ไม่มีประวัติโรคหัวใจก็ตายจากโรคหัวใจได้ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ไม่มีประวัติโรคหัวใจก็ตายจากโรคหัวใจได้ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

Without History Of MI Could Die From The First Attacked Acute MI (A Case Report)

 

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*

*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เมื่อแพทย์ต้องไปทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน และพบว่าศพที่ต้องทำการชันสูตรนั้นนอนตายในลักษณะที่ไม่พบว่ามีร่องรอยประการหนึ่งประการใดอันน่าเชื่อว่าอาจเกิดจากการ “ถูกประทุษร้าย” ต่อร่างกายก็จริง แต่ผู้ตายที่แพทย์ไปชันสูตรพลิกศพนั้นมีอายุน้อยหรือ “ปานกลาง” (วัยกลางคน) ซึ่งโดยปกติแล้วหากไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างชัดเจนแล้ว จะต้องไม่ถึงแก่ชีวิตเพราะไม่มีสาเหตุที่จะทำให้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด ในกรณีเช่นนี้ “แนวทางที่ปลอดภัยไว้ก่อนในการดำเนินการเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ” ก็คือ “การให้สาเหตุการตายในบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ ว่า “ตายโดยมิปรากฏเหตุ” โดยให้สอดคล้องกับ “คำ” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148(5)1 ไว้ก่อน แล้วดำเนินการจัดให้มีการ “นำศพเข้ามารับการตรวจต่อ ณ สถานพยาบาลที่มีแพทย์ (พยาธิแพทย์หรือนิติพยาธิแพทย์) ที่สามารถทำการตรวจศพอย่างละเอียดได้อีกครั้งหนึ่งเสมอ” แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพจำเป็นอย่างยิ่งต้องดำเนินการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเสมอโดยห้ามนิ่งนอนใจว่า “น่าจะเป็นเหตุตายตามธรรมชาติเสมอไป” เพราะอาจเป็นการตายอันเนื่องจากเหตุอื่นก็ได้โดยเฉพาะการถูกฆาตกรรมได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการนำศพเข้ามารับการตรวจในที่สุดก็อาจได้ข้อเท็จจริงว่า “เป็นการตายผิดธรรมชาติ” ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการดำเนินการทางการแพทย์อย่างสิ้นเปลือง แต่ต้องถือว่าเป็นการทำตามมาตรฐานทางการแพทย์

การที่แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพพบว่าศพที่ตนชันสูตรพลิกศพนั้นมิได้มีบาดแผลหรือร่องรอยใด ๆ อันจะเป็นการถูกประทุษร้ายก็ตาม และแม้ว่าจะเสียชีวิตต่อหน้าบุคคลจำนวนมากก็ตาม หากมิได้มีเหตุมีพยาธิสภาพที่เห็นอย่างประจักษ์หรือทราบจากการตรวจ (โดยแพทย์) ว่ามีสาเหตุจากโรคธรรมชาติแล้ว การที่แพทย์จะออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) หรือข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์ (ทร.4 ตอนหน้า) นั้น ย่อมเป็นการ “เสี่ยงต่อ” การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์อย่างมาก เพราะอาจเข้าข่ายการที่แพทย์ประกอบวิชาชีพไม่ได้มาตรฐาน (ทางนิติเวชศาสตร์) …….ฯลฯ

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ผู้ตายอายุ 49 ปี ไม่เคยมีประวัติเจ็บหรือแน่นหน้าอก ไม่มีประวัติโรคเรื้อรังใด ๆ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคประจำตัวใด ๆ ไม่มียาที่กินประจำทั้งยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบัน (ซื้อยากินเอง)

ผู้ป่วยไปกินข้าวที่ร้านขายข้าวแกงข้างบ้าน ต่อมาผู้ขายพบว่าผู้ตาย “ฟุบอยู่กับโต๊ะกินข้าว” ทางร้านรีบพามาที่โรงพยาบาล (เอกชน) ที่ใกล้ที่สุด แพทย์ได้ทำการกู้ชีพ (CPR) แล้วแต่ไม่สำเร็จ (ภาพที่ 1) และให้เป็นการตายโดยมิปรากฏสาเหตุอย่างเฉียบพลัน (sudden unexpected death)

 

การชันสูตรพลิกศพ

เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทางสถานพยาบาลได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่เพื่อมาทำการชันสูตรพลิกศพ โดยแพทย์ที่เข้าร่วมเป็นแพทย์ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเป็นการให้เข้าร่วม (ภาพที่ 2) โดยพนักงานสอบสวนถือว่าเป็น “หัวหน้าทีม (คณะ) ในการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายนั่นเอง”

การส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ:

เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้ว โดยมากยังไม่อาจหาหรือพบสาเหตุการตายได้ แพทย์จึงต้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ และพนักงานสอบสวนจะมีหนังสือนำส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ (ภาพที่ 3)

การตรวจศพอย่างละเอียด:

ได้มีการตรวจศพอย่างละเอียดโดยการ “ผ่าศพตรวจ” ตามแนวทางของงานด้านนิติเวชศาสตร์ได้ผลดังนี้

การตรวจศพภายนอก: (ภาพที่ 4)

- ศพชายอายุประมาณ 49 ปี รูปร่างสันทัด ผิวเนื้ออย่างชาวเอเซีย ตัวยาวประมาณ 170 เซนติเมตร

- ศพมีผมสีดำแต่มีสีขาวแซม ไม่ไว้หนวดและเครา

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังตายที่หลังได้ชัดเจน

- ปลายมือ เท้า ริมฝีปาก ไม่พบลักษณะเขียวคล้ำ

- ไม่พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตา ผิวหนังตามแขน ขา และลำตัว

- คอ รอบคอ ไม่พบบาดแผลหรือรอยกดรัด

- ไม่พบคราบ สี กลิ่น ผิดปกติที่บริเวณรอบทวาร ปาก หู จมูก ตา

- ไม่พบบาดแผลรุนแรงตามร่างกายและแขน ขา

- แขนและขาไม่งอผิดรูป

การตรวจศพภายในโดยการผ่าศพตรวจ:

- หนังศีรษะและกะโหลกศีรษะปกติ

- เนื้อสมองทั้งสมองใหญ่ แกนสมอง และสมองน้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ภาพที่ 5)

- ไขสันหลังและกระดูกสันหลังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ปอดและอวัยวะในช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อฝานหน้าตัดของปอดดูไม่พบลักษณะการติดเชื้อหรือพยาธิสภาพใดที่ผิดปกติ ยกเว้นการคั่งเลือดในปอด (lung parenchyma) เท่านั้น

- หัวใจมีขนาดใหญ่และแข็งกว่าปกติ

- ตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตรวจไล่ตามเส้นพบว่า

- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นหน้า (anterior descending branch of left coronary artery) มีลักษณะตีบเป็นห้วง ๆ (segmental stenosis) บางหย่อมตีบกว่าร้อยละ 80 (ภาพที่ 6)

- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้านขวา (right coronary artery) (ภาพที่ 7) และหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นซ้ายวกกลับ (left circumflex artery) มีลักษณะตีบเป็นห้วง ๆ เช่นเดียวกัน (segmental stenosis) - เมื่อตัดกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อตรวจพบว่า หัวใจห้องล่างซ้ายมีผนังผิดปกติเพราะเห็นพยาธิสภาพเป็นหย่อมสีซีด (หย่อมขาว) (ภาพที่ 8) ลักษณะเข้าได้กับการขาดเลือดและเป็นเนื้อตาย (scar formation) อีกทั้งยังพบจุดแดงเป็นหย่อมเล็กกระจายตัวในกล้ามเนื้อหัวใจ เข้าได้กับการเกิด “สภาวะขาดเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอย่างเฉียบพลัน” (acute myocardial ischemia)

- อวัยวะอื่น ๆ ในช่องอกอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ตับ ม้าม ไต ลำไส้ และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ไม่ได้กลิ่นฉุน หรือแอลกอฮอล์ในของเหลวในกระเพาะอาหาร

- อวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

- หมู่เลือดโอ

- ตรวจไม่พบเอทานอลในเลือด

- ตรวจไม่พบยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในเลือด และของเหลวจากกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงในกลุ่มคาร์บาเมท และกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตจากของเหลวในกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบสารไซยาไนด์จากของเหลวในกระเพาะอาหาร

- ตรวจไม่พบสารเมทแอมเฟตามีนในเลือดและปัสสาวะ

- ตรวจไม่พบสารอนุพันธ์ของมอร์ฟีนในเลือด

สาเหตุตาย: กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ

พฤติการณ์ที่ตาย: เข้าได้กับการตายตามธรรมชาติ

วิเคราะห์และวิจารณ์

การที่ผู้ตายถูกส่งมาให้ตรวจต่อตามกฎหมาย (โดยแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้) อาจวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1: การตายผิดธรรมชาติ

ผู้ตายรายนี้เป็นชายอายุเพียง 40 ปีเศษ ไม่มีประวัติโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคเนื้อร้าย (มะเร็ง) โดยกิจวัตรประจำวันไม่มีอะไรผิดไปจากปกติ

ในวันเกิดเหตุได้ไปกินข้าวที่ร้านขายข้าวแกงข้างบ้านที่กินอยู่เป็นประจำ แล้วในขณะที่นั่งอยู่ (ยังไม่ได้กินเลย) ผู้ขายพบผู้ตายนั่งฟุบกับโต๊ะจึงรีบนำส่งที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ โดยแจ้งประวัติกับทางแพทย์ ณ สถานพยาบาลว่า “ไม่ทราบเหตุโดยผู้ตายนั่งฟุบอยู่ที่โต๊ะกินข้าวในร้านขายข้าวแกง”

แพทย์ได้ทำการกู้ชีพตามเกณฑ์แห่งการกู้ชีพ (cardiopulmonary resuscitation) แล้วปรากฏว่าไม่สำเร็จ (failure) จึงได้แจ้งให้ผู้นำส่งและญาติทราบว่า “ถึงแก่ความตายแล้ว” และเป็นการตายโดย “มิปรากฏเหตุ” จึงจำเป็นต้องแจ้งไปยัง “พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่” ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148(5)1 นั่นเอง

ประการที่ 2: การตายโดยมิปรากฏเหตุกับการชันสูตรพลิกศพ

เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งว่ามีการตายเกิดขึ้นและเป็นการตายโดยมิปรากฏเหตุด้วยแล้ว จำเป็นที่จะต้องรีบมาทำการชันสูตรพลิกศพ โดยแจ้งให้แพทย์ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพมาร่วมทำการชันสูตรพลิกศพด้วย (มาตรา 150)1

แพทย์ผู้มีหน้าที่ได้มาร่วมทำการชันสูตรพลิกศพหากตรวจพบว่า “ผู้ตายมีสภาพโดยทั่วไปปกติ” ไม่มีร่องรอยของบาดแผลหรือการบาดเจ็บเลย อีกทั้งยังไม่มีประวัติโรคประจำตัวใด ๆ การที่แพทย์เพียงแต่ “ดูศพ” และ “พลิกศพดู” เท่านั้น ณ ที่ที่ศพอยู่ (คือที่สถานพยาบาลเอกชน) นั้น จึงไม่อาจที่จะบอกได้ว่า “สาเหตุแห่งการตายในผู้ตายรายนี้คืออะไร” อีกทั้งผู้ตายยังมีอายุเพียง 40 ปีเศษเท่านั้น ซึ่งคนในวัยนี้ไม่น่าจะเสียชีวิตอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องทำการส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อและหาสาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตายอย่างแท้จริง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 151 และ 1521 นั่นเอง (ภาพที่ 3)

ประการที่ 3: สิ่งที่อาจเป็นข้อสงสัยในสาเหตุการตายในผู้ตายที่อายุไม่มาก

การที่แพทย์ซึ่งทำการชันสูตรพลิกศพในรายที่อายุ 40 ปีเศษที่ถือว่ายังไม่มาก (อาจถือว่าอยู่ในวัยกลางคน) นั้น ต้องถือว่าการตายนั้นเป็นการตายที่ “ไม่สมควรตาย” (ยังไม่ถึงเวลาตาย) การตายจึงต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งแพทย์อาจตั้งข้อสงสัยในเรื่องต่าง ๆ เช่น

1. เป็นความผิดทางอาญาด้วยเจตนา2

คือ อาจเกิดจากการกระทำต่อผู้ตายให้ถึงแก่ความตายได้ ซึ่งการถูกฆ่าตาย (ฆาตกรรม) ซึ่งอาจเกิดจาก

ก. การถูกยาหรือสารเคมีทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เช่น อาจถูกสารพิษในอาหารหรือเครื่องดื่ม

ข. ใช้อาวุธทำร้ายในตำแหน่งที่ยากต่อการตรวจ เช่น ที่ก้น เป็นต้น

ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 หรือ 2892

มาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”

มาตรา ๒๘๙ ผู้ใด

…………………………..ฯลฯ

() ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

…………………………..ฯลฯ

ต้องระวางโทษประหารชีวิต”

2. เป็นความผิดอาญาเพราะเป็นความประมาทจากบุคคลอื่นได้ เช่น

ก. การที่บุคคลอื่นผสมยาให้กับผู้ตายกินผิดไป (ผิดสัดส่วนหรือผิดชนิด)

ข. ความประมาทในการวางสารพิษไว้แล้วผู้ตายมาหยิบไปกิน (รู้เท่าไม่ถึงการณ์)

ค. การที่ประมาทในการเดินสายไฟฟ้าทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 291 แห่งประมวลกฎหมายอาญา2

มาตรา ๒๙๑ ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”

3. การที่ถูกสัตว์กระทำ เช่น งูพิษกัดในขณะที่นั่งอยู่ เป็นต้น หากเป็นการที่สัตว์ทำร้ายโดยธรรมชาติย่อมไม่เป็นความผิด แต่หากเป็นการกระทำโดยมนุษย์ เช่น การที่มีผู้เอางูพิษมาปล่อยเพื่อให้กัดผู้อื่นแล้วอาจเข้าข่ายการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการฆ่าได้

4. ไม่เป็นความผิดเพราะเป็น “การฆ่าตัวตาย” หรือ “ประมาทแห่งตนเอง”

กฎหมายไทยไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดสำหรับการฆ่าตัวตายหรือเป็นเพราะความประมาทของผู้ตายเอง เช่น ผู้ตายเดินสายไฟฟ้าเอง แต่ด้วยความประมาทจึงถูกกระแสไฟฟ้าดูดตาย (physical agents) เป็นต้น อาจถือได้ว่าเป็น “อุบัติเหตุ” ได้

5. ไม่เป็นความผิดใด เพราะเป็น “การตายจากเหตุธรรมชาติ” หรือ “ด้วยเหตุธรรมชาติ”

หมายถึง การที่ผู้ตายมีสาเหตุอันเป็นเหตุตามธรรมชาติในร่างกายของผู้ตายเอง แต่ผู้ตายรวมถึงญาติไม่เคยได้รับทราบมาก่อน เพราะผู้ตายไม่เคยมารับการตรวจ ณ สถานพยาบาลแห่งหนึ่งแห่งใดมาก่อน (การตรวจโดยแพทย์และวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือ Modern-Western Medicine) จนกระทั่งเกิดความรุนแรงแห่งเหตุที่ผู้ตายมีอยู่ก่อน และเป็นเหตุจนทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายขึ้นมาโดยทันที

ประการที่ 4: การตรวจศพโดยการผ่าศพอย่างละเอียด

จากการผ่าศพผู้ที่เสียชีวิตรายดังกล่าวตามอุทาหรณ์นี้ พบสาเหตุแห่งการตายอย่างชัดเจน กล่าวคือ

ก. ตรวจพบว่าเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจมีพยาธิสภาพอย่างชัดเจน

1. anterior descending branch of left coronary artery มีการตีบเป็นช่วง ๆ (segmental stenosis) และมีบางตำแหน่งที่มีการตีบถึงราวร้อยละ 80 หรือมากกว่า (ภาพที่ 6)

2. right coronary artery มีการตีบอยู่ราวร้อยละ 40-50 (ภาพที่ 7)

3. left circumflex artery มีการตีบอยู่ราวร้อยละ 40-50

แม้ว่าหลอดเลือดในข้อ 2 และ 3 จะมิได้ตีบมากถึงขนาด (กว่าร้อยละ 70) แต่ก็เป็นเหตุและปัจจัยเสริม การที่เมื่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นหน้า (anterior descending branch of left coronary artery) มีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอในระยะหนึ่งระยะใด ย่อมขาดการช่วยเหลือจากหลอดเลือดใกล้เคียงได้

ข. ตรวจพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นแผลเป็น (scar formation) มีลักษณะซีดขาวเป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะที่บริเวณกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายตอนหน้าและข้าง (anterolateral wall of left ventricle) (ภาพที่ 8)

ค. ตรวจพบว่าใกล้เคียงกับแผลเป็น (ลักษณะซีดขาว) กลับมีลักษณะสีแดงเป็นหย่อม เข้าได้กับเป็นการตายของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างเฉียบพลัน (acute myocardial ischemia)

ประการที่ 5: การตรวจไม่พบว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ

ในรายนี้เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจศพโดยการผ่าศพตรวจแล้วก็ไม่พบว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ แต่กลับพบว่าเป็นการตายตามธรรมชาติ อันเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอย่างมากนั่นเอง การที่แพทย์ดำเนินการดังกล่าวมิได้หมายความว่าแพทย์กระทำการอย่างผิดพลาดในประการต่าง ๆ

ก. นำศพเข้ามาตรวจโดยในที่สุดไม่พบว่ามีการตายผิดธรรมชาติ

ข. ทำให้เสียเวลาของทั้งแพทย์ พนักงานสอบสวน และญาติของผู้ตาย

แต่การที่แพทย์ดำเนินการนำศพดังกล่าวกลับเข้ามารับการตรวจต่อกลับถือว่าเป็นการกระทำตาม “มาตรฐานทางการแพทย์ (ทางนิติเวชศาสตร์)”3,4,5 แล้ว เพราะหากมิได้ทำการตรวจศพอย่างละเอียดย่อมไม่อาจทราบได้ว่า “สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายตายอย่างแท้จริงคืออะไร” และหากมีผู้ที่สงสัยในสาเหตุการตายในเวลาต่อมาโดยที่แพทย์มิได้มีการตรวจเพื่อให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ย่อมเกิดข้อสันนิษฐานต่าง ๆ นานาได้ และทำให้แพทย์อาจเข้าข่ายกระทำการโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ได้ เช่น หากมีญาติของผู้ตายผู้หนึ่งสงสัยว่าผู้ตายจะตายเนื่องจากการถูก “วางยา” หรือเป็นการ “ฆาตกรรม” การไม่ตรวจเพิ่มเติมย่อมไม่อาจตอบคำถามนี้ได้

ประการที่ 6: การที่แพทย์รีบออกหนังสือรับรองการตาย

การที่แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพพบว่าศพที่ตนชันสูตรพลิกศพนั้นมิได้มีบาดแผลหรือร่องรอยใด ๆ อันจะเป็นการถูกประทุษร้ายก็ตาม และแม้ว่าจะเสียชีวิตต่อหน้าบุคคลจำนวนมากก็ตาม หากมิได้มีเหตุมีพยาธิสภาพที่เห็นอย่างประจักษ์ หรือทราบจากการตรวจ (โดยแพทย์) ว่ามีสาเหตุจากโรคธรรมชาติแล้ว การที่แพทย์จะออกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) หรือข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์ (ทร.4 ตอนหน้า)6 นั้น ย่อมเป็นการ “เสี่ยงต่อ” การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์อย่างมาก เพราะอาจเข้าข่ายการที่แพทย์ประกอบวิชาชีพไม่ได้มาตรฐาน (ทางนิติเวชศาสตร์)3,4.5 ได้

 

สรุป

การที่แพทย์จำต้องเข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพกับเจ้าพนักงานอื่น และพบว่าศพนั้นไม่มีพยาธิสภาพร้ายแรงใด ๆ ที่จะทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งอายุก็ยังไม่มากหรือไม่น้อย เช่น ราว 40-50 ปี เป็นต้น การที่จะให้เกิดความปลอดภัยต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ทางนิติเวชศาสตร์) ก็คือ ให้ทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพก่อนและระบุให้นำศพเพื่อการตรวจต่อ ถึงแม้ว่าต่อมาการตรวจศพจะได้สาเหตุแห่งการตายเป็นการตายตามธรรมชาติก็ตาม ก็ไม่ทำให้แพทย์ต้องถือว่าเป็นการทำผิดแนวทางหรือไม่ถูกต้องแต่อย่างใด

 

 

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf

3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

4. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

5. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

6. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534.