การทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ต้องยึดหลักเกณฑ์แห่งหน้าที่ สิ่งที่ญาติบอกกับแพทย์เชื่อถือยาก : รายงานผู้ตาย 1 ราย

การทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ต้องยึดหลักเกณฑ์แห่งหน้าที่ สิ่งที่ญาติบอกกับแพทย์เชื่อถือยาก : รายงานผู้ตาย 1 ราย

Forensic Medicine Tasks Must Be Done Within The Framework Of Law

Detail From Relative Is Not Reliable : A Case Report

 

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*

*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            แพทย์ด้านนิติเวชศาสตร์หรือแพทย์ทั่วไปที่ “ต้อง” ทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ด้วยความจำเป็นเนื่องจากในหน่วยงานที่ตนปฏิบัติงานอยู่นั้น ไม่มีแพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์ประจำอยู่ ย่อมประสบกับเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นการเฉพาะหน้าในหลายรูปแบบที่แพทย์อาจไม่เคยพบไม่เคยประสบ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการที่ถูกขอร้องมิให้ต้องดำเนินการด้านนิติเวชศาสตร์ประการหนึ่งประการใด หรือกระทำการเพื่อให้เกิดผลในทางคดีในทางเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน ถึงขนาดที่แพทย์อาจถูกขัดขวาง “มิให้แพทย์สามารถกระทำการตามหน้าที่ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายในระดับต่าง ๆ ได้สำเร็จ” เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับการตายผิดธรรมชาติ1

            1. ในรายที่ยังไม่ทราบสาเหตุแห่งการตาย ญาติจะขอให้ไม่ต้องมีการตรวจศพ (ผ่าศพ) เพื่อหาสาเหตุ แต่ให้ระบุสาเหตุอะไรก็ได้

            2. ในรายที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวัตถุที่กระทำต่อ (ให้ถึงแก่ความตาย) หรือจากสารพิษ โดยญาติจะไม่ขอให้ดำเนินการผ่าตรวจหรือเก็บตัวอย่างเพื่อแยกธาตุวิเคราะห์ (อาจอ้างถึงศาสนา เป็นต้น)

            3. ให้แพทย์ระบุสาเหตุการตายเป็นชราภาพหรือหัวใจล้มเหลว (รู้จักแนะนำแพทย์ด้วย) ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจว่าสาเหตุอื่นจะเป็นเหตุการตายได้หรือไม่

            4. ให้แพทย์ระบุว่าพฤติการณ์แห่งการตายเป็น “อุบัติเหตุ” เพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องสิทธิ

            สิ่งที่แพทย์ประสบอยู่เป็นประจำก็คือ ญาติหรือหมู่ญาติ รุมเร้า รุมล้อม หว่านล้อม กรูกันมา ฯลฯ (ราวกับนักข่าวที่มาสัมภาษณ์ผู้ที่มีชื่อเสียง) เพื่อมิให้แพทย์ต้องดำเนินการตามหน้าที่ตามกฎหมาย ณ ที่ที่เกิดเหตุ อีกทั้งยังพยายามให้แพทย์ดำเนินการกับศพตามที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ต้องการให้นำศพไปทำการตรวจต่อ ณ สถานพยาบาลของรัฐบาล (ตามมาตรา 152)1 ซึ่งประเด็นนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญ และแพทย์จะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างละเอียดเพื่อการตัดสินใจ ทั้งนี้เพราะอาจกระทบต่อแพทย์ในภายหลังได้ โดยเฉพาะแพทย์ผู้ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย1 นั้นต้องถือว่าเป็น “เจ้าพนักงาน” จึงอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้2

 

            ………. เมื่อญาติของผู้ตายรายนี้ถูกถามเกี่ยวกับ “การทำประกันหรือความจำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับประกันภัย” ก็ได้รับแจ้งอย่างรวดเร็วในทันทีทันใดว่า “ไม่มีประกันและไม่ต้องให้แพทย์ดำเนินการประการหนึ่งประการใดอีกเลย” ทำให้แพทย์เชื่อมั่นว่า “จะไม่มีปัญหาทางประกันภัยอย่างแน่นอน”

            ……….. ต่อมากลับพบว่า ญาติได้ส่งเอกสารมาให้กับทางสถานพยาบาล (โรงพยาบาล) เพื่อที่จะต้องให้กรอกเอกสารเพื่อดำเนินการทางประกันภัย

 

อุทาหรณ์กรณีอ้างว่าไม่มีประกันภัย (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

            กรณีข้อเท็จจริง:

            ผู้ตายเป็นหญิงอายุ 77 ปี รูปร่างผอม นอนเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน ญาติได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนหลังพบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว พนักงานสอบสวนเมื่อได้รับแจ้งความแล้วจึงได้แจ้งต่อแพทย์ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพให้เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยกัน

            การชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย:

            แพทย์และพนักงานสอบสวนได้ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ณ บ้านที่พบศพ (ภาพที่ 1) และเมื่อเห็นว่าไม่มีเหตุที่น่าสงสัย (แท้ที่จริงการเสียชีวิตนอกสถานพยาบาลจะต้องถือว่าน่าสงสัยทั้งสิ้น เพราะเป็นไปได้ที่อาจมีสาเหตุแห่งการตายจากการตายผิดธรรมชาติอันเป็นความผิดในทางคดีอาญา เช่น การฆาตกรรมได้เสมอ) แพทย์จึงได้ทำการชันสูตรพลิกศพตามหน้าที่ตามมาตรฐานแห่งความรู้3,4 โดยก่อนที่แพทย์จะทำการสรุปผลการชันสูตรพลิกศพนั้น แพทย์ได้ถามญาติของผู้เสียชีวิตว่า “มีประกันหรือไม่” เนื่องจากทางบริษัทประกันภัยอาจต้องการให้แพทย์กรอกเอกสารซึ่งหากมิได้ทำการตรวจอย่างละเอียดแล้วอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ซึ่ง ณ เวลาที่ทำการชันสูตรพลิกศพอยู่นั้น ซึ่งญาติได้ให้รายละเอียดกับแพทย์และพนักงานสอบสวนว่า “ไม่มีประกันใด ๆทั้งสิ้น” ไม่จำเป็นต้องให้แพทย์กรอกเอกสารเกี่ยวกับประกันภัยอย่างแน่นอน ดังนั้น แพทย์จึงได้ออกเอกสาร “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ให้แก่พนักงานสอบสวน (ภาพที่ 2) ในขณะเดียวกันได้ออก “ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 ตอนหน้า)” ให้แก่พนักงานสอบสวนด้วย (ภาพที่ 3) นับว่าเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายของแพทย์ผู้มีหน้าที่แล้ว1 ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการดำเนินการของพนักงานสอบสวนกับญาติของผู้ตาย โดยพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนญาติผู้ตายที่เกี่ยวข้อง/ใกล้ชิดที่สุดแล้วก็สรุปสำนวนการตายเป็น “การตายตามธรรมชาติ” (ในที่นี้คือ “ติดเชื้อจากแผลกดทับ”) นั่นเอง จากนั้นพนักงานสอบสวนจะมอบ “ใบรับแจ้งการตาย (ทร.4 9 ตอนหน้า) ที่ได้รับการกรอกอย่างสมบูรณ์แล้ว” แก่ญาติของผู้ตายเพื่อที่ญาติจะไปออก “มรณบัตร (ทร.4) ณ อำเภอ/เขตที่เกี่ยวข้อง” (ภาพที่ 4) นั่นเอง ซึ่งเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการในเรื่องการตายโดยทั่วไปจากเหตุธรรมชาติอย่างครบถ้วน ที่เหลือเป็นเรื่องของทายาทในการจัดการตามประเพณีกับศพ

            สิ่งที่อาจตามมา: (นอกเหนือกระบวนการแต่ถือว่าอยู่ในวิสัยได้เสมอที่แพทย์ย่อมต้องระลึกไว้)

            จากนั้นญาติมาติดต่อเพื่อขอให้แพทย์กรอกประกัน (ทั้ง ๆ ที่ญาติแจ้งว่า “ไม่มีประกัน” โดยญาติของผู้ตายได้มายื่นเรื่องกับทางโรงพยาบาลที่แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ผู้ที่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้ตายรายดังกล่าวเพื่อให้กรอกรายละเอียด (ภาพที่ 5)  ใน “แบบฟอร์มประกัน” เพื่อต้องการเรียกร้องสิทธิจากบริษัทประกันภัย (ไม่เกินวิสัยที่คาดคิดไว้)

 

วิเคราะห์และวิจารณ์

            แพทย์ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพต้องระลึกไว้เสมอว่า

          ประการที่ 1: แพทย์ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมาย

            1. ในการชันสูตรพลิกศพ (มาตรา 150)1

            2. ตรวจศพ หรือแยกธาตุศพ (มาตรา 152)1

            แพทย์ดังกล่าวต้องถือว่า “เป็นเจ้าพนักงาน” แม้ว่าจะเป็นแพทย์เอกชนก็ตาม (ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย)1 นั่นเอง

           

          ประการที่ 2: การตรวจผู้ป่วยแพทย์ก็ถือว่าทำหน้าที่ตรวจผู้ป่วย

                        2.1 ณ สถานพยาบาลของรัฐ แพทย์ยังคงต้องถือว่าเป็น “เจ้าพนักงาน” เช่นเดียวกัน และต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วย5,6

                        2.2 ณ สถานพยาบาลเอกชน แพทย์มิได้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่ต้องถือว่าทำหน้าที่ตาม “จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม”5,6

            ดังนั้น การที่แพทย์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือบกพร่องในหน้าที่แห่งตนจึงอาจเข้าข่ายดังนี้

                        ก. หากแพทย์อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน

                        แพทย์ย่อมมีความผิด 1) ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ 2) ฐานเข้าข่ายความผิดทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม5,6

                   ข. แพทย์มิได้อยู่ในฐานะเจ้าพนักงานแต่อยู่ในฐานะแพทย์ผู้ตรวจ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) แพทย์อาจเข้าข่ายความผิดด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น5,6

 

            ประการที่ 3: การตายนอกสถานพยาบาลต้องถือว่า “เป็นการตายผิดธรรมชาติที่มีเหตุน่าสงสัยทั้งสิ้น”

            การที่พบศพที่ตายนอกสถานพยาบาลที่มิได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพด้วยแล้วย่อมต้องถือว่า “เป็นการตายผิดธรรมชาติที่น่าสงสัยด้วยกันทั้งสิ้น” ทั้งนี้เพราะแม้จะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีร่างกายชราภาพ ฯลฯ ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า โรคเรื้อรังหรือความชราจะต้องเป็นสาเหตุแห่งการตายเสมอไป

            หมายความว่า ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือคนชรา ก็อาจเข้ากรณี “ถูกฆาตกรรม” หรือ “ตายจากอุบัติเหตุ”หรือประการหนึ่งประการใดหรือประการอื่นก็ได้ซึ่งไม่มีใครทราบได้ ดังนั้น การที่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ และเห็นว่าผู้ป่วยเข้าข่ายโรคเรื้อรังหรือชราภาพ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจว่า “ไม่น่าจะมีสาเหตุการตายเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากโรคเรื้อรังหรือชราภาพ” เป็นต้น ซึ่งเป็นการ “ช่วยเหลือทายาทของผู้ป่วยมิให้ต้องรับกับกระบวนการยุ่งยากในการจัดการกับศพ (ผู้ตาย) เท่านั้น เพราะโดยทั่วไปการให้สาเหตุแห่งการตายเช่นที่ว่านั้น แท้ที่จริงแล้ว เมื่อไม่ได้ตรวจอย่างละเอียด แพทย์ก็ย่อมไม่อาจทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงแห่งการตายเช่นเดียวกัน

            การที่แพทย์ตัดสินใจโดยอาศัยดุลยพินิจหรือความรู้หรือประสบการณ์แห่งตน มาดำเนินการกับศพ (การตาย) โดยมิได้กระทำให้ครบขั้นตอนแห่งกฎหมาย (นำศพมาทำการตรวจต่อ) นี้เพราะดุลยพินิจแล้วนั้น จึงต้องถือว่า “เป็นความรับผิดชอบของแพทย์ท่านนั้น ๆ อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากเกิดกรณีผิดพลาดในการทำตามหน้าที่ เช่น พบต่อมาว่าผู้ตายแท้ที่จริงแล้วมิได้ตายดังที่ได้คาดหมายไว้ หรือต่อมามีผู้ร้องเนื่องจากสงสัยว่า “การตายของผู้ตายจะมิใช่เนื่องจากโรคเรื้อรังหรือชราภาพ” แล้ว แพทย์ผู้ที่ออกเอกสารที่เกี่ยวข้อง “ต้องรับผิดชอบ” โดยตรง (ทั้งทางด้านกฎหมายหลักทั่วไป เช่น กฎหมายอาญา และยังต้องรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอีกด้วย (ตามกฎเกณฑ์แห่งมาตรฐานและจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ)5

            เมื่อญาติที่มารุมล้อม รบเร้า ให้แพทย์ “ไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่สงสัย” เช่น ขอให้ไม่ต้องนำศพมาเพื่อการรับการตรวจต่อ (อาจมีการผ่าศพหรือไม่มีก็ได้) แล้ว แพทย์ดังกล่าวนั้นต้องรับผิดชอบเต็มที่หากข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาพบว่าเป็นประการอื่น

 

            ประการที่ 4: จุดประสงค์อันแท้จริงของญาติ

            ณ สถานที่ที่พบศพหรือมีการชันสูตรพลิกศพที่แพทย์ต้องดำเนินการร่วมกับเจ้าพนักงานอื่น เช่น พนักงานสอบสวน (และพนักงานอัยการกับพนักงานฝ่ายปกครองแล้วแต่กรณี) ญาติที่เข้ามาหาแพทย์นั้นมีจุดประสงค์เดียวคือ ต้องการให้ดำเนินการตามที่ตนเองต้องการ อันประกอบด้วย

            ก. ไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายศพไปดำเนินการต่อ

            ข. ไม่ต้องการให้มีการผ่าศพตรวจ

            ค. ต้องการเอกสารเพื่อดำเนินการอันเกี่ยวกับการตายเพื่อให้ได้มาซึ่งมรณบัตร

            ง. ต้องการเอกสารเพื่อสิทธิอื่น เช่น ฌาปณกิจสงเคราะห์ ประกันชีวิต ฯลฯ

            ซึ่งโดยสรุปแล้วต้องการแต่ “จะให้ได้ตามที่ตนเองต้องการเท่านั้น” (อาจมีเหตุที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก เช่น ปกปิดข้อเท็จจริงแห่งการตายในคดีอาญา เป็นต้น) แต่ไม่ต้องการให้แพทย์ได้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และแท้ที่จริงแล้วการที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ญาติต้องการจะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ การตรวจ การดำเนินการ การสืบค้น ฯลฯ จาก “ศพ” เสียก่อนนั่นเอง จึงจะได้คำตอบและได้มาซึ่งรายละเอียดแห่งการทำเอกสารต่าง ๆ แต่ญาติกลับต้องการเอกสารโดยไม่ต้องการให้มีกระบวนการที่จะได้มาซึ่งรายละเอียด แต่จะขอให้เอกสารต้องมีการ “ระบุรายละเอียดตามที่ตนเองต้องการ” ซึ่งในบางครั้ง “เป็นไปไม่ได้” เพราะแพทย์มิใช่ผู้วิเศษที่จะทราบหรือหยั่งรู้พยาธิสภาพของผู้ป่วยจากการดูด้วยตาเปล่า หรือ “ดู คลำ เคาะ ฟัง” เท่านั้น

 

            ประการที่ 5: กรณีตามอุทาหรณ์

            เป็นกรณีที่ญาติให้ความมั่นใจกับแพทย์ถึง “การไม่เรียกร้องสิทธิทางประกัน แต่กลับมาขอให้แพทย์ดำเนินการในเวลาต่อมา” ต้องถือว่า “เป็นเรื่องธรรมดา” และสะท้อนให้แพทย์ได้รับทราบว่า “สิ่งที่แพทย์ได้รับข้อเท็จจริง ณ หรือในขณะปฏิบัติงานอาจไม่ตรงตามที่ได้รับจริงได้” แพทย์จึงต้องคิดถึงกรณีดังกล่าวไว้ในใจเสมอว่า หากมิได้เป็นไปตามที่เป็น/ที่คิด ในขณะนั้นแล้วจะดำเนินการอย่างไรหากมีสถานการณ์ที่ต้องให้แพทย์ดำเนินการ ซึ่งประการสำคัญที่สุดที่แพทย์ต้องระลึกก็คือ อย่างน้อยจะต้องไม่ทำให้แพทย์ (ตนเอง) เข้าข่ายดังต่อไปนี้

            ก. ความผิดในด้านจริยธรรมในเรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรม พ.ศ. 25495 ตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 25553 และเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25554

            ข. ความผิดในฐาน “เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา2

            จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์

            1. ผู้ตายอายุ 77 ปี รูปร่างผอม และยังตรวจพบว่ามี “แผลกดทับที่หลังและเชิงกราน มีสภาพของแผลที่เรื้อรังและค่อนข้างลึก” (ภาพที่ 6)  ประกอบกับสีและกลิ่นที่พบ (อาศัยความชำนาญ) ทำให้ทราบได้ว่าผู้ตายรายนี้ต้องได้รับเชื้อที่แผลมามากและต่อเนื่องจนถึงขั้นติดเชื้อในร่างกาย (ในกระแสเลือด) จนเป็นสาเหตุแห่งการตายนั่นเอง

            2. เมื่อญาติของผู้ตายรายนี้ถูกถามเกี่ยวกับ “การทำประกันหรือความจำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับประกันภัย” ก็ได้รับแจ้งอย่างรวดเร็วในทันทีทันใดว่า “ไม่มีประกันและไม่ต้องให้แพทย์ดำเนินการประการหนึ่งประการใดอีกเลย” ทำให้แพทย์เชื่อมั่นว่า “จะไม่มีปัญหาทางประกันภัยอย่างแน่นอน”

            3. ต่อมากลับพบว่า ญาติได้ส่งเอกสารมาให้กับทางสถานพยาบาล (โรงพยาบาล) เพื่อที่จะต้องให้กรอกเอกสารเพื่อดำเนินการทางประกันภัยตามแบบฟอร์ม (ภาพที่ 7) ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในเบื้องต้นที่แจ้งต่อแพทย์ว่า “ไม่มีประกันภัย และไม่ประสงค์ที่จะให้แพทย์ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทางประกันเลย”

            4. สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า “สิ่งที่ทายาทแจ้งให้แพทย์ทราบ ณ วัน เวลาที่ตาย ณ สถานที่ที่ถูกพบว่าเสียชีวิต (ตาย) นั้น “ไม่อาจเชื่อถือได้” ทั้งนี้เพราะ

                        ก. สิ่งที่พูดมานั้นพิสูจน์ไม่ได้เพราะเป็นเพียงการกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานในเมื่อภายหลังมีเหตุที่ต้องใช้กระบวนการดำเนินการ “ที่ขาดหายไป” ซึ่งกระบวนการนี้เองอยู่ในหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องรับผิดชอบ

                        ข. ณ เวลาที่แพทย์ต้องทำตามหน้าที่ (ชันสูตรพลิกศพหรือตรวจศพ) ญาติมีความต้องการอย่างเดียวคือ “ไม่ต้องการให้แพทย์ยุ่งเกี่ยวกับศพ” จึงแสดงทุกวิถีทางที่จะไม่ให้แพทย์ดำเนินการใด ๆ กับศพ รวมถึงหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ด้วย การตัดสินใจของแพทย์ที่จะไม่กระทำตามหน้าที่บางอย่างอาจส่งผลถึง “มาตรฐาน” ของแพทย์ที่จะเกิดผลในภายหน้าต่อแพทย์ท่านนั้นได้3-6 ซึ่งหากแพทย์ตัดสินใจประการหนึ่งประการใดไป แพทย์ท่านนั้นต้องพร้อมที่จะรับผลนั้น ๆ ด้วย

            5. ในผู้ตายรายนี้ (ถือว่าเป็นการโชคดีของแพทย์) ที่แพทย์สามารถประเมินได้ว่า “สาเหตุแห่งการตายนั้นน่าเชื่อได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อ” จากบาดแผลที่ปรากฏ (แพทย์ต้องระลึกไว้เสมอว่า “ต้องทำการถ่ายภาพในขณะชันสูตรพลิกศพไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในภายหน้าที่อาจเกิดขึ้นหรืออาจมีได้”) หากรายดังกล่าวเป็นเรื่องทางคดีความ เช่น ญาติให้แพทย์ลงว่าชราภาพ และต่อมามีญาติอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความใหม่ว่า “ถูกฆาตกรรม” (โดยผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ตาย) แพทย์ที่ทำการชันสูตรพลิกศพย่อมมีปัญหาได้

            หมายเหตุ:

            1. แพทย์ต้องไม่เชื่อในสิ่งที่ญาติพูด แต่ต้องใช้ความรู้ของแพทย์และบทบัญญัติกฎหมายตามหน้าที่ที่แพทย์ได้รับมอบหมายมาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น

            2. หากท้ายที่สุดแล้วแพทย์ไม่อาจทำตามที่ญาติต้องการ (เช่น ญาติไม่ให้นำศพมาเพื่อการตรวจ แต่แพทย์เห็นว่าต้องตรวจเพราะไม่อาจระบุสาเหตุตายได้ โดยญาติต้องการเพียงให้ระบุเพียงว่า “ชราภาพ” เช่นนี้ แพทย์จะต้องระบุไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพว่าไม่ทราบสาเหตุการตาย” และแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อการตรวจต่อ โดยแพทย์ต้องไม่ทำตามญาติหากเห็นว่าเป็นการเสี่ยงที่อาจทำให้ตนเองต้องมีความผิดได้ (ทางจริยธรรมและทางอาญา)

            3. แพทย์มีหน้าที่หรือมีความจำเป็นหรือไม่ในการกรอกเอกสาร (ประกัน) ให้กับผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ในประการนี้หากพิจารณาดูให้ดีแล้วไม่มีกรอบแห่งหน้าที่ประการนี้อยู่ในข้อบังคับหรือเกณฑ์ของแพทยสภาโดยตรง แต่อาจปรับกับข้อความใกล้เคียงได้ เช่น

                        “๑. พฤตินิสัย เจตคติ คุณธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (Professional habits, attitudes, moral, and ethics) ได้แก่

                             ๑.๑ การรักษาเกียรติและธำรงคุณค่าแห่งวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

                                      ๑.๑.๑ มีคุณธรรมและจริยธรรมที่เหมาะสมต่อวิชาชีพแพทย์”3

                        “1.6. สามารถตรวจและให้ความเห็นหรือทำหนังสือรับรองเกี่ยวกับผู้ป่วย ผู้พิการและทุพพลภาพ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย ตามความที่กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวน องค์กร หรือศาลในกิจการต่าง ๆ ได้ เช่น หนังสือรับรองสุขภาพ หนังสือรับรองความพิการและทุพพลภาพ หนังสือรับรองการตาย การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนและศาล”4

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

            แพทย์ที่ทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์โดยตรง หรือแพทย์ที่เป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ สาขาหนึ่งสาขาใด แต่ต้องถูกสั่งให้มาทำหน้าที่แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์แล้ว (ตามหน้าที่/ตามเวรที่ถูกจัดไว้) แพทย์ดังกล่าวนี้ “จะต้องทราบถึงงานในหน้าที่แห่งตน” และ “กรอบแห่งกฎหมายที่แพทย์ดังกล่าวต้องเกี่ยวข้อง” ทั้งนี้เพราะหากแพทย์บกพร่องในหน้าที่และเกิดความเสียหายหรือมีความผิดตามกฎหมายแล้ว แพทย์จะอ้างว่าตนเองไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรหรืออ้างว่าที่ต้องกระทำไปเพราะความเห็นอกเห็นใจญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่กระทำตามหน้าที่จึงย่อหย่อนในงานบางสิ่งบางอย่างไปเช่นนี้แล้ว “ย่อมไม่อาจนำมากล่าวอ้างได้ทั้งสิ้น” ทั้งนี้เพราะหลักกฎหมายมีอยู่ว่า “ความไม่รู้กฎหมายไม่อาจนำมาอ้างในเหตุที่ตนกระทำผิดได้” แพทย์ผู้ทำหน้าที่ในงานด้านนิติเวชเวชศาสตร์จึงสมควรที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบแห่งกฎหมายเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง

            1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

            2. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf

            3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”

            4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

            5. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php

            6. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

 

 

 

şanlıurfa escort van escort afyon escort eskişehir escort ığdır escort