CPR

#นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

  CPR  

            ความสามารถของบุคคลต่าง ๆ ที่จะทำการปฐมพยาบาล กู้ชีพ ผู้ที่หัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในอดีตเคยมีตัวอย่างจริงมาแล้วคือ ในการคัดเลือกนักกีฬาเยาวชนเทนนิสที่กรุงเทพฯ มีนักกีฬาคนหนึ่งอายุประมาณ 16 ปี หัวใจวายคาสนาม แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการปฐมพยาบาล กู้ชีพ หรือ cardio (หัวใจ) pulmonary (ปอด) resuscitation (ช่วยให้ฟื้น) เลย แต่คุณพ่อของนักกีฬาที่เป็นแพทย์ระบบทางเดินหายใจที่เชียงใหม่ได้รับโทรศัพท์จากคุณพ่อของเพื่อนนักกีฬาที่เคราะห์ร้ายผู้นี้ โดยถูกถามว่าลูกคุณหัวใจหยุดเต้น จะช่วยกู้ชีพ (ทำ CPR) จะต้องทำอย่างไร ?!

            ผมมีความเห็นมานานแล้วว่าสนามแข่งขันกีฬาทุกระดับต้องมีระบบการกู้ชีพ มีบุคลากรทางด้านแพทย์ พยาบาล ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญของวิธีการกู้ชีพ มีเครื่องมือตั้งแต่เครื่องมือเป่าปาก (ambu bag), เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (automated external defibrillator) รถพยาบาล ระบบการส่งต่อไปโรงพยาบาลที่มีความสามารถทางด้านนี้เป็นอย่างดีที่ได้ติดต่อกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ฯลฯ

            แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในวงการกีฬายังไม่มีระบบการกู้ชีพที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์อย่างเพียงพอ ในขณะที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2551-2554 ผมได้เริ่มทำเรื่องนี้ แต่ออกมาเสียก่อนเนื่องจากครบวาระของการเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกเชิญให้กลับไปช่วยอนุกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาของวุฒิสภา โดยมีท่าน สว.จรัล จึงยิ่งเรืองรุ่ง เป็นทั้งประธานกรรมาธิการการกีฬา และประธานอนุกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่ปัจจุบันนี้ประธานอนุฯ คือ ท่าน สว.อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ กำลังทำอะไรหลายเรื่องอยู่ เช่น อยากให้มีระบบการกู้ชีพในสนามกีฬาทุกสนามในระดับที่จำเป็นต่าง ๆ มีการให้สมาคมกีฬาทุกสมาคมมีฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา มีโครงการทำให้เด็กไทยสูง รูปร่างใหญ่โต มีการใช้ความรู้ทางโภชนาการและจิตวิทยามากขึ้น ฯลฯ

            แต่สำหรับผม ความสามารถในการ “ปั๊มหัวใจ” หรือกู้ชีพนั้นมีความสำคัญมากต่อประชาชนชาวไทยทุกคน และประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะต่อนักกีฬาในสนามกีฬาเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ควรฝึกเฉพาะแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้มีความรู้ทางด้านนี้เท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีแพทย์ 2 คนที่ผมรู้จักดีมาก หัวใจหยุดเต้น แต่สามารถกู้ชีพไว้ได้ทัน (คนหนึ่งตีเทนนิสกับเพื่อน ๆ แพทย์อยู่ในโรงพยาบาล) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นข้างนอก ไม่มีเพื่อนที่เล่นด้วยเป็นแพทย์ ผมไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น

            ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงอยากให้รัฐบาลคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจังและทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดตั้งระบบการฝึกอบรมประชาชนทุก ๆ คนให้มีความรู้ ความสามารถในการทำ CPR อาจเริ่มต้นด้วยการบังคับให้ผู้ที่สอบ (ต้องสอบ) ใบขับขี่รถยนต์ จักรยานยนต์ ผู้ที่เรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) ผู้ที่เป็นทหาร ตำรวจ ผู้ที่เป็นนักบิน เจ้าหน้าที่เครื่องบิน เจ้าหน้าที่ทางด้านกีฬา ฯลฯ ให้เข้ารับการฝึกอบรมก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ขยายการฝึกอบรมไปกว้างขึ้น ๆ จนครอบคลุมไปทั้งประเทศ โดยนำวิธีการทำ CPR ไปบรรจุไว้ในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นหรือปลาย เป็นภาคบังคับไปเลย ผมทราบดีว่าการทำ CPR มีความสำคัญ เพราะสภากาชาดไทย โดยศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย และสำนักงานยุวกาชาดได้ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ภายใน 1 เดือนเศษ สำนักงานยุวกาชาดได้จัดการฝึกอบรมเรื่องการปฐมพยาบาล (train the trainers) ให้แก่คณาจารย์จากโรงเรียนทั่วประเทศไป 4 รุ่น รุ่นละ ประมาณ 60-69 คน เพื่อนำความรู้นี้ไปสอนต่อ แต่ละรุ่นจะใช้เวลา 3 วัน 4 คืน (ไม่ได้เรียนเฉพาะการทำ CPR แต่เรียนเรื่องการปฐมพยาบาลเรื่องอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งการทำ CPR ในเด็ก 1 ปี มากกว่า 1 ปี และในผู้ใหญ่) ซึ่งผมเห็นว่าเรื่อง CPR มีความสำคัญมาก ที่สำนักงานยุวกาชาดสามารถทำได้ เพราะเราได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องนี้จาก IFRC (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies หรือสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ) เรามีบุคลากรที่เก่ง ที่พร้อม แต่เรามีงบจำกัด ถ้าเรามีแนวร่วม NGO จากภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บริษัทห้างร้านที่ใหญ่โตต่าง ๆ เช่น บริษัท ปตท. ปูนซีเมนต์ บิ๊กซี ฯลฯ มาช่วยสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เครื่องมือ เราคงจะทำได้มากกว่านี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทย เพราะแต่ละคนหัวใจอาจหยุดเต้นได้ทุกเมื่อ