คนดี...ใครมีส่วนสร้าง ?

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ คนดี...ใครมีส่วนสร้าง ?

            ผมเรียนหนังสือมาก็มากพอสมควร ถึงแม้จะเป็นแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์ระบบทางเดินอาหาร แต่ก็เป็นครูแพทย์ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 รวม 42 ปีแล้ว อยู่ในทั้งวงการแพทย์ และวงการการศึกษา เป็นทั้งนายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ประธานกรรมการสอบ ‘board med’ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสาขาวิชาอายุรศาสตร์) ของไทย เลขาธิการแพทยสภา สมาชิกวุฒิสภา และยังเรียนหลักสูตรต่าง ๆ นา ๆ อีกมากมายคือ สถาบันจิตวิทยาฯ วปอ. สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.) วปอ.อีกครั้ง (หลักสูตร สวปอ.มส. รุ่นที่ 3) และล่าสุดที่เรียนจบคือ ปธพ. หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์ รุ่นที่ 2 ฯลฯ ซึ่งเรียนเรื่องธรรมาภิบาลอย่างเดียวหลายเดือน ทั้งวันศุกร์และวันเสาร์เต็มวัน “ธรรมาภิบาล” คืออะไร โดยสรุปก็คือ การบริหารจัดการที่ดี (ทั้งในภาครัฐและเอกชน) ซึ่งมีหลักอยู่ 6 ประการ (บางสถาบันให้มากกว่านั้น) คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส (ตรวจสอบได้) หลักการมีส่วนร่วม หลักความคุ้มค่า ฯลฯ ซึ่งเท่าที่ผมเรียนมาผมคิดว่าหลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 ข้อ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นคนดี เช่น หลักนิติธรรม ก็คือการเคารพกติกา กฎหมายของบ้านเมือง สังคม ซึ่งคนดีก็จะทำตามกฎอยู่แล้ว ความโปร่งใส รับผิดชอบ ตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วม ก็คือความเป็นคนดีนั่นเอง หรือหลักความคุ้มค่า - cost effective ก็การเป็นคนดีอีกนั่นแหละ รู้จักค่าของเงิน สรุปแล้วธรรมาภิบาลคือ การเป็นคนดีนั่นเอง การเป็นคนดีมีความหมายกว้างขวางกว่าธรรมาภิบาลมากมาย เช่น เคารพกติกา กฎหมายบ้านเมือง โปร่งใส ยอมให้ตรวจสอบ รับผิดชอบ ไม่ฟุ่มเฟือย การมีส่วนร่วม ไม่ใช่เรื่องใครเรื่องมัน ทำงานเป็นทีม อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ดูถูกคนอื่น มีเหตุผล เดินสายกลางในชีวิต เห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา รักและเป็นห่วงผู้ป่วย (ในกรณีของหมอ) มีเวลาให้ผู้ป่วย ไม่ดุผู้ป่วย เอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง รักและเป็นห่วงประชาชน รักประเทศ (ในกรณีของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. สว. คณะรัฐบาล ข้าราชการ ฯลฯ) ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่โกง ไม่มีคอรัปชั่น ไม่ขโมย ไม่ทิ้งขยะบนถนน เห็นแก่ส่วนรวม เคารพ ยอมรับเหตุผลผู้อื่น ยอมรับว่าตัวเองมีความสามารถแค่ไหน ปรึกษาต่อ ส่งต่อ (แพทย์) ฟังผู้อื่น อยากมีความก้าวหน้า อยากทันสมัยเรื่องความรู้ จะได้ช่วยประชาชนได้ ฉะนั้นจะต้องมี life long learning ฯลฯ

แต่ที่ตลกคือ เราต้องสมัครมาเข้าเรียนหลักสูตร “ธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารทางการแพทย์” เมื่ออายุ 40-75 ปี! ทั้ง ๆ ที่ทุก ๆ คนควรรู้เรื่องหมดแล้ว เรื่องความเป็นคนดี นี่หมายความว่าคนอีก 60 กว่าล้านคนที่ไม่สามารถเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ไม่เป็นคนดีหรืออย่างไร ? ผมมีความเห็นว่าเรื่องความเป็นคนดีนั้น เราต้องสอนตั้งแต่เกิด แต่ไม่ใช่บิดา มารดา ครอบครัว หรือแม้แต่โรงเรียนเท่านั้นที่มีส่วนในการสอน บ่ม อบรมเรา แต่ทุก ๆ คน ชุมชน สังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสอนเรื่องความดีด้วย ต้องพูดและทำด้วย ไม่ใช่เอาแต่พูด ถ้าบิดา มารดา ครู สอนให้เป็นคนดี แต่สังคม เช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ นักการเมือง เอาแต่เรื่องที่ไม่ดีมาออกหรือแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี มีแต่ความฟุ่มเฟือย มีแต่ความรุนแรง เอาเปรียบคนอื่น มีแต่การโกง การคอรัปชั่น ทำตัวไม่ดีเป็นตัวอย่าง เด็ก ๆ ถึงจะได้รับการอบรมที่ดีจากบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ก็จะเป็นคนดีไม่ (ค่อย) ได้ ฉะนั้นถ้าอยากให้เด็ก เยาวชน ซึ่งต่อไปจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการ ฯลฯ ที่ดีได้ เราต้องเปลี่ยนสังคม วัฒนธรรม ให้ทุก ๆ อย่างที่เป็นไปในชีวิตจริง มีภาพที่บ่งบอกถึงความดีจริง ๆ ไม่ใช่พูดอย่าง ทำอย่าง

แต่อย่างน้อยผมก็พยายามทำหน้าที่ให้แก่ลูกศิษย์ที่ต้องการมาเรียนกับผมทุกเช้า นอกเวลา นอกเหนือหน้าที่ โดยขอร้องให้เขามีความดีเป็นอันดับที่ 1 เหนือความเก่ง ผมจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงพูดเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างต่าง ๆ ให้เขาเห็นจากประสบการณ์มากมายที่ผมมี แล้วจึงจะลงเรื่องการเรียน วิธีเรียน career path การสอน การไปนอก การลงทุน การดูแลสุขภาพ รวมทั้งหัวข้อทางโรคระบบทางเดินอาหาร 6-7 เรื่อง ความจริงโรคต่าง ๆ ถึงแม้ผมไม่สอน เขาก็จะสอบผ่านอยู่แล้ว เพราะหาอ่านได้ แต่วิธีการที่จะนำไปสู่ความเป็นคนดีที่เก่ง ที่รอบรู้ และมีสุขภาพดี หรือเรื่องอื่น ๆ เขาจะหาที่อ่านไม่ได้

ถ้าทุก ๆ คนเป็นคนดี หรือประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนดี ท่านลองคิดดูว่าประเทศไทยจะน่าอยู่ยิ่งกว่านี้เพียงใด ตอนนี้ ขณะนี้ ก็ยังน่าอยู่ อยู่แล้ว! ถ้าทุก ๆ คนเป็นคนดี ประเทศไทยก็คือ “สวรรค์บนดิน” นั่นเอง ยิ่งกว่าหางโจว (Hangzhou) เมืองที่ประเทศจีนอ้างว่าเป็น “สวรรค์บนดิน” เสียอีกหลายร้อยเท่า็็h