หมอเป่าน้ำมนต์

หมอเป่าน้ำมนต์

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง  
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

            สมัยเมื่อ 10 ปีก่อน ฉันได้ไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่จังหวัดศรีสะเกษ จำได้ว่าเคยทำการรักษาผู้ป่วยชายอายุราว 30 ปีรายหนึ่งที่ห้องฉุกเฉินซึ่งมาด้วยถูกงูเห่ากัดที่เท้าซ้าย ในตอนแรกผู้ป่วยก็พูดคุยรู้สึกตัวดี แต่เพียง 10 นาทีต่อมาก็เริ่มกลืนน้ำลายไม่ได้และหนังตาตก

ฉันตกใจมากและรีบนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตโดยทันที ในเวลาต่อมาก็ต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้ ทั้งนี้เพราะสมัยนั้นตามโรงพยาบาลห่างไกลมักหาเซรุ่มแก้พิษงูได้ยาก

            หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ได้สักพัก ฉันก็เริ่มอธิบายอาการและความรุนแรงของโรคให้ผู้ป่วยซึ่งยังคงรู้สึกตัวดีได้รับฟังไปพร้อมกับกลุ่มญาติที่พากันมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก ญาติแต่ละคนดูเป็นชาวบ้านที่ค่อนข้างมีอายุกันพอสมควร มีผมหงอกขึ้นแซมปะปนกับผมดำและแต่งตัวชุดม่อฮ่อมคาดผ้าขาวม้า บ้างก็ใส่รองเท้าแตะและบางคนก็เดินเท้าเปล่า  

ญาติทุกคนก็ล้วนมีสีหน้าห่วงกังวลกับอาการของผู้ป่วยรายนี้ไปตาม ๆ กัน

            ฉันเริ่มอธิบายอย่างใจเย็นว่า “โดยทั่วไปแล้วอาการของงูเห่ากัดมักเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 วัน และถ้าพ้นไปแล้วอาการก็มักหายเป็นปกติ แล้วหมอจึงจะถอดท่อช่วยหายใจออกให้แก่เขา แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นในช่วงนี้”

พ่อของผู้ป่วยซึ่งค่อนข้างชรามากแล้วได้ถามขัดขึ้นด้วยสีหน้ากังวลว่า “แล้ว…ไอ้หนูจะหายไหมครับ”

“ก็…ถ้าไม่มีอะไรมาแทรก เช่น แผลติดเชื้อ หรือปอดอักเสบ ก็น่าจะหายเป็นปกตินะคะ” ฉันตอบอย่างลังเลและไม่สามารถรับประกันว่าจะหายได้ 100% ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ผู้ป่วยอาจเกิดติดเชื้อรุนแรงที่แผลหรือปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงเข้ากระแสเลือดจนทำให้พยากรณ์ของโรคไม่ดีก็ได้

            นอกจากนี้การรับประกันว่าผู้ป่วยจะหายได้ 100% อาจทำให้ญาติคาดหวังมากเกินไปจนไม่อาจยอมรับความผิดคาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อตลอดเวลาของการรักษา 

ทั้งนี้การตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้จะช่วยเตรียมพร้อมญาติในระดับหนึ่งให้ทำใจยอมรับได้ในกรณีที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งคาดไม่ถึงเกิดขึ้น ทั้งนี้จะเป็นการช่วยลดความกดดันที่มีต่อทีมแพทย์และพยาบาลลงได้บ้างในอีกทางหนึ่ง อีกทั้งเมื่อปรากฏว่าอาการของผู้ป่วยหายเป็นปกติก็จะกลับกลายเป็นข่าวดีอย่างมากมายเกินคาดสำหรับญาติไปด้วยเช่นกัน

            แม่ของผู้ป่วยพูดไปพร้อมกับใช้ผ้าเช็ดปาดน้ำตาเป็นระยะ ๆ

“ถ้าไอ้หนูเป็นอะไรไป พวกเราคงแย่แน่เลย เพราะไอ้หนูเป็นกำลังสำคัญในการทำมาหาเลี้ยงทั้งบ้าน เนี่ยก็ถูกงูกัดเพราะไปทำนานะคะคุณหมอ”

“หมอเข้าใจและจะพยายามดูแลอย่างดีที่สุดนะคะ”

“เนี่ย ลุง ป้า น้า อา ก็แก่กันหมดแล้ว พากันเป็นห่วงมาเยี่ยมกัน ครอบครัวผมก็มีไอ้หนูนี่แหละที่พึ่งได้”

“คนไข้ยังรู้สึกตัวดีแต่ขยับร่างกายไม่ได้ ถ้ามีอะไรญาติก็พูดจาให้กำลังใจแก่คนไข้ได้นะคะ แล้วถ้ายังไงก็พากันกลับไปพักผ่อนก่อนนะคะ เพื่อให้คนไข้ได้พักหลับบ้าง แล้วเดี๋ยวทีมหมอจะดูแลคนไข้ต่อให้เองค่ะ”

“ไอ้หนูมันเป็นคนดี...ต้องหายแน่ ๆ เลย ไอ้หนูมันจะหายใช่ไหมครับหมอ” พ่อยังกังวลใจและถามย้ำเพื่อขอความมั่นใจ

“หมอจะดูแลให้ดีที่สุดนะคะ” ฉันยืนยันซ้ำเพื่อช่วยปลอบให้พ่อของผู้ป่วยคลายกังวลลงบ้าง

“พวกผมขอฝากคนไข้ด้วยนะครับ ไอ้หนูมันเป็นคนดีต้องหายแน่ ๆ เลย พวกผมขอฝากคุณหมอด้วยนะครับ” พ่อกล่าวย้ำอีกครั้งก่อนจะพากันไปเยี่ยมจับไม้จับมือให้กำลังใจผู้ป่วย

ในเวลาต่อมาไม่นานนัก กลุ่มญาติของผู้ป่วยก็พากันเดินจากไปเมื่อหมดเวลาเข้าเยี่ยมของหอผู้ป่วยวิกฤตแห่งนั้น

เช้าวันต่อมา พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตโทรศัพท์ตามหาฉันอย่างเร่งด่วน

“คุณหมอคะ พวกญาติ ๆ ของคนที่ถูกงูกัดน่ะค่ะ พาหมอเป่าน้ำมนต์มาค่ะ บอกว่าจะมาช่วยเป่าน้ำมนต์และให้ยาสมุนไพรแก่ผู้ป่วย คุณหมอจะอนุญาตไหมคะ”

“เอ๊ะ…พาหมอเป่าน้ำมนต์มาทำไมกัน เดี๋ยวหมอไปคุยเองนะคะ” ฉันถามด้วยความสงสัย

จากนั้นฉันก็รีบไปยังหอผู้ป่วยวิกฤต ก็พบกลุ่มญาติรอกันอยู่หน้าหอผู้ป่วยวิกฤตเต็มไปหมด

“คุณลุงทำไมเอาหมอมาเป่าน้ำมนต์ล่ะคะ ก็เมื่อวานหมออธิบายตัวโรคให้ฟังแล้วนี่คะ”

“อ๋อ พวกผมกลับไปปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เขาแนะนำว่าหมอเป่าน้ำมนต์คนนี้เก่ง รักษาได้ทุกโรค ผมเลยไปเชิญพ่อหมอมาเพื่อช่วยรักษาไอ้หนูน่ะครับ”

“แต่นี่เป็นโรงพยาบาลนะคะ จะมาทำการรักษาแบบเป่าน้ำมนต์ไม่ได้ มันไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณสุข และอาจทำให้คนไข้เป็นอันตรายได้”

“แต่ผมมีลูกชายคนเดียว ถ้าเป็นอะไรไปก็แย่สิครับ ผมอยากรักษาให้ดีที่สุด ให้หมอเขาเป่าน้ำมนต์เถอะครับ ช่วย ๆ กันรักษาทุกทางแหละเพื่อให้ไอ้หนูมันดีขึ้นเร็ว ๆ ช่วยกันหลาย ๆ วิธีสิครับถึงจะดี”

“แต่มันเป็นการรักษาที่ไม่ถูกต้อง”

“โธ่ ก็แค่เป่าน้ำมนต์ที่กระหม่อม ไม่เห็นเป็นไรเลยครับ หมอเองก็ไม่กล้ารับปากอยู่แล้วนี่ว่าไอ้หนูมันจะหายแน่ ๆ นี่ครับ ผมก็ต้องหาวิธีอื่นมาช่วย...ไม่เป็นไรหรอกครับ ถ้ามีอะไรผมรับผิดชอบเอง อย่างน้อยก็ทำให้เป็นกำลังใจกับผมและพวกญาติ ๆ…นะครับคุณหมอ” พ่อของผู้ป่วยเอ่ยขอร้องด้วยเสียงเครือ ๆ

ฉันได้แต่อ้ำอึ้งพูดไม่ออก อย่างไรก็ดี..ก็แค่เป่าน้ำมนต์ที่กระหม่อมซึ่งไม่น่ามีอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กลุ่มญาติอีกด้วย

ในที่สุดฉันจึงตัดสินใจว่า “ค่ะลุง ตกลงเป่าน้ำมนต์ที่กระหม่อมเท่านั้นนะคะ และห้ามเป่าน้ำมนต์ไปที่แผลของคนไข้ด้วยนะคะ ถ้าตกลงตามนี้ก็โอเคค่ะ อ้อแล้วจะมาเป่ากี่วันคะ” ฉันไม่ลืมถามถึงกรรมวิธีการเป่าน้ำมนต์โดยละเอียดเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จากการเป่าน้ำมนต์ครั้งนี้

พ่อหันไปปรึกษากับพ่อหมอเป่าน้ำมนต์ จากนั้นก็หันกลับมาบอกว่า “ตกลงเป่าแค่กระหม่อมครับ แต่ต้องมาเป่าน้ำมนต์ทุกวันจนกว่าไอ้หนูจะหายดีครับ”

“อ๋อ แล้ววันละครั้งเดียวใช่ไหม และต้องมาในเวลาเยี่ยมตามกฎระเบียบของหอไอซียูนะ” ฉันคาดคั้นเพื่อให้เข้าใจตรงกัน จะได้ไม่เกิดข้อถกเถียงกันในภายหลัง

“ตกลงครับ” พ่อหันมาตอบหลังจากปรึกษากันในหมู่ญาติรวมทั้งหมอเป่าน้ำมนต์จนเป็นที่เข้าใจกันทั่วแล้ว

หลังจากเข้าใจตรงกันตามพันธสัญญาที่ตกลงกันปากเปล่าแล้ว จากนั้นฉันก็เข้าไปแจ้งรายละเอียดกับทีมพยาบาลผู้ดูแลให้ทราบและเข้าใจตรงกัน

“จะดีหรือคะคุณหมอ มาเป่าน้ำมนต์ก็รบกวนการรักษาพยาบาลน่ะสิคะ” พยาบาลยังคงบ่นกระปอดกระแปดด้วยความไม่พอใจ แต่ก็ยินยอมปฏิบัติตามในที่สุด

อีก 2 ชั่วโมงต่อมา พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตโทรศัพท์มาด้วยเสียงร้อนรนอีกว่า

“หมอคะ หมอยอมให้เอาสมุนไพรป้ายแผลที่ขาด้วยหรือคะ”
“ไม่ยอมค่ะ ใครเอาสมุนไพรมาป้ายคะ”

“ก็พวกญาติ ๆ จะให้พ่อหมอคนนั้นเอายาสมุนไพรมาตำแล้วป้ายที่แผลของผู้ป่วย เขาบอกว่าเป็นยา

สมานแผลน่ะค่ะ”

“ขอโทรศัพท์คุยกับพ่อเขาหน่อยค่ะ เพราะไม่ได้ตกลงกันแบบนี้ค่ะ”

ไม่นานนัก พ่อของผู้ป่วยก็มารับสายโทรศัพท์ “ลุงทำยังงี้ไม่ได้นะคะ หมอยอมให้เป่าน้ำมนต์ที่

กระหม่อมเท่านั้น ไม่ยอมให้เอาอะไรมาโดนแผลเพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้”

            “แหม…ก็แค่ป้ายยาสมุนไพรนิดหน่อยเองน่ะครับ”

“ลุงคะ…หมอยอมให้รักษาแบบแผนโบราณแล้วนะ แต่ลุงก็ต้องยอมให้แผนปัจจุบันบ้างนะคะ เรามาพบกันครึ่งทางดีกว่าค่ะ ไม่เช่นนั้นหมอไม่ยอมทั้งหมดเลยนะคะ” ฉันเริ่มต่อรองอย่างหงุดหงิดเต็มที

พ่อของผู้ป่วยเงียบไปพักหนึ่ง ได้ยินส่งเสียงปรึกษากับคนข้าง ๆ จากนั้นจึงพูดกลับมาในโทรศัพท์ว่า “ครับ…ครับ ตกลงครับไม่ทายาสมุนไพรที่แผลแล้วก็ได้ครับ”

“ตกลงว่า ลุงเป่าน้ำมนต์ที่กระหม่อมอย่างเดียวนะคะ ห้ามทำอย่างอื่นอีกนะคะ” ฉันถามย้ำเพื่อความมั่นใจ

“ครับ…ครับ ตกลงตามนี้ครับ”

เวลาต่อมา อาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดก็ถอดท่อช่วยหายใจได้ภายใน 1 วัน และสามารถอนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันถัดมา ซึ่งสร้างความดีใจให้แก่ญาติ ๆ เป็นอย่างมากไปพร้อมกับเสียงเยินยอว่าพ่อหมอเป่าน้ำมนต์คนนี้เก่งมาก เพียงเป่ากระหม่อมแค่วันสองวันก็ทำให้ไอ้หนูของทุกคนหายเป็นปกติได้

ฉันได้แต่อ้ำอึ้งว่า...จริง ๆ แล้วผู้ป่วยหายได้จากหมอแผนปัจจุบันหรือหมอเป่าน้ำมนต์กันแน่