รศ.นพ.นิพนธ์ จิรภาไพศาล การเป็นจักษุแพทย์ต้องมีความละเอียดรอบคอบ

รศ.นพ.นิพนธ์ จิรภาไพศาล การเป็นจักษุแพทย์ต้องมีความละเอียดรอบคอบ

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสร่วมรักษาโรคทางเส้นประสาทตาให้แก่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมารักษาด้วยอาการปวดศีรษะมาก และเคยไปตรวจรักษามาหลายแห่ง ทำการตรวจวัดสายตา แต่อาการปวดศีรษะก็ไม่เคยดีขึ้น โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุการปวดศีรษะของเด็กหญิงคนนี้ได้ ทำให้ รศ.นพ.นิพนธ์ จิรภาไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประสาทจักษุ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่หนึ่ง ตรวจพบขั้วประสาทตาบวมทั้งสองข้าง เกิดความสงสัยว่าสาเหตุของการปวดศีรษะน่าจะมาจากโรคเส้นประสาทตาถูกกดทับ จำเป็นต้องปรึกษาอาจารย์ทางด้านเส้นประสาทตา แต่เนื่องจากอาจารย์ทางด้านนี้มีน้อย คนไข้รอคิวเป็นจำนวนมาก ทำให้นอกจากที่คุณหมอได้ร่วมในการตรวจดูแลรักษาเด็กหญิงคนนี้แล้ว คุณหมอต้องคอยอธิบายและปลอบแม่ของคนไข้ที่อารมณ์เสียด้วยสาเหตุที่ลูกต้องรอคิวนาน แต่ในที่สุดก็ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการปวดศีรษะว่าเกิดจากเนื้องอกในสมองที่กดเส้นประสาทตา ส่งผลทำให้ขั้วประสาทตาบวมทั้งสองข้าง ต่อมาเด็กหญิงคนนี้ก็ได้รับการผ่าตัด จนหนึ่งปีผ่านไปขณะที่คุณหมอเดินอยู่ในโรงพยาบาล แม่ของเด็กผู้หญิงคนนี้เข้ามาทัก และบอกกับคุณหมอว่ารู้สึกดีใจมากที่ลูกสาวไม่มีอาการปวดศีรษะแล้ว และสามารถกลับไปเรียนได้ตามปกติ พร้อมทั้งขอโทษที่แสดงอารมณ์ไม่ดีใส่ ซึ่งเขาคิดว่าการที่เขาต้องเสียเวลารอหมอนานในวันนั้นสามารถได้คำตอบในการรักษาลูกสาวทำให้ลูกสาวเขาหายเป็นปกติถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นและก็ผ่านเลยไปสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับ รศ.นพ.นิพนธ์ แล้วสิ่งนี้คือความประทับใจและทำให้คุณหมอตัดสินใจเลือกเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคเส้นประสาทตา โดยคุณหมอได้กล่าวถึงเหตุผลของการเลือกครั้งนี้ให้ฟังเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่สนใจทางด้านงานประสาทจักษุ เนื่องจากว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทตามีรายละเอียดค่อนข้างมากและยังเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโรคทางอายุรศาสตร์หรือโรคทางกายค่อนข้างมาก ซึ่งคนที่เป็นจักษุแพทย์จะต้องมีความละเอียดและต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคทางจักษุที่มีความสัมพันธ์กับโรคทางกาย แต่แนวทางการรักษาส่วนใหญ่ที่มียังเป็นวิธีการรักษาแบบเก่า ๆ การรักษาด้วยเทคนิคสมัยใหม่เรายังเข้าถึงได้น้อย

“การเป็นจักษุแพทย์ดูแลเกี่ยวกับตาก็จริง แม้คนไข้จะมาด้วยอาการเช่นนี้ แต่เราก็ต้องลงไปดูรายละเอียดด้วยว่าคนไข้จะสามารถเป็นโรคอะไรได้บ้าง และสัมพันธ์กับอะไรเพื่อที่จะรักษาเขาได้ถูกต้อง ทั้งนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่างานของจักษุแพทย์เป็นงานที่สบาย แต่ถ้ามาสัมผัสจริง ๆ จะรู้ว่าไม่ได้สบายอย่างที่คิด งานของจักษุแพทย์ไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากคนไข้โรคตามีจำนวนมาก โดยอาการที่พบบ่อยมากที่สุดคือ ตามัว ซึ่งสาเหตุของตามัวมีมากมาย ส่วนใหญ่เกิดจากต้อกระจกเป็นหลัก รองลงมาคือต้อหิน ซึ่งโรคเหล่านี้จะพบมากในคนสูงอายุ ส่วนโรคอื่น ๆ ก็อาจจะเป็นตาแห้ง ต้อลม และอาจารย์จักษุแพทย์จะเป็นคนละเอียด ซึ่งสมัยเรียนผมยังไม่เข้าใจและรู้สึกว่างานบางอย่างทำไมอาจารย์ต้องจู้จี้จุกจิกและลงรายละเอียดมากเกินไป แต่เมื่อผมจบเป็นจักษุแพทย์แล้ว ผมจึงเข้าใจและรู้สึกดีที่ท่านได้สอนเราให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเส้นประสาทตาแล้ว รศ.นพ.นิพนธ์ ยังให้ความสนใจในงานวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยงานวิจัยที่คุณหมอทำส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยทั่วไปเกี่ยวกับเส้นประสาทตา กับการเคลื่อนไหวของลูกตา ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่ศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทตาในคนไข้นอนกรน หรือการหาความเสี่ยงในคนไข้ที่เป็นโรคแขนขาอ่อนแรงทางอายุรศาสตร์ที่สัมพันธ์กับทางตา จากความตั้งใจทุ่มเทให้แก่งานวิจัยมาโดยตลอด ทำให้คุณหมอได้รับรางวัล “The 2011 Tsutsui-Fujino Award” จาก The Japanese Neuro-Ophthalmology Society ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่จักษุแพทย์ที่ทำงานด้านเส้นประสาทตาเพื่อเป็นกำลังใจ โดยพิจารณาจากประวัติและประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงยังได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2555 ในสาขาบุคลากรดีเด่นที่ได้รับรางวัลระดับชาติ และระดับนานาชาติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีกด้วย

ทั้งนี้ รศ.นพ.นิพนธ์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานวิจัยด้วยว่า อันดับแรกต้องตั้งหัวข้อการวิจัย เพราะก่อนที่เราจะทำงานวิจัยจะต้องมีความรู้ทางด้านนั้นเป็นอย่างดี จากนั้นก็อ่านงานวิจัยของคนอื่นว่าเขาทำอะไรกันมาบ้างแล้ว โดยเราอาจหยิบเอาความรู้ของคนอื่นมาต่อยอดอีกที เพราะถ้าเราทำซ้ำกับของคนอื่นก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มเติมนัก นอกจากนี้ก็ต้องดูว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีอันใหม่อะไรกำลังจะเข้ามา ซึ่งถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีนั้นมาช่วยในการวินิจฉัยหรือรักษาได้ก็จะเป็นผลดีแต่ทั้งนี้ในการทำวิจัยบางครั้งผลการวิจัยอาจจะไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง ผมเจอปัญหานี้บ่อย และเป็นเหมือนกับว่าเราเสียเวลาเปล่า ผมจึงอยากจะบอกกับคนที่จะเริ่มทำงานวิจัยว่าความล้มเหลวหรือความผิดพลาดถือเป็นเรื่องปกติ บางครั้งงานวิจัยที่ทำเกือบจะออกมาเป็นผลสำเร็จ แต่กลับไม่ได้ หรือผลที่ได้ไม่เป็นอย่างที่เราคิด สิ่งเหล่านี้จะเกิดบ่อยมาก นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของการตีพิมพ์เนื่องจากคนไทยใช้ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง ทั้งนี้ภาษาเป็นสื่อในการแสดงถึงความรู้ของเรา ถ้าภาษาอังกฤษของเราไม่แข็งแรง การนำลงตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศจะประสบปัญหา เราจึงอาจจะต้องหาชาวต่างชาติมาช่วยแก้สำนวน ซึ่งการหาชาวต่างชาติมาแก้งานเขียนบางทีก็ยาก เนื่องจากว่าคนที่มาช่วยแก้ให้ก็ไม่เข้าใจรายละเอียดของงานวิจัย เราอาจต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องอ่านงานวิจัยให้มาก และลองเขียนงานออกมาดู

“หลายครั้งในการทำงานยอมรับว่าท้อ แต่เราก็ต้องวางเป้าหมายและทำให้สำเร็จ มีหลายครั้งที่งานวิจัยที่ทำไปแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เราอาจจะพักไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ บางทีอาจจะได้ความคิดใหม่ ๆ ดี ๆ เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังในเรื่องของการเก็บข้อมูล บางทีงานวิจัยที่ทำไป เราไม่มีเวลาเขียนออกมา ข้อมูลที่เก็บไว้นานจะเก่า หรืออาจคิดว่าผลงานวิจัยที่ออกมาไม่ได้เป็นดังที่เราคิด ก็คิดไปว่างานวิจัยไม่ดีพอทำให้เกิดความท้อ การตีพิมพ์บางทีก็ยาก เราต้องส่งผลงานไปหลาย ๆ แห่ง จนมีคนเห็นว่างานวิจัยของเรามีคุณค่าเหมาะแก่การตีพิมพ์ก็เป็นไปได้ ดังนั้น ผมจึงอยากจะแนะนำทุกคนว่าไม่ต้องท้อ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือ เราต้องหาทีมเพื่อจะได้ช่วยกันทำงานวิจัยให้ออกมาดีและจะได้ไม่เหนื่อยมาก”

รศ.นพ.นิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมยอมรับว่าไม่ใช่คนที่ทำงานวิจัยเก่ง และผลงานวิจัยอาจจะไม่ได้โดดเด่นมาก แต่สำหรับแพทย์ทั่วไปโดยเฉพาะแพทย์ที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตามหลักสากลการที่เขาจะดูว่าเรามีผลงานหรือไม่ เขาจะพิจารณาจากงานวิจัย เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้เป็นที่ยอมรับจะต้องทำผลงานวิจัยออกมา เนื่องจากงานวิจัยจะเป็นตัวบอกความคิด ผลการทำงาน ตลอดจนประสบการณ์การทำงานของเรา ซึ่งงานวิจัยของผมอาจไม่ใช่งานวิจัยที่โดดเด่น แต่ผมก็พยายามทำ”

สุดท้ายนี้ รศ.นพ.นิพนธ์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่อาจจะประสบปัญหาในการดูแลคนไข้ว่า โรคทางตาส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการตามัว เพราะฉะนั้นในการรักษาคนไข้ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นและทำให้คนไข้ไม่พอใจคือ การมองเห็นของคนไข้ไม่ดีขึ้นตามความต้องการที่พอใจของคนไข้ ซึ่งถ้าเราเจอปัญหานี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องมาดูสาเหตุของความไม่พอใจว่าอาจเกิดจากการสื่อสารกับคนไข้ ซึ่งเราอาจจะสื่อกับคนไข้ไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วตามลักษณะอาการของโรคที่คนไข้เป็น ผลการรักษาที่ได้ต้องเป็นแบบนี้ หรืออาจจะเกิดจากการรักษา คือการรักษาของเรายังไม่ถูกทางหรือไม่ดีพอ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของการรักษาไม่ดีพอ เราต้องยอมรับและแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้รายนี้ดีขึ้น หรือจะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีกในคนไข้รายต่อไป ที่สำคัญจักษุแพทย์ต้องไม่หนีปัญหา เราต้องจริงใจ คิดว่าปัญหาของคนไข้เหมือนเป็นปัญหาของเรา และตั้งใจแก้ปัญหาของเขาให้ดีที่สุด