว้กับโลกใบนี้

คำบรรยายใต้ภาพ

1. ภาพประวัติศาสตร์สมัยเริ่มก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในปี พ.ศ. 2529   

2. ในปี พ.ศ. 2527 เมื่อทีมงานพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกรุ่นบุกเบิกร่วมกันทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ชนิด 2 ซึ่งถือเป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดที่ดีที่สุดในโลก การทดสอบดำเนินการ ณ ตำบลปงแม่ลอบ อ.แม่ทา จ.ลำพูน

3. งานตรวจและรักษาคนไข้ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานทดสอบวัคซีนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ในภาพ รศ.ดร.นพ.สุธี กำลังตรวจคนไข้เด็กเมื่อปี พ.ศ. 2533

4. ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2538 มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าของงานพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกโดยคณะกรรมการขององค์การอนามัยโลก ในภาพ รศ.ดร.นพ.สุธี กำลังเสนอรายงานวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมเมื่อปี พ.ศ. 2530 

5. ภาพในห้องประชุมโรงเรียนที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ในครั้งที่ ศ.เกียรติคุณ สมโภช พุกกะเวช และ ศ.ดร.ณัฐ ภมรประวัติ เดินทางไปเปิดโครงการทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกรวม 4 ชนิดในเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2535  

6. ภาพพิธีลงนามในการมอบสิทธิบัตรการผลิตวัคซีน ระหว่างบริษัท Pasteur Merieux ประเทศฝรั่งเศส กับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2536   

7. ภาพพิธีลงนามในการมอบสิทธิบัตรการผลิตวัคซีน ระหว่างบริษัท Kaketsuken ประเทศญี่ปุ่น กับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2551