กลศึกสามก๊ก

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

กลศึกสามก๊ก 

เมื่อไม่นานนี้ ฉันได้อ่านเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ….คอลัมน์กิเลน ประลองเชิง ซึ่งกล่าวถึงหนังสือกลศึกสามก๊ก ซึ่งบุญศักดิ์ แสงระวี แปลมาจากภาษาจีน (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ) เอ่ยถึงตอน รู้ดีรู้ชั่วที่กัวต๋อ...โจโฉเผาเสบียงที่อัวเจ๋า

อ้วนเสี้ยวกับโจโฉตั้งทัพใหญ่ยันกันอยู่ที่กัวต๋อ ตอนนั้นอ้วนเสี้ยวมีคนมาก เสบียงอาหารบริบูรณ์กว่าโจโฉหลายเท่า โจโฉออกโจมตีระยะหนึ่งแต่เอาชนะไม่ได้ จึงถอนตัวมารักษาค่ายและยอมให้อ้วนเสี้ยวโจมตีหลายครั้งแต่ก็รับมือได้

หลายเดือนต่อมา โจโฉเริ่มขาดเสบียง ไพร่พลอิดโรยและแนวหลังก็เริ่มรวนเร

แต่ไม่นานต่อมา ที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวแปรพักตร์มาอยู่ด้วย และแนะให้ทำลายแหล่งเสบียงใหญ่ของอ้วนเสี้ยว

หลังจากโจโฉได้ทำลายแหล่งเสบียงใหญ่แล้ว ข่าวได้แพร่กระจายไปในหมู่ทหารของอ้วนเสี้ยวจนทำให้ที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวอีกหลายคนทยอยแปรพักตร์ไปเข้าข้างโจโฉ

ตอนโจโฉรบชนะที่กัวต๋อ เขาได้เจอหลักฐานสำคัญเป็นจดหมายหลายฉบับจากแม่ทัพนายกองฝ่ายตนที่เขียนไปสวามิภักดิ์ต่ออ้วนเสี้ยว โจโฉแสดงความฉลาดเหนือชั้นด้วยการสั่งเผาจดหมายทั้งหมดทิ้ง

โจโฉต้องการใช้คนจึงไม่ฆ่าคนที่ไม่ภักดี แถมยังซื้อหัวใจคนเหล่านี้ด้วยการให้ทำงานใหญ่ต่อไป

จนในที่สุดโจโฉก็ชนะอ้วนเสี้ยวและเข้ายึดครองพื้นที่ได้ทั้งหมด

โจโฉได้กล่าววาทะสำคัญหลังจากชนะการศึกเอาไว้ว่า

“คนเก่งของอ้วนเสี้ยวมีเยอะมากมาย น่าเสียดายที่อ้วนเสี้ยวไม่รู้จักใช้ ถ้ารู้จักใช้ ไฉนเราจะสามารถมายืนอยู่ที่นี่”

 

อ้วนเสี้ยวมีเหตุให้แพ้โจโฉถึง 10 ประการ ได้แก่

1. เป็นคนถือยศ ไม่ได้เอาความคิดของผู้ใด

2. หยาบช้า ทำการโดยโวหาร

3. จะว่ากิจการสิ่งใดมิได้สิทธิ์ขาด

4. เห็นแก่ญาติพี่น้อง มิได้ว่ากล่าวความผิดและความชอบ

5. จะคิดการสิ่งใดมักกลับเอาดีเป็นร้ายและเอาร้ายเป็นดี มิได้เชื่อใจตนเอง

6. จะเลี้ยงผู้ใดก็ต่อหน้าว่ารัก แต่ลับหลังว่าชัง

7. รักคนใกล้ชิดสอพลอ ผู้ซื่อสัตย์ที่ห่างเหินก็มีใจชัง

8. ทำความผิดต่าง ๆ เพราะฟังคนยุยง

9. จะทำการสิ่งใดก็ทำตามอำเภอใจ มิได้ทำตามธรรมเนียมโบราณ

10. ไม่รู้กลศึก มักพอใจทำการศึกล่อลวง จะชนะก็ไม่รู้ จะแพ้ก็ไม่รู้

ในจุดอ่อนของอ้วนเสี้ยวนี้มีอยู่ 2 ปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถใช้คนซึ่งมีสติปัญญาให้มาช่วยงานได้คือ

  • มากอุบาย…แต่ไร้การตัดสินใจ
  • หย่อนนอก…ระแวงใน

กลศึกสามก๊กนี้สอนถึงการเป็นผู้นำที่ต้องรู้จักวิธีการซื้อใจและเลี้ยงใจคนเพื่อให้ลูกน้องเต็มใจทำงานให้

ในระบบการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของประเทศออสเตรเลีย มีการอบรมหนึ่งซึ่งถือว่าแพทย์ที่เรียนสาขานี้ทุกคนต้องสอบผ่าน

การอบรมนี้เรียกว่า Crisis Resource Management (การบริหารจัดการภาวะวิกฤต) เนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการกับสถานการณ์ที่วิกฤตหรือเครียดต่าง ๆ ในห้องฉุกเฉิน เช่น

- การสื่อสารส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล

- การบริหารจัดการกับญาติที่เข้ามาวุ่นวายและขัดขวางการรักษาพยาบาลในห้องกู้ชีพ

- การดูแลผู้ป่วยที่เอะอะโวยวายหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท เป็นต้น

มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่สอนเกี่ยวกับ...เมื่อแพทย์เวรที่อดนอนมาทำงานแล้วเกิดการทุ่มเถียงกับญาติผู้ป่วยอย่างรุนแรง

สถานการณ์ถูกตั้งขึ้นว่า ให้แพทย์เวรรายหนึ่งที่อยู่เวรติดต่อกันมาหลายเวรจนมีสภาพอิดโรย เช้าวันนั้นมาทำงานด้วยอาการง่วงเหงาหาวนอน ทันใดนั้นมีผู้ป่วยวิกฤตเข้ามาในห้องกู้ชีพ

 

ระหว่างทำการตรวจรักษาอยู่นั้น ให้มีน้องพยาบาลจบใหม่ที่อยากรู้อยากเห็นมาเป็นผู้ช่วยแพทย์ น้องพยาบาลรายนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็นมาก และเฝ้าแต่ถามแพทย์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรค ฤทธิ์ของยา ตลอดจนแนวทางการรักษาอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งก็ถามอย่างไม่มั่นใจว่าจะผสมยาอย่างไร และให้แพทย์ไปผสมยาเองเป็นต้น...ไม่มีผู้ช่วยมือดีและพร้อมรบกวนสมาธิการทำงานทุกเมื่อ

ระหว่างนั้นก็เพิ่มความเครียดยิ่งขึ้นด้วยการให้มีญาติของผู้ป่วยเข้ามาอาละวาดโวยวายเพราะอยากรู้ว่าผู้ป่วยเป็นอะไรและจะหายไหม รวมทั้งไม่ยอมให้ทำการรักษาบางอย่าง…อุปสรรคขัดขวางการทำงานตลอดเวลา

ทันใดนั้นผู้แสดงเป็นแพทย์ฉุกเฉินรายนั้นก็เริ่มแสดงท่าทีว่ากราดและดุดันใส่ทั้งพยาบาลจบใหม่และญาติที่มาก่อกวน

หลังจบการแสดงแล้ว เขาตั้งคำถามให้กลุ่มแพทย์ที่มาเรียนถกกันในประเด็นว่า

“ในฐานะท่านเป็นหัวหน้าห้องฉุกเฉินแห่งนั้น ท่านจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อลูกน้อง”

แพทย์ฝึกหัดที่มาเรียนทั้งหลายก็เริ่มถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันไปต่าง ๆ นานาอย่างเมามัน เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในห้องฉุกเฉิน

จนในที่สุดที่ประชุมก็สรุปว่า

“น่าเห็นใจแพทยรายนี้ที่มาปฏิบัติงานในสภาพไม่พร้อม ในฐานะหัวหน้าที่พบความผิดพลาดของลูกน้องเช่นนี้ ควรเดินเข้าไปเพื่อพูดคุยซักถามถึงสาเหตุ รวมทั้งให้ความเห็นอกเห็นใจแก่เขาเพียงแค่นี้ก็ได้ใจลูกน้อง จนลูกน้องอยากทำงานจนตายเลย แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าหัวหน้าจะช่วยคิดแก้ปัญหาให้กับลูกน้องด้วย เช่น เปิดโอกาสให้เขาได้พักร้อน  หรือไปผ่อนคลายจิตใจสักพักหนึ่ง”

ดุจดังเช่น โจโฉ แม้พบจดหมายของลูกน้องที่ต้องการย้ายไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามในยามที่โจโฉกำลังคับขัน แต่โจโฉก็ยังยอมเผาหลักฐานเหล่านั้นทิ้งเสียเพื่อซื้อใจลูกน้องให้กลับมาทำงานใหญ่ต่อไป

อันจะทำให้เลี้ยงใจลูกน้องและสามารถระดมกำลังคนให้กลับมาทำงานร่วมกันได้ต่อไป 

จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถชนะศึกต่ออ้วนเสี้ยวผู้ไม่รู้จักเลี้ยงใจลูกน้องที่มีความสามารถและต้องพ่ายแพ้แก่โจโฉไป