ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันมีโอกาสไปประชุมที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทันทีที่ฉันเดินเข้าไปก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการตกแต่งภายในของอาคาร ซึ่งสื่อถึง healing environment ได้อย่างชัดเจน เพราะทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างแรงบันดาลใจได้ไปพร้อมกัน

ภายในอาคารมีการตกแต่งรูปปั้นนกและต้นไม้อยู่ทั่วไป ทำให้บรรยากาศเย็นตาเย็นใจ บันไดทางขึ้นก็ทำให้เป็นกระจกอยู่ในที่โล่ง ทำให้เห็นภายในอาคารได้อย่างโปร่งโล่งตา… ไม่ใช่บันไดที่แอบซ่อนอยู่ในซอกแคบ ๆ อีกต่อไป… จนทำให้รู้สึกอยากเดินขึ้นลงบันไดอย่างไม่รู้จบเพราะมีสิ่งเพลินตาเพลินใจตลอดการเดิน

ลิฟต์ก็เป็นลิฟต์แก้วที่เมื่อยิ่งขึ้นไปสูงก็จะเห็นบรรยากาศของสวนและตึกในมุมสูงโดยรอบ

มีมุมกระตุ้นให้คิด เช่น ภาพพระพุทธรูปที่นั่งสมาธิอยู่ 3 องค์ โดยที่องค์แรกจะเห็นรูปลักษณ์ใบหน้าแขนขาชัดเจน องค์ที่ 2 แขนขาเริ่มแนบไปกับลำตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนองค์สุดท้ายไร้รูปหน้า และแขนขาแนบกับลำตัวจนเป็นสิ่งเดียวกัน ทำให้ฉันคิดได้ว่าการเข้าถึงสมาธิที่แท้จริงก็ทำให้เราไร้ตัวตนและรูปร่างในที่สุด... จนเกิดเป็นความนิ่งสงบในใจของฉันอยู่ชั่วครู่หนึ่ง

ห้องประชุมก็ตกแต่งเป็นผนังไม้ที่มีกระจกล้อมรอบ ทำให้สามารถปล่อยสายตาให้ทอดมองออกไปยังสวนและท้องฟ้าไกล ๆ ได้ อันทำให้รู้สึกผ่อนคลายในขณะกำลังประชุมอย่างเคร่งเครียดได้เป็นอย่างดี

ห้องสมุดก็ออกแบบให้มีผนังสีขาวดูสว่างตาและมีกระจกล้อมอยู่หลายแห่งเพื่อให้นักอ่านทั้งหลายได้พักผ่อนสายตามองออกไปยังสวนสวย ท้องฟ้าใส ๆ หรือบ้านเรือนของผู้คนที่อยู่รายรอบ

หิ้งหนังสือต่าง ๆ ถูกวางกระจายตามจุดต่าง ๆ ของห้องสมุดอย่างไม่เป็นระเบียบ ช่างดูแตกต่างจากห้องสมุดในอดีตที่มีตู้หรือหิ้งหนังสือวางเรียงกันอยู่แถบหนึ่งเป็นทิวแถวจนดูน่าอึดอัด นอกจากนี้ยังมีที่นั่งเอนให้นอนอ่านหนังสือตามมุมห้อง รวมทั้งมีห้องส่วนตัวที่ภายในมีทีวีและเบาะนอนเอนเพื่อศึกษาหรือดูทีวีผ่อนคลายตามลำพัง

ฉันเข้าไปดูนิทรรศการที่จัดอยู่ชั้น 1 เป็นนิทรรศการที่จัดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ลักษณะเป็นห้องที่มีการสร้างอุโมงค์หวายไว้ภายใน ผู้เข้าชมนิทรรศการต้องเดินเข้าไปในอุโมงค์หวายนั้น ซึ่งภายในจะตกแต่งคำคมเพื่อเตือนใจบางอย่าง ดังนี้

ภายในอุโมงค์หวายนั้นจะมีจุดพักกลางทางเพื่อดูวิดีโอ วิดีโอที่ฉันได้ดูเป็นเรื่อง “เก็บยิ้ม” ซึ่งเป็นหนังสั้นที่ได้รับรางวัลจากงาน Disability Film Award 2008 เป็นหนังของคุณโสภณ ฉิมจินดา ซึ่งเป็นผู้พิการขาทั้ง 2 ข้าง คุณโสภณ เล่าว่า ในสมัยก่อนเขาชอบเดินทางท่องเที่ยวเพื่อถ่ายรูป จนต่อมาประสบอุบัติเหตุพิการขาทั้ง 2 ข้าง ทำให้เดินไม่ได้ แต่จนถึงปัจจุบันเขาก็ไม่เคยให้ข้อจำกัดของความพิการมาทำลายโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวที่เขารักได้เลย ปัจจุบันเขายังคงเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บภาพรอยยิ้มของผู้คนที่หลากหลายเอาไว้ มีคำพูดหลายคำที่ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจได้ไม่ยาก

“รอยยิ้มเป็นความสุขพื้นฐานของคน”

“เราไม่ควรปล่อยให้เสียงของข้อจำกัดดังเกินกว่าเสียงภายในใจของเรา”

ใกล้ปลายทางออกของอุโมงค์หวายแห่งนั้น จะมีภาพลูกโลกใบหนึ่งอยู่ที่ผนัง ด้านหน้าของลูกโลกมีกล้องถ่ายรูปติดอยู่บนเพดาน เมื่อเราเงยหน้าไปยังกล้องที่เพดานพร้อมกับกดปุ่มถ่ายภาพ ก็จะปรากฏภาพของเรายืนยิ้มอยู่บนโลกใบนี้

หลังจากเดินออกจากอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแล้ว ฉันรู้สึกชุ่มชื่นใจและสุขใจเป็นอย่างมาก ฉันเริ่มค้นหา website ของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะที่ http://resource.thaihealth.or.th/media/knowledge/13865 และพบว่ามีหนังสือดี ๆ ที่เป็น e-book แจกให้อ่านฟรีทางอินเตอร์เน็ตมากมาย

ฉันจึงอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจลองแวะเวียนไปดูอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และ website เพื่อคุณ ๆ จะได้รู้สึกสุขใจ และเกิดแรงบันดาลใจขึ้นบ้าง… เหมือนฉัน