ดร.นพ.วัชรพล อเล็กซองดร์ กำเนิดศิริ จิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม 1 ใน 5 ของโลก กับประสบการณ์จริงที่ยิ่งกว่านิยายใน “ชีวิตพลัดถิ่น”

ดร.นพ.วัชรพล อเล็กซองดร์ กำเนิดศิริ จิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม 1 ใน 5 ของโลก กับประสบการณ์จริงที่ยิ่งกว่านิยายใน “ชีวิตพลัดถิ่น”

                                                        

                                                            “

จงอย่าคะยั้นคะยอให้ลูกของคุณเรียน

เพื่อทำความฝันของคุณให้เป็นจริง

ให้โอกาสเขาได้มีทางเลือกด้วยตัวเขาเอง

ให้เขาได้ใช้เวลาในโลกตามวัยของเขาเอง

อย่างเต็มที่ ให้เขาได้กระโดดโลดเต้น

ลองทุกอย่างที่เขาอยากลอง ให้เขาได้รู้ ให้เขาได้เห็น

เฝ้ามองดูเขาอยู่ห่าง ๆ ดูเขาทำผิด ดูเขาเจ็บ

ดูเขาร้องไห้ ดูวิธีหาทางออกของเขา

เข้าไปช่วยเมื่อเขาร้องขอ ชื่นชมเมื่อเขาทำถูก

ปลอบโยนและให้กำลังใจเมื่อเขาทำผิด

แล้วลูกของคุณจะกลายเป็นผู้ใหญ่

ที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิต

และน่าทึ่งมากกว่าที่คุณคาดไว้

                              “

            ส่วนหนึ่งของความรู้สึกจากประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร จนมาสู่การรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือ “ชีวิตพลัดถิ่น” ของ ดร.นพ.วัชรพล อเล็กซองดร์ กำเนิดศิริ จิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม 1 ใน 5 ของโลก และคุณหมอไทยเพียงคนเดียว ที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยายของคนไทยคนหนึ่งที่ได้ประสบกับเรื่องราวอันเกินคาดเดากว่าที่หลาย ๆ คนจะนึกถึง และก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ในชีวิตของคนคนหนึ่งกว่าที่จะหล่อหลอมเป็นตัวตนดังเช่นในปัจจุบันได้ แต่ละคนต่างต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งสุข และทุกข์ เพียงแต่ว่าใครจะประสบกับสิ่งใดมากกว่ากัน และใครที่จะแข็งแกร่งพอที่จะก้าวผ่านไปสู่ความสำเร็จได้

ดร.นพ.วัชรพล เป็นจิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม (War Psychiatrist) สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริสโตเติลแห่งเธสซาโลนิกิ (Aristotle University of Thessaloniki) และจากภาควิชาแพทยศาสตร์การทหาร วิทยาลัยนายทหารสัญญาบัตรแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (Helenic Corps Officers Military Academy) ประเทศกรีซ

คุณหมอเริ่มทำงานเป็นแพทย์ทหาร ก่อนไปศึกษาต่อหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) สาขาย่อยนิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic Psychiatry) หลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาจิตเวชศาสตร์การสงคราม (War Psychiatry) เฉพาะทางย่อยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนโยบายความมั่นคง (Science, Technology, and Security Policy) หลักสูตรการสะกดจิตและการทำบำบัด (Clinical Hypnosis and Hypnotherapy) และหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางย่อยสาขาเวชศาสตร์การสืบพันธุ์ (Sexual Medicine) ของ European School of Sexual Medicine ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร

ดร.นพ.วัชรพล เป็นนักสกีระดับ 3 ดาว (3e etoile) ของ Ecole du ski Francais (ESF) เป็นนักดำน้ำสมัครเล่นที่สำเร็จหลักสูตรการดำน้ำลึกชั้นสูง (Advance Open Water) ของสมาคม PADI (Professional Association of Diving Instructors) ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นนักบินร่มร่อน (Paragliding) ระดับกลางของฝรั่งเศส (Club de Parapente) อีกด้วย

ปัจจุบัน ดร.นพ.วัชรพล ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส แต่ยังรับเป็นแพทย์ที่ปรึกษา (Consultations sur Rendez-vous) ดูแลผู้ป่วยชาวไทยในสหภาพยุโรปอยู่ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ทั้งนี้คุณหมอกำลังศึกษาต่อในระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (PhD.) สาขาจิตวิทยาการแพทย์และจิตพยาธิวิทยา (Medical Psychology and Psychopathology) ณ คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 1 มหาวิทยาลัยชาร์ลส์แห่งกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก

สำหรับหนังสือ“ชีวิตพลัดถิ่น” เป็นผลงานการเขียนบอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ของ ดร.นพ.วัชรพล จิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม อาชีพที่มีคนทำอยู่เพียง 5 คนในโลก และคุณหมอเป็นคนไทยเพียงคนเดียว โดยเนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยายของคนไทยในต่างแดนที่ประสบพบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยคุณหมอเป็นผู้ร่วมในเหตุการณ์และได้ช่วยเหลือคนไทยเหล่านั้น เนื้อหาในเล่มแบ่งเป็น 3 บท บทแรกและบทที่สองนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนไทยมาเปิดเผย ได้แก่ เรื่อง “เมื่อผมเจอคนไข้ที่ (เชื่อว่า) ถูกควายธนูขวิด (ในฝรั่งเศส) และเรื่อง โศกนาฏกรรมรัก (ของ 2 นักเรียนไทย) ณ กรุงปารีส...ในฤดูใบไม้ผลิ” ทั้งนี้คุณหมอได้นำเนื้อหาบางส่วนของทั้ง 2 เรื่องไปถ่ายทอดลงในเว็บไซต์พันทิป ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมากจนสร้างปรากฏการณ์ มียอดวิวกว่า 500,000 ภายในระยะเวลา 1 เดือน และมีผู้เข้ามา Comment มากกว่า 3,000 ความคิดเห็นภายในระยะเวลาแค่ 3 สัปดาห์ รวมทั้งทำให้มีแฟน ๆ นักอ่านนับแสนในหลากหลายประเทศอีกด้วย ส่วนบทที่สามคือ ชีวิตพลัดถิ่น ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ครอบครัว การเรียน การต่อสู้ที่ทำให้คุณหมอได้เป็นจิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม และใช้ชีวิตในต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

            “ชีวิตพลัดถิ่น” เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของสถาบันครอบครัวที่มีต่อความรู้สึกนึกคิดและการตัดสินใจของคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่พ่อแม่ทำลงไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ล้วนถูกฝังลงไปในจิตใต้สำนึกของลูก แน่นอนว่าทุกครอบครัวไม่ได้สมบูรณ์ แต่หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ รู้จักวางแผน คิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาให้ดี ก็สามารถนำชีวิตให้กลับมาตั้งหลักให้ดีได้

            ทั้งนี้ ดร.นพ.วัชรพล ได้กล่าวถึงการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ในคำนำว่า “ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความไม่ตั้งใจที่จะเขียน แต่เป็นความสงสัยที่อยากพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผมเชื่อนั้นเป็นจริงดังที่มีใครเคยพูดให้ผมฟังหรือไม่ สิ่งที่ผมอยากพิสูจน์นั้นก็คือ เรื่องเล่าที่ผมอยากถ่ายทอดให้คนที่สนใจได้รับรู้ถึงชีวิตที่หลากหลายของคนไทยในต่างแดน ซึ่งไม่ได้มีแต่ด้านดี ทว่าคนที่เคยอยู่ประสบ พบเห็น พยายามที่จะไม่พูดถึง ยกเว้นว่าเรื่อง ๆ นั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเอง เรื่องทุกเรื่องที่ผมยกมาเป็นอุทาหรณ์ล้วนเป็นเรื่องจริง ซึ่งผมได้ตัดทอนส่วนที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงออกไป เหลือเอาไว้เพียงหัวใจของเรื่อง แก่นที่ผมต้องการจะสื่อ เพราะนี่คือชีวิตของคนที่มีชีวิตและเคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับพวกเราทุกคน ถึงแม้เราอาจจะไม่เคยได้พบกันเลยก็ตาม ผมคิดว่าความรักเป็นปัจจัยห้าที่สำคัญของมนุษย์ มนุษย์ที่ไร้ซึ่งความรักมีพื้นฐานนั่นคือความกตัญญูจะทำให้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมลำบาก เพราะความกตัญญูเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เป็นผู้คน จะกตัญญูกับอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำตามกันเป็นแฟชั่น ทั้งนี้ความกตัญญูที่ประเสริฐสุดก็คือ ความกตัญญูต่อคุณพ่อ คุณแม่ และบุคคลที่เลี้ยงดูคุณมา เพราะถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้ ก็คงไม่มีตัวคุณในวันนี้เช่นเดียวกัน

            “ความรักเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความกตัญญูนั้นมีความสำคัญมากยิ่งกว่า ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรจะมีความกตัญญูในความรักที่ได้รับ แล้วโลกใบนี้คงจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ พร้อมผู้คนน้ำใจงามเพิ่มมากขึ้น ผมเชื่อเช่นนั้น”